นานาสาระนารู้…หัวใจขาดรักได้ แต่อย่าให้ขาดเลือด

ในช่วงเดือนแห่งความรัก ใครที่มีคู่รัก คู่ครอง เดือนนี้คงจะไม่เหงา หัวใจชุ่มฉ่ำเป็นอย่างแน่แท้ แต่หลายคนที่ยังไม่มีความรัก หรือยังไม่มีคู่ อย่าเพิ่งไปกังวล เศร้าโศกเสียใจไปเลย เพราะความรักเกิดขึ้นได้ทุกที่ แม้แต่ตัวเราเอง โดยเฉพาะหัวใจของเรา อย่าให้ใครมารังแก รักตัวเองไว้จะดีที่สุด ยิ่งเราดูแลหัวใจของเรามากเท่าไหร่ เราก็จะมีเวลาอยู่กับคนที่เรารักในอนาคต ได้อีกนานเลยทีเดียว วันนี้ทางศูนย์บอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจ โรงพยาบาลลานนา ก็จะมาให้ความรู้เกี่ยวกับ “โรคหัวใจขาดเลือด” กันครับ

อย่างที่ทราบกันดีว่า หัวใจของคนเรามีหน้าที่สูบฉีดเลือด เพื่อไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยปกติแล้วภายในหัวใจก็จะมีเส้นเลือดนำออกซิเจนมาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เส้นเลือดหัวใจของเรามีการอุด ตีบ หรือตัน ที่ทำให้เลือดมาเลี้ยงหัวใจไม่พอ ก็จะเกิดอาการของโรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งหากเป็นชั่วคราวก็อาจยังพออยู่ได้ แต่ถ้าเป็นรุนแรงกล้ามเนื้อหัวใจเราก็อาจตายได้ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น หัวใจเราตายเราก็ต้องตายเช่นกัน ฉะนั้นเราต้องมารู้ว่าอาการไหนที่เป็น ใครบ้างที่จะเป็น และเราจะรู้ก่อนที่จะเป็นได้อย่างไรบ้าง

อาการแบบไหนที่จะเป็น “โรคหัวใจขาดเลือด”

อาการเบสิคเบื้องต้นเลยของ “โรคหัวใจขาดเลือด” ก็คือ อาการเจ็บหน้าอก แต่การเจ็บหน้าอกแบบไหนกันล่ะที่บ่งบอกว่าเกิดอาการหัวใจขาดเลือดแล้ว เมื่อเกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอกของภาวะหัวใจขาดเลือด “ผู้ป่วยจะรู้สึกแน่นหน้าอก เหมือนมีคนมานั่งทับ กดหน้าอกเราอะไรประมาณนั้น หายใจติดขัด หายใจไม่ออก หรือบางครั้งเวลามีอาการเจ็บปวดจี๊ดๆ หรือเสียวแปล๊บ อาจร้าวไปที่ขากรรไกร หรือบริเวณหลังได้ รวมทั้งอาจมีอาการเหงื่ออกมาก คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะได้ และหัวใจเต้นเร็วมาก เป็นต้น

จะบอกไว้เลยว่า หากท่านใดก็ตามที่มีอาการดังกล่าวแล้ว อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจ หรืออาจมองว่าเป็นแล้ว เดี๋ยวก็หายเองได้ เพราะส่วนใหญ่แล้ว มันไม่ได้หายไปจริงหรอกครับ เดี๋ยวมันก็กลับมาใหม่ ดีไม่ดีมันกลับมาอีกครั้ง อาจมาพร้อมมัจจุราชที่อาจคร่าชีวิตท่านไปก็ได้

ใครบ้างที่มีโอกาสจะป่วยเป็น “โรคหัวใจขาดเลือด” ได้สูง

อันดับหนึ่งที่หนีไม่พ้นผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความดันสูง โรคไขมันในเลือดสูง เบาหวาน รวมถึงโรคอ้วน เพราะภาวะเหล่านี้เนี้ย ถือเป็นความเสี่ยงสูง เพราะไขมันและหินปูนนี้แหละ เป็นตัวทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดได้ทั้งนั้น รวมทั้งอายุที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีเป็นต้นไป ถือเป็นความเสี่ยงที่น่าจะเกิดโรคได้ นอกจากนั้นยังมีปัจจัยจากการสูบบุหรี่อีกด้วย ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดได้ อีกทั้งยังรวมถึงผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคหัวใจอีกด้วย เป็นผลให้คนกลุ่มเหล่านี้ที่ได้กล่าวถึง อาจกลายเป็นโรคหัวใจขาดเลือดได้

แล้วเราจะสามารถรู้ได้อย่างไรว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด

ด้วยวิวัฒนาทางการแพทย์สมัยใหม่ที่ ศูนย์บอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจ โรงพยาบาลลานนา ได้นำมาใช้ตรวจคัดกรองภาวะของโรคหัวใจขาดเลือด ทำให้เราสามารถคาดการณ์ได้ว่าเรามีโอกาสเป็นโรคหัวใจขาดเลือดมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเป็นผลดีที่จะทำให้เราไม่ต้องเผชิญภาวะฉุกเฉินหัวใจหยุดเต้นจากโรคหัวใจนี้อีกด้วย ซึ่งการตรวจคัดกรองก็มีหลายแบบ อาทิเช่น การตรวจโดยการเดินบนสายพาน (EST) เพื่อเป็นการตรวจหัวใจในขณะออกกำลังกาย เนื่องจากขณะที่เราออกแรงนั้น หัวใจจะกระตุ้นการทำงานให้มาก โดยหากมีภาวะหัวใจขาดเลือด กราฟที่แสดงก็เห็นถึงสมรรถภาพหัวใจว่ามีความผิดปกติหรือไม่อย่างไร การตรวจหาภาวะของแคลเซี่ยมเกาะหลอดเลือดผนังหัวใจ (Calcium Score) โดยเครื่อง CT Scan ที่จะสแกนดูหลอดเลือดหัวใจว่ามีภาวะของหินปูนเกาะมากน้อยแค่ไหน ก็จะทำให้วิเคราะห์ หรือพยากรณ์การเกิดโรคหัวใจได้ รวมทั้งการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echo Cardiogram) ก็เป็นการตรวจคลื่นหัวใจว่าปกติดีหรือไม่อีกด้วย

เห็นแล้วใช่มั้ยว่า หัวใจของเราขาดรักได้ แต่ไม่สามารถขาดเลือดได้ เมื่อเรารู้แล้วว่าโรคหัวใจขาดเลือดน่ากลัวขนาดไหน เราก็ควรหาทางป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นด้วยการตรวจสุขภาพหัวใจอย่างเป็นประจำ รวมทั้งต้องรู้จักสังเกตอาการที่จะเกิดขึ้นด้วยว่าใช่โรคหัวใจหรือเปล่า เพราะนอกจากเราจะดูแลหัวใจเราแล้ว ยังสามารถบอกต่อดูแลหัวใจของผู้อื่นได้ มอบความรักแก่ตัวเอง และคนที่คุณรักด้วยการดูแลสุขภาพหัวใจได้ตั้งแต่วันนี้ ได้ที่ ศูนย์บอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจ โรงพยาบาลลานนา

ร่วมแสดงความคิดเห็น