เล็งปั้นเมืองพ่อขุน ต้นแบบเที่ยวยั่งยืน

อพท. นำทีมตัวแทน อปท. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 14 องค์กร ดูงานการท่องเที่ยวทั่วเชียงราย หลังประเมินผ่านมาตรฐานแล้ว ปูทางพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนปี 60 ต่อ

ดร.พรสุข จงประสิทธิ์ ผอ.สำนักพัฒนาขีดความสามารถการท่องเที่ยว องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์กรมหาชน) (อพท.) ได้เปิดโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การบริหารการจัดการท่องเที่ยว เผยแพร่ผลการดำเนินงานตามมาตรฐานการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สุดสัปดาห์นี้ ณ โรงแรมเดอะมันตรินี อ.เมืองเชียงราย

พร้อมเปิดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวในปี 60 ทั้งเรื่องทิศทางการจัดการท่องเที่ยว การสนับสนุนการมีส่วนร่วมตามแนวทางมาตรฐานการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การส่งเสริมการตลาด ห้องน้ำสำหรับแหล่งท่องเที่ยว โดยมีผู้แทนจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) หลายจังหวัด ทั้งชลบุรี สุโขทัย เลย น่าน และสุพรรณบุรี รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 14 องค์กร ที่เดินทางไปศึกษาดูงานตามสถานที่สำคัญ และท่องเที่ยวต่างๆ ของเชียงราย ตั้งแต่ 14-17 ก.พ.

ดร.พรสุข กล่าวว่า อพท.เริ่มดำเนินโครงการในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้เกิดการจัดการท่องเที่ยวในพื้นที่ตัวเองได้อย่างยั่งยืนมาตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งทั้ง 14 องค์กรนี้ผ่านมาตรฐานการพัฒนาของ อพท.แล้ว จึงได้เดินทางมาศึกษาดูงานที่เชียงราย เพราะถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความหลากหลาย ทั้งด้านระบบนิเวศธรรมชาติ วัฒนธรรม และกลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงนโยบายการบริหารจัดการการท่องเที่ยวก็มีความยั่งยืนด้วย โดยเฉพาะเทศบาลนครเชียงราย ที่ได้รับรางวัลด้านรักษาสิ่งแวดล้อมมาแล้วหลายรางวัล

นอกจากนี้ เมื่อปี 57 ทางสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จ.เชียงราย ก็เคยทำเรื่องถึง อพท. เพื่อประกาศให้พื้นที่ อ.เชียงแสน เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยมี อ.แม่สาย อ.แม่จัน อ.เชียงของ และ อ.เมือง เป็นเมืองเชื่อมโยง ซึ่งขณะนี้ทาง อพท.ได้ดำเนินการด้านเอกสารต่างๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว รอเพียงการกำหนดบทบาทให้สอดคล้องต่อระเบียบของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เท่านั้น

“เชียงราย เป็นจังหวัดในกลุ่มล้านนา จึงย่อมได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่พิเศษการท่องเที่ยวอย่างแน่นอนอยู่แล้ว เชื่อว่าในอนาคตยังจะสามารถเป็นต้นแบบในการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนต่อไปได้อีกด้วย”

ทั้งนี้ คณะตัวแทน 14 องค์กรที่ผ่านมาตรฐานของ อพท.ดังกล่าว ได้เดินทางไปศึกษาดูงานแนวทางการจัดการท่องเที่ยวเชียงรายหลายแห่ง เช่น โครงการจัดการสิ่งแวดล้อมเมืองท่องเที่ยวของเทศบาลนครเชียงราย ศิลปวัฒนธรรมล้านนาที่อุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง ไร่แม่ฟ้าหลวง อ.เมือง งานศิลปะที่วัดร่องขุ่น ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมืองเชียงราย

นอกจากนี้ ยังเดินทางไปชมวิถีชนเผ่าอาข่าที่บ้านหล่อชา อ.แม่จัน ซึ่งได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ 7 ปี 2551 หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมัน อ.แม่สาย ในพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รวมถึงสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม ได้แก่ อนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช วัดพระสิงห์ วัดร่องเสือเต้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น