ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ลงพื้นที่ติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า และให้กำลังผู้ปฏิบัติงานดับไฟในพื้นที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้ประชุมติดตามแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกับศูนย์อำนวยการสั่งการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า ระดับอำเภอ ณ ที่ว่าการอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ และได้ลงพื้นที่ร่วมกับชาวบ้านทำแนวกันไฟ ที่ถนนเส้นทางหมายเลข 1009 เขตตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอจอมทอง มีเนื้อที่ 712.297 ตารางกิโลเมตร มี 6 ตำบล 103 หมู่บ้าน โดยมีหมู่บ้านเสี่ยงภัยปัญหาหมอกควันและไฟป่าระดับรุนแรง 43 หมู่บ้าน ระดับปานกลาง 25 หมู่บ้าน และระดับเบาบาง 35 หมู่บ้าน เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา พบจุดความร้อนในพื้นที่ 88 จุด อยู่ในช่วงควบคุม 24 จุด ในปีนี้อำเภอจอมทองตั้งเป้าลดจำนวนจุดความร้อนลงร้อยละ 20 ในช่วงเฝ้าระวัง 60 วัน ห้ามเผาเราทำได้ เพื่อเชียงใหม่ไร้หมอกควัน ระหว่างวันที่ 20 กุมภาพันธ์ – 20 เมษายน 2560 จังหวัดเชียงใหม่ได้มีประกาศขอความร่วมมือห้ามเผาในที่โล่งเด็ดขาด โดยผู้ว่าราชการจังหวัด หรือ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมีกำหนดจะลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าอย่างใกล้ชิด ไม่ใช่การไปมอบนโยบาย เพราะนายอำเภอทุกอำเภอรู้อยู่แล้วว่าต้องทำอย่างไร แต่จะไปติดตามการเตรียมการป้องกัน และแก้ไขปัญหาจุดที่มีความเสี่ยงในพื้นที่มีที่ใดบ้าง อำเภอมีแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างไร ต้องการสนับสนุนอะไรจากจังหวัด พร้อมทั้งไปให้กำลังใจทีมที่ปฏิบัติการดับไฟในพื้นที่เริ่มต้นที่อำเภอจอมทอง และแม่แจ่ม จากนั้นจะลงพื้นที่อำเภอดอยเต่า, แม่ออน, แม่วาง, กัลยาณิวัฒนา, สะเมิง และอำเภออื่นๆ ตามสถานการณ์ อยากจะเห็นว่านายอำเภอในฐานะที่มอบหมายเป็น Single Command ในระดับอำเภอได้ประสานงานสั่งการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าในพื้นที่อำเภอได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างไร ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ รู้สึกเป็นกังวลว่า ในช่วงที่ผ่านมาสภาพอากาศ มีความชื้นสะสมสูง หลายพื้นที่ไม่สามารถ กำจัดเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรได้ จังหวัดจึงต้องใช้มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่กำจัดเศษวัชพืชที่เหลือใช้ทางการเกษตร โดยใช้เตาเผาไร้หมอกควันของพลังงานจังหวัด ใช้รถสำหรับการเผาอย่างสมบูรณ์ ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) เชียงใหม่ และให้องค์ความรู้ ในการช่วยลดสิ่งที่จะเป็นปัญหา เศษวัสดุที่จะก่อให้เกิดการเผาไหม้ ส่วนคนที่เข้าไปหาของป่าทุกอำเภอให้ขึ้นทะเบียนไว้ โดยมอบให้กำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ทำทะเบียนการเข้าป่าเพื่อจะได้รู้ว่า ใครเข้าไปในป่าช่วงไหนบ้าง รวมถึงให้เจ้าหน้าที่เร่งสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความเชื่อที่ผิดๆ ในการเผา เพื่อหาของป่า เพื่อจะได้เห็ดถอบผักหวานในปริมาณมากๆ ไม่เป็นความจริง“ปีนี้สถิติตอนต้นแนวโน้มดีมี Hotspot เกิด ขึ้นเพียง 121 ครั้ง เทียบกับปีที่แล้ว 316 กว่าครั้ง แต่เมื่อเทียบกับปี 2558 เกิดขึ้น 134 ครั้ง ใกล้เคียงกัน จึงเป็นห่วงว่า ปีนี้จะเหมือนปี 2558 คือ เริ่มต้นดีแต่จะมีปัญหาตอนปลาย ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมเป็นต้นไป ซึ่งมีสัญญาณใกล้เคียงกัน จึงขอให้นายอำเภอทุกแห่งสำรวจพื้นที่ที่มีการสะสมของเชื้อเพลิง ที่ไม่เคยเกิดการเผาไหม้มา 2-3 ปี ให้เฝ้าระวังเป็นพิเศษ รวมถึงในเขตพื้นที่ป่าสงวนและป่าอนุรักษ์ ซึ่งเกิดเป็นส่วนใหญ่ เมื่อปีที่แล้ว ป่าสงวนเกิดขึ้น 127 ครั้ง ปีนี้ 61 ครั้ง ป่าอนุรักษ์ปีที่แล้วเกิด 111 ครั้งปีนี้ 22 ครั้ง”ขณะเดียวกันได้ขอความร่วมมือพี่น้องคนเชียงใหม่ทุกภาคส่วนช่วยกันสอดส่งดูแล หากพบเห็นไฟป่าให้แจ้งที่ศูนย์อำนวยการสั่งการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าจังหวัดเชียงใหม่ ที่หมายเลขโทรศัพท์ 053-112236 เพื่อจะได้ประสานชุดปฏิบัติการดับไฟในพื้นที่เข้าระงับเหตุไม่ให้ไฟลุกลามรุนแรงต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น