สัตตภัณฑ์และตุงกระด้าง เครื่องประกอบพิธีทางศาสนาของล้านนา

สัตตภัณฑ์หรือเชิงเทียนสำหรับตั้งไว้หน้าพระประธานในวิหารของล้านนาทั่วไปนิยมสร้างเป็นรูปสามเหลี่ยมหรือรูปโค้งคล้ายหัวเตียง มีขนาดใหญ่ถึงใหญ่มาก บนยอดสุดมีที่สำหรับปักเทียน 7 เล่ม สันนิษฐานว่าเลข 7 น่าจะหมายถึงภูเขา 7 ลูกที่รายล้อมเขาพระสุเมรุหรือองค์พระธาตุเจดีย์เชิงรูปสามเหลี่ยมหรือรูปโค้งแบบล้านนาโดยทั่วไปสร้างขึ้นจากไม้ แกะสลักเป็นลวดลายต่างๆอย่างหนาแน่นเต็มพื้นที่ ส่วนใหญ่จะเป็นลายนาคเกี้ยวหรือ
พญานาคพันกันหลายตัว…

ความเชื่ออย่างหนึ่งของคนล้านนาสมัยโบราณที่มักใช้เครื่องไม้ในการประกอบพิธีกรรมทางสงฆ์ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการแสดงความเคารพศรัทธาต่อพระศาสนา อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่บรรพบุรุษได้ยึดถือปฏิบัติสืบทอดต่อๆ กันมาอย่างยาวนาน เมื่อเวลาที่เราไปทำบุญที่วัดจะสังเกตเห็นว่าในวิหารจะมีเครื่องใช้ทางพุทธศิลป์ตั้งประกอบอยู่เบื้องหน้าพระพุทธรูปประธาน อันเป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อทางศาสนาพุทธ

เครื่องสัตตภัณฑ์ที่สวยงามและเป็นของเก่าแก่จริงๆ ปัจจุบันดูเหมือนจะหาชมได้ยาก เพราะส่วนใหญ่จะถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ กลายเป็นของเก่าที่อนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษาค้นคว้า

ความสำคัญของสัตตภัณฑ์ในพิธีกรรมทางสงฆ์คือ เป็นเชิงเทียนสำหรับบูชาพระประธานในอุโบสถหรือพระธาตุเจดีย์ เป็นเครื่องสักการะที่สำคัญอย่างหนึ่งในคติทางศาสนาของล้านนา จัดเป็นเครื่องสักการะพระรัตนตรัย สัตตภัณฑ์ส่วนมากจะทำด้วยไม้ สลักลวดลายเป็นรูปสัตว์ พันธุ์พฤกษา ที่นิยมมากที่สุดเห็นจะเป็นรูปนาค นอกจากช่างจะแกะสลักไม้แล้วบางครั้งยังมีการลงรักปิดทองประดับกระจกสี ด้านบนมักจะสลักเป็นเชิงเทียนรวม 7 อัน สัตตภัณฑ์และเชิงเทียนทั้ง 7 อันมีผู้ให้ความหมายด้านรูปลักษณ์ว่าอาจจะหมายถึง ภูเขาทั้ง 7 ที่ตั้งรายล้อมภูเขาพระสุเมรุ อันหมายถึงสวรรค์ที่ประทับของพระเจ้าและเหล่าบรรดาเทวดาทั้งหลาย ประกอบด้วย ยุคนธร อิสินธร กรวิก เนมินทร สุทัศนะวินันตกะ อัศกันต์

สัตตภัณฑ์หรือเชิงเทียนสำหรับตั้งไว้หน้าพระประธานในวิหารของล้านนาทั่วไปนิยมสร้างเป็นรูปสามเหลี่ยมหรือรูปโค้งคล้ายหัวเตียงมีขนาดใหญ่ถึงใหญ่มาก บนยอดสุดมีที่สำหรับปักเทียน 7 เล่ม สันนิษฐานว่าเลข 7 น่าจะหมายถึงภูเขา 7 ลูกที่รายล้อมเขาพระสุเมรุหรือองค์พระธาตุเจดีย์ เชิงรูปสามเหลี่ยมหรือรูปโค้งแบบล้านนาโดยทั่วไปสร้างขึ้นจากไม้แกะสลักเป็นลวดลายต่างอย่างหนาแน่นเต็มพื้นที่ ส่วนใหญ่จะเป็นลายนาคเกี้ยวหรือพญานาคพันกันหลายตัว ลายดอกไม้ ลายป่าเขา แต่โดยมากจะพบลายพญานาคมากที่สุด มักตกแต่งด้วยการเขียนสีและประดับกระจก ที่ส่วนฐานของสัตตภัณฑ์จะทำเป็นรูปสัตว์รองรับ ซึ่งมีตัวอย่างสัตตภัณฑ์ที่หายากเก็บไว้หลายแห่ง เช่น ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญชัยลำพูน หอคำไร่แม่ฟ้าหลวงเชียงราย เป็นต้น

สัตตภัณฑ์อีกแบบหนึ่งเป็นแบบขั้นบันได รูปร่างเหมือนชื่อ กว้างประมาณ 1 เมตร เป็นฝีมือช่างเมืองแพร่และน่าน สันนิษฐานว่าเป็นศิลปะของชาวไทลื้อ ประดับเชิงเทียนตามริมบันไดทั้งสองข้าง ข้างละ 3 เล่มและที่กลางบันไดด้านหลังอีกหนึ่งเล่ม สัตตภัณฑ์แบบนี้ไม่มีการตกแต่งมากเท่าแบบแรกและเป็นสัตตภัณฑ์ที่หาชมยาก ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่ง เช่น ที่พิพิธภัณฑ์วัดหลวง จังหวัดแพร่ วัดหนองแดง อ.เชียงกลาง จังหวัดน่าน และวัดร้องแง อ.ปัว จังหวัดน่าน

ท่านผู้รู้บางท่านให้ความหมายของ สัตตภัณฑ์ ตามความหมายทางธรรมในทางพุทธศาสนาว่าคือ โพธิปักขิยธรรม คือธรรมที่เป็นแนวทางแห่งความรู้ธรรมหรือแนวทางที่จะเข้าสู่ความเป็นพุทธะมีอยู่ 7 ประการคือ สติ ความระลึกได้ ธัมมวิจัย การวิเคราะห์ วิจัยพระธรรมวิริยะ ความพากเพียร ปิติ ความอิ่มใจพอใจ ปัสสิทธิ ทำใจได้ สมาธิ ทำจิตใจแน่วแน่มั่นคง อุเบกขา วางเฉยจากสิ่งวุ่นวายทั้งปวง

สัตตภัณฑ์ที่เก่าแก่ มีความสวยงามและหาชมได้ยากจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์หริภุญชัย ซึ่งเป็นของเก่าทำด้วยไม้สักสลักปิดทองประดับกระจกสี กึ่งกลางด้านบนสลักเป็นรูปหน้ากาลหรือราหูคายนาค ซึ่งนาคนี้ต่างก็คายนาคตัวต่อๆ ไปและเกี้ยวกระหวัดกัน มีรูปแบบสวยงามจัดเป็นศิลปกรรมชิ้นสำคัญที่สวยงามชิ้นหนึ่ง บริเวณฐานของสัตตภัณฑ์นี้มีจารึกอักษรล้านนาไว้ว่า “สตินนฺ วัตตเมธานฺ อโหวัตตถานฺ มิสสเยเมตตยสตเก พุทธสาสเนตานฺ นิพพานฺ ปรมสุขขฺ จุลศักราช 1279 ตัวปีเมืองไส้มหามูลศรัทธา หมายมี แม่เจ้าเฮือนแก้วเป็นเก๊า พร้อมด้วยบุตรา บุตรี จุกคนก็สร้างยังสัตตภัณฑ์ถวายพระเจ้าแก้วเจ้า มหาจินะตุ๊เจ้า เมื่อเดือนวิสาขเม็งวัน 7 ไต เมืองไส้ พ.ศ.2460”

ความหมายคือ เจ้าแม่รถแก้วมารดาเจ้าจักรคำขจรศักดิ์พร้อมด้วยบุตร ธิดาสร้างถวายพระพุทธรูปประธานวัดพระธาตุหริภุญชัย เพื่อเป็นพุทธบูชาเมื่อวันเพ็ญเดือนวิสาข จ.ศ.1279 (พ.ศ.2460)

ปัจจุบันพุทธศิลป์เครื่องไม้ที่ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาไม่ค่อยมีการสร้างขึ้นอีกแล้ว แต่ที่มีเหลืออยู่ก็นับว่ามากพอที่จะใช้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ ซึ่งถ้าเทียบกับภาคอื่นๆ ของประเทศแล้ว ในดินแดนล้านนายังนับว่ามีพุทธศิลป์เครื่องไม้ต่างๆ มีมากกว่าในที่อื่น

นอกจากสัตตภัณฑ์ที่ใช้ประกอบในพิธีทางศาสนาแล้ว ตุงกระด้าง ก็มักจะถูกนำมาใช้ในพิธีทางศาสนาของล้านนาอยู่เสมอ คำว่า “ตุง” เป็นภาษาล้านนามาจากคำว่า “ธง” จากหลักฐานที่ปรากฏพบว่า มนุษย์เรามีการใช้ธงมาแล้วนับพันปี มีการพัฒนารูปแบบตามความเชื่อในแต่ละสังคมและยังใช้แพร่หลายจนกระทั่งปัจจุบัน ความเชื่อของคนล้านนาเชื่อว่า การใช้ตุงจะเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมในพุทธศาสนาและประเพณีเกี่ยวกับชีวิต ดังนั้นตุงจึงเป็นเครื่องสักการะประเภทหนึ่งที่ทำด้วยวัสดุหลายชนิด เช่น ผ้า กระดาษ ไม้

ตุงที่ทำมาจากไม้เรียกว่า ตุงกระด้าง เป็นวัฒนธรรมที่ล้านนารับมาจากพม่า ชาวพม่านิยมสร้างตุงกระด้างสำหรับถวายแด่พระรัตนตรัยอย่างถาวร มักถวายเป็นคู่ไว้หน้าพระประธานหรือหน้าอุโบสถ วิหาร บางแห่งทำไว้กลางลานวัดหรือใกล้พระเจดีย์

ตุงกระด้างเป็นตุงที่ทำด้วยไม้หรือโลหะ มีการแกะสลักประดับด้วยโลหะฉลุลายหรือประดับปูนปั้นเป็นลวดลายต่างๆ เช่น ลายเครือเถาลายกระหนก ลายรูปสัตว์ โดยทั่วไปจะนิยมแกะสลักเป็นรูปสัตว์ประจำปีเกิดของผู้ถวาย โดยสังเกตจากด้านบนของตุงกระด้างจะแกะเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ประจำปีเกิดในรูปนี้เป็นรูปไก่ แสดงว่าผู้ถวายเป็นคนเกิดในปีระกาและถวายไว้เป็นพุทธบูชาพระบรมธาตุหริภุญชัย

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น