สกู๊ปหน้า1…ท่าอากาศยานเชียงใหม่ รับมือ “หมอกควัน”

ทางนาวาอากาศเอก วิสูธ จันทนา ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวถึงมาตรการและการดำเนินการในช่วงเกิดปัญหาหมอกควันที่อาจส่งผลกระทบต่อวิสัยทัศน์การมองเห็น และการนำเครื่อง ขึ้น-ลง ของสายการบิน ที่ขณะนี้เริ่มเข้าสู่ช่วงของการเกิดปัญหาทัศนวิสัยต่ำ ที่เป็นอันตรายต่อการบินและการปฏิบัติงานในเขตการบินเป็นอย่างมาก โดยท่าอากาศยานเชียงใหม่ได้กำหนดขั้นตอนการปฏิบัติ ในสภาวะอากาศเลวร้ายและทัศนวิสัยต่ำ พร้อมทั้งได้แจ้งให้กับทางหอบังคับการบิน, เจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่, และเจ้าหน้าที่ของบริษัทสายการบิน หรือตัวแทนที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการตามขั้นตอน และได้จัดโครงการฝึกซ้อมเพื่อทบทวนขั้นตอนการปฏิบัติเมื่อเกิดทัศนวิสัยต่ำ เป็นประจำทุกปี ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ทาง นาวาอากาศเอก วิสูธ จันทนา ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าในช่วงระยะนี้ปัญหาหมอกควันเป็นปัญหาที่ทุกภาคส่วนได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งแน่นนอนว่าทางท่าอากาศยานเชียงใหม่ก็ได้มีการวางมาตรการรับมือและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นหากหมอกควันที่เกิดขึ้นนั้นเริ่มเพิ่มจำนวนมาก โดยทางท่าอากาศยาน มีขั้นตอนปฏิบัติเกี่ยวกับ Low–Visibility หรือที่เรียกว่า ทัศนวิสัยต่ำ โดยจะต้องมองว่าการบิน ขึ้น-ลง ของอากาศยานสามารถมองเห็นได้ในระดับใด ซึ่งในจุดนี้หากไม่เกินขีดจำกัดตามมาตรฐานก็สามารถ ขึ้น-ลง ได้ แต่หากตรวจสอบแล้วว่ามีมาตรฐานที่เกิดขีดจำกัด เช่น มองทางวิ่ง ทางขับ ไม่เห็น ก็ต้องให้นักบินบังคับเครื่องวนรอจนกว่าอากาศจะเปิด เพื่อความปลอดภัยในการนำเครื่อง ขึ้น-ลง

ขณะเดียวกันในส่วนของประชาชนชาวบ้านที่อยู่ในเขตพื้นที่โดยรอบสนามบินนั้นที่ผ่านมาทางท่าอากาศยานของเราก็ได้มีการพูดคุยอย่างสม่ำเสมอว่าสิ่งใดก็ตามที่จะเป็นอุปสรรคต่อการบินก็พยายามแนะนำว่าอย่าทำดีกว่า เนื่องจากมีผลกระทบต่อการบิน หากเกิดอะไรขึ้นเกี่ยวกับเรื่องของการบินนั้นก็จะเป็นผลกระทบที่รุนแรง จึงได้มีการกำชับกันเสมอมา แต่อย่างไรก็แล้วแต่หากมีการเกิดขึ้นจริง หรือปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้นมีปริมาณมากเกินค่ามาตรฐาน ทางท่าอากาศยานก็ได้มีการใช้รถดับเพลิงฉีดน้ำไปในอากาศเพื่อให้เกิดความชื้น ซึ่งเป็นอีกวิธีที่ช่วยบรรเทาหมอกควันลงได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งในเรื่องนี้ทางท่าอากาศยานก็ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องทุกปี และนอกจากนี้ ในส่วนของราชการเองก็ช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องหากมีหมอกควันสูงขึ้นก็จะใช้เครื่องบินทำการโปรยน้ำ โดยทางท่าอากาศยานก็ช่วยสนับสนุนในเรื่องน้ำ ร่วมกันกับกองบิน 41 รวมไปถึงทุกหน่วยงานราชการที่ใช้เครื่องบินโปรยน้ำ ซึ่งดำเนินการกันเป็นประจำทุกปี

สำหรับ ทัศนวิสัย ในทางอุตุนิยมวิทยาหมายถึง เกณฑ์การมองเห็นซึ่งมีระยะไกลที่สุด ที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อทัศนวิสัย ทำให้ทัศนวิสัยต่ำคือ หยาดน้ำฟ้า (Precipitation), หมอกและหมอกน้ำค้าง (Fog and Mist), ฝอยน้ำอันเกิดจากลม จากทะเล (Wind-blown Spay from the sea), น้ำมัน (Oils), ควัน (Smoke) , ฝุ่นและทราย (Dust and Sand), เกลือ (Salt) ซึ่งที่กล่าวมานี้เป็นอันตรายต่อการบินและการปฏิบัติงานในเขตการบินเป็นอย่างมาก ท่าอากาศยานเชียงใหม่ได้กำหนดขั้นตอนการปฏิบัติ ในสภาวะอากาศเลวร้ายและทัศนวิสัยต่ำ โดยศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ, หอบังคับการบิน, เจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่, และเจ้าหน้าที่ของบริษัทสายการบิน หรือตัวแทนที่เกี่ยวข้องเมื่อเกิดสภาวะอากาศเลวร้ายและทัศนวิสัยต่ำ

ดังนั้น ผู้ปฏิบัติงานในเขตการบิน ต้องปฏิบัติตามรายละเอียด โดยทัศนวิสัยต่ำ Low–Visibility แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับแรกเรียกว่า ระดับการแจ้งเตือนก่อนเข้าสู่สภาวะทัศนวิสัยต่ำ (LVC Warning) หมายถึง มีค่า RVR (Runway visual range) ตั้งแต่ 800 เมตร และระดับที่สอง ระดับปฏิบัติการทัศนวิสัยต่ำ (LVC Phase A) หมายถึง มีค่า RVR (Runway visual range) ต่ำกว่า 550 เมตร แต่ไม่ต่ำกว่า 100 เมตร ส่วนระดับที่สาม ระดับทัศนวิสัยเลวร้าย (LVC Phase B) หมายถึง มีค่า RVR (Runway visual range) ต่ำกว่า 100 เมตรหรือระยะสายตามองเห็น 1 หลุมจอด

โดยวิธีปฏิบัติของสายการบินและผู้ปฏิบัติงานขณะเกิดทัศนวิสัยต่ำ Low–Visibility ทางนักบิน และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องจะต้องสังเกตสัญญาณแจ้งเตือน ได้แก่ ลำโพงสัญญาณเสียงแจ้งเตือน ติดตั้งอยู่ที่หลุมจอดอากาศยานหมายเลข 3 และ 7 และสัญญาณไฟแจ้งเตือน Warning Light ติดตั้งอยู่ที่ช่องทาง 1 (ช่องทางเข้า-ออกลานจอด) และหลุมจอดอากาศยานหมายเลข 3, 5, 7, 12, 17 เพื่อทราบสภาวะทัศนวิสัยต่ำ และปฏิบัติตามที่เจ้าหน้าที่เวรควบคุมลานจอดอากาศยานประกาศ โดยระมัดระวังความปลอดภัยแก่อากาศยาน ยานพาหนะ และจัดเก็บอุปกรณ์ให้บริการภาคพื้น และยึดตึงให้เรียบร้อย รวมทั้งผู้ขับขี่จะต้องขับขี่ยานพาหนะด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง ขณะเดียวกันยานพาหนะเปิดไฟหน้าแสงพุ่งต่ำ และขับขี่ด้วยความเร็วไม่เกิน 20 กม./ ชม ในเขต Service Road และ 10 กม./ชม.ในเขตพื้นที่เคลื่อนไหว Movement Area ส่วนหน่วยงานที่ปฏิบัติงานบนทางวิ่ง ทางขับ ให้ออกจากพื้นที่ทันที นอกจากนี้พนักงานผู้ปฏิบัติงานในเขตการบินต้องสวมเสื้อสะท้อนแสง และติดแถบสะท้อนแสงที่รถและอุปกรณ์ภาคพื้น รวมทั้ง ปฏิบัติตามมาตรฐานการปฏิบัติงาน (Standard Operation Procedures: SOPs) ในสภาวะทัศนวิสัยต่ำของหน่วยงานตนเอง ซึ่งต้องสอดคล้องกับขั้นตอนการปฏิบัติของท่าอากาศยานเชียงใหม่

เจ็ดขุนพล

ร่วมแสดงความคิดเห็น