เชื่อมโยงการค้า ฮาลาลภาคเหนือ มุ่งสู่ตลาดสากล

พาณิชย์เชียงใหม่ ส่งเสริมตลาดธุรกิจผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลภาคเหนือสู่อาเซียน+3 และตะวันออกกลาง หวังเชื่อมโยงโอกาสทางการค้าการลงทุนและขยายตลาดสินค้าและบริการฮาลาลภาคเหนือไปสู่ตลาดสากลได้ ด้านผู้ประกอบการพอใจชี้เปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้ถึงหลักการและองค์ความรู้ต่าง ๆเปิดตลาดค้าขายได้ออเดอร์ตามมาล้นหลาม

นางนิยดา หมื่นอนันต์ พาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ จัดโครงการเชื่อมโยงตลาดฮาลาลภาคเหนือสู่อาเซียน+3 และตะวันออกกลาง โดยนำผู้ประกอบธุรกิจผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ที่เป็นผู้ผลิตสินค้าและบริการที่ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ฮาลาล หรืออยู่ระหว่างการขอรับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ฮาลาลและผู้ประกอบการที่สนใจพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์สู่มาตรฐานสากล อบรมเชิงปฏิบัติการเชิงลึก ก่อนที่จะลงพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 13 – 17 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตรงกับผู้ประกอบการในพื้นที่จริง ตลอดจนเป็นการจับคู่ธุรกิจ เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางการค้า การลงทุนระหว่างผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศด้านตลาดฮาลาลภาคใต้และเชื่องโยงไปยังประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ รวมถึงการนำสินค้าศักยภาพของทางภาคเหนือตอนบน 1 ในการจัดกิจกรรมทดลองตลาด เพื่อสร้างโอกาสทางการค้า การลงทุน ด้านฮาลาล กับผู้ประกอบการในพื้นที่เป้าหมายภาคใต้จากกลุ่มสมาพันธ์นักธุรกิจมลายูชายแดนใต้ และสมาคมพ่อค้ารัฐเคดะ ประเทศมาเลเซีย พร้อมนักธุรกิจจังหวัดสงขลา

นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมและพัฒนาช่องทางการจำหน่าย การตลาดธุรกิจผลิตภัณฑ์ และบริการ ฮาลาลภาคเหนือ ให้สามารถผลิตสินค้าและบริการเชื่อมโยงธุรกิจไปยังตลาดมุสลิมทั่วโลกที่เป็นตลาดเป้าหมาย ทั้งยังสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ด้านผลิตภัณฑ์และบริการให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานฮาลาลผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อให้มีศักยภาพที่จะเข้าสู่ตลาดในระดับนานาชาติ ซึ่งมีเป้าหมายที่สำคัญ คือ การสนับสนุนผู้ประกอบการในการทดลองตลาด รวมถึงการเปิดตลาดใหม่ ในงานแสดงสินค้าระดับชาติและนานาชาติ นับเป็นโครงการหนึ่งที่จะสามารถทำให้ผู้ประกอบการในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 เกิดการพัฒนาสินค้าในด้านรูปแบบ คุณภาพ มาตรฐาน ตรงกับความต้องการของตลาดและสามารถเชื่อมโยงโอกาสทางการค้าการลงทุน และขยายตลาดสินค้าและบริการฮาลาลภาคเหนือไปสู่ตลาดสากลต่อไป

โดยนางสาวอรอำไพ โอศิริ กรรมการผู้จัดการ บจก.โมเน่ มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำหน่ายผลิตภัณฑ์ความงามใช้หินและสมุนไพรไทย กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีอีกหนึ่งโครงการ เป็นการเปิดโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการได้เรียนรู้ถึงหลักการและองค์ความรู้ต่าง ๆ และที่สำคัญกว่านั้นคือ โครงการนี้ได้นำไปสู่การลงสนามจริง ไม่ใช่เพียงการนั่งอบรมเพียงทฤษฎี แต่เป็นการลงมือปฏิบัติ คือการนำคนซื้อและคนขายมาเจอกันในลักษณะของการขายเป็นล็อต ไม่ใช่การขายทีละชิ้น สำหรับสินค้าที่ตนเองนำไปในครั้งนี้คือ สบู่ เป็นการนำก้อนหินมาทำสบู่

นางสาวอรอำไพ ยังกล่าวต่ออีกว่า จากการที่ไปเปิดตลาดทางภาคใต้ พร้อมกับสัมผัสกับนักธุรกิจทำให้ได้คุยและแลกเปลี่ยนทัศนคติ สำรวจความต้องการของทางตลาด และนำมาปรับปรุงจุดบกพร่องของตนเอง ในกรณีนี้ถึงยังถือเป็นการขายแบบนำร่อง มีคนสนใจชิ้นไหนก็ซื้อไปลองก่อน แต่เมื่อลูกค้าถูกใจก็เป็นหนทางในการซื้อขายแบบยกล็อตต่อไป โดยประเทศมาเลเซียจะเน้นผลิตภัณฑ์ที่เป็นของกินมากกว่าของใช้ เนื่องจากวัฒนธรรมของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน ทางตลาดของมาเลเซียต้องการผลิตภัณฑ์ที่เป็นฮาลาล 100% เพราะมาเลเซียมีความเคร่งครัดในหลายเรื่อง ผลิตภัณฑ์ที่เป็นของใช้เลยยังไม่เป็นที่ต้องการเท่ากับผลิตภัณฑ์ที่เป็นของกิน เพราะฉะนั้นเรื่องของของกินประเทศไทยจึงน่าจะเจาะตลาดได้เป็นอันดับหนึ่ง

“ผลิตภัณฑ์สบู่ที่ตนนำไปเปิดตลาดครั้งนี้แม้จะไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรแต่ยังไม่คิดยอมแพ้ เพราะการันตีในคุณภาพของผลิตภัณฑ์และยังคาดหวังเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นี้คือ ขั้นต่ำในการส่งออก หนึ่งตู้คอนเทนเนอร์ หรือ 130,000 ก้อน หรือเป็นเงิน 10,000,000 บาท แต่ก่อนจะลงมือเปิดรับออเดอร์ได้ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบของคณะกรรมการฮาลาลอีกมากมายเพื่อความถูกต้องและยุติธรรมสำหรับทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย” นางสาวอรอำไพ กล่าวทิ้งท้าย.

ด้านนางสาวณัฐฎ์ธา มูลแก้ว จำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มมัลเบอรรี่สกัด 100% กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์หม่อนไหมจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ตนมีโอกาสได้มาเปิดตลาดและสัมมนาทำความเข้าใจเกี่ยวกับสินค้าฮาลาลมากขึ้น การเข้าร่วมโครงการดังกล่าวมีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการมาก ทำให้มีความรู้ด้านการส่งออกไปชายแดนจากแม่ฮ่องสอนมายังชายแดนต่างๆ โดยตนเองประสบความสำเร็จทางตลาดที่นี่ให้ความสนใจในตัวผลิตภัณฑ์ดีมาก มีกาารเจรจาซื้อขายกันแล้วสำหรับคนมาเลเซียและจังหวัดสตูลประเทศไทย

ร่วมแสดงความคิดเห็น