จัดเสวนาระดมความคิด ปฏิรูปท้องถิ่นไทย

คณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จัดการเสวนาและรับฟังความคิดเห็น เรื่อง “การปฏิรูปท้องถิ่นไทย : รูปแบบ หน้าที่และอำนาจ” ครั้งที่ 3 ภาคเหนือตอนบน

เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 60 ที่ผ่านมา ที่โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ ถนนคันคลองชลประทาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พลโทชาญชัย ภู่ทอง ประธานคณะกรรมการวิจารณ์การปกครองท้องถิ่น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงาน “การปฏิรูปท้องถิ่นไทย : รูปแบบ หน้าที่และอำนาจ” ครั้งที่ 3 ภาคเหนือตอนบน ของคณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น สภานิติบัญญัติแห่งชาติไทย

พร้อมด้วยพลเอกพิรุณ แผ้วพลสง ประธานคณะอนุกรรมการด้านการถ่ายโอนภารกิจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในคณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยมีนายวิทยา ผิวผ่องกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น นายสุขุม นามวิเศษ รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 และผศ.ดร.พรชัย วิสุทธิศักดิ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นวิทยากรอภิปราย เรื่อง “การปฏิรูปท้องถิ่นไทย : รูปแบบ หน้าที่และอำนาจ”

ทั้งนี้ การปกครองท้องถิ่นของไทยปรากฏขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยทรงมีพระบรมราชโองการฯ ให้ยกตำบลท่าฉลอมขึ้นเป็นสุขาภิบาลตำบลท่าฉลอม เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2448) อันเป็นจุดเริ่มต้นของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นของประเทศไทย

ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยมุ่งเน้นให้จัดการปกครองท้องถิ่นตามหลักปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นเป็นสำคัญ และต้องคำนึงถึงปัจจัยความสามารถในการปกครองตนเองด้านรายได้ จำนวนและความหนาแน่นของประชากรและพื้นที่ที่ต้องรับผิดชอบด้วย

นอกจากนี้ มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น และข้าราชการส่วนท้องถิ่น เรื่อง “การปฏิรูปท้องถิ่นไทย : รูปแบบ หน้าที่และอำนาจ” ได้ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นในแต่ละภาค ภาคละ 2 ครั้ง ระหว่าง เดือนธันวาคม 2559 ถึง เดือนมีนาคม 2560

โดยเริ่มต้นในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ที่ จังหวัดนครราชสีมา เพื่อให้คณะกรรมการการปกครองท้องถิ่นได้รับฟังความคิดเห็นและแนวคิดเกี่ยวกับการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นในส่วนที่เกี่ยวกับ

รูปแบบ หน้าที่ และอำนาจจากผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่นและข้าราชการส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็นข้อมูลเชิงคุณภาพไว้ใช้ประกอบการพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ และเพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนา/เสวนารับฟังความคิดเห็นได้สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์เกี่ยวกับปัญหา และข้อขัดข้องของรูปแบบ หน้าที่และอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ผ่านมา

ในการหาแนวทางการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นที่เหมาะสม ซึ่งมีผู้เข้าร่วม จำนวน 160 คน ในการเข้าร่วมสัมมนา/เสวนารับฟังความคิดเห็นนี้อีกด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น