นานาสาระน่ารู้…โรคตาขี้เกียจ…ตรวจก่อน รู้เร็ว รักษาได้

ใครเคยได้ยินเกี่ยวกับ “โรคตาขี้เกียจ” บ้างครับ หลายคนก็คงเคยได้ยินหรือรู้จักกันมาบ้างแล้ว แต่หลายท่านก็ยัง งงๆ ว่ามันคือโรคอะไร? วันนี้ พญ.สุวิชา คมปรียารัตน์ จักษุแพทย์ โรงพยาบาลลานนา จะมาให้ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้กันครับ…“โรคตาขี้เกียจ” เป็นภาวะที่การมองเห็นของตาข้างหนึ่ง แย่กว่าอีกข้างหนึ่ง อันเนื่องมาจากตาข้างนั้นไม่ได้รับการพัฒนาการอย่างเหมาะสมเมื่อเทียบกับตาอีกข้าง ฉะนั้นแล้วหากเราทราบว่าลูกหลานของเรามีภาวะของ “โรคตาขี้เกียจ” ก็ควรจะรีบมาพบแพทย์ เพื่อรักษาให้ทันท่วงที สาเหตุของ “โรคตาขี้เกียจ”? โดยส่วนใหญ่แล้ว มักเกิดจากภาวะตาเข ตาเหล่ สายตาผิดปกติ หรือโรคอื่นๆ ที่ทำให้บดบังการมองเห็น เช่นหนังตาตก ต้อกระจก ต้อหิน เป็นต้น
ซึ่งภาวะเหล่านี้จะเป็นตัวการที่ทำให้ตาข้างใดข้างหนึ่งมีความผิดปกติ ไม่พัฒนาเท่ากับอีกข้างที่ปกติ ประเด็นที่เราอยากจะพูดถึง และเตือนผู้ปกครอง คุณพ่อ คุณแม่ คือ “โรคตาขี้เกียจ” จำเป็นจะต้องได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง และรักษาอย่างรวดเร็ว ซึ่งสามารถหายขาดได้ และโอกาสกลับมาเป็นใหม่น้อยมาก โดยช่วงอายุที่สำคัญนั้นคือ ก่อนอายุ 7 ปี ดังนั้นความสำคัญคือ ตาขี้เกียจจึงจำเป็นที่ต้องได้รับการตรวจรักษาโดยเร็วที่สุด

ลักษณะ หรืออาการอย่างไรบ้าง ที่เด็กน่าจะเป็น “โรคตาขี้เกียจ”?
อาการที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ ก็คือ เด็กที่มีตาเขทุกราย จะมีความเสี่ยงมาก โดยเฉพาะเด็กที่มีตาเขข้างเดียวเป็นประจำ รวมถึงเด็กที่มีสายตาผิดปกติ ชอบดูทีวีใกล้ๆ เอียงหน้าดูทีวี หนังสือ ชอบหยีตาบ่อยๆ ลักษณะอาการแบบนี้
เป็นตัวบ่งชี้ว่าเด็กมีความผิดปกติของสายตา จำเป็นจะต้องได้รับการวินิจฉัยจากจักษุแพทย์ ซึ่งนอกจากจะตรวจหาภาวะของตาขี้เกียจแล้ว อาจจะพบโรคทางตาอื่นๆ ร่วมด้วย อาทิเช่น หนังตาตก ต้อกระจก ต้อหิน เป็นต้น ดังนั้นสิ่งที่จะช่วยได้คือการตรวจคัดกรองเบื้องต้น ซึ่งควรทำในเด็กทุกรายที่อายุมากกว่า 3 ปีขึ้นไป

“โรคตาขี้เกียจ” มีวิธีการรักษาอย่างไรบ้าง?
การรักษา “โรคตาขี้เกียจ” เบื้องต้นแล้วจะรักษาที่สาเหตุของโรคที่เป็นอยู่ เช่น การผ่าตัดกล้ามเนื้อลูกตาในเด็กที่ตาเขมากๆ หรือการผ่าตัดต้อกระจกในเด็ก รวมทั้งการใส่แว่นในเด็กที่มีปัญหาทางสายตา นอกจากนั้นจะต้องมีการกระตุ้นตาข้างที่ขี้เกียจให้กลับมาทำงาน เช่น การปิดตาข้างที่ดี เพื่อบังคับให้สมองสั่งงานตาข้างที่ขี้เกียจได้ใช้งาน เป็นต้น ซึ่งจะรักษาจนกระทั่งตาข้างที่ขี้เกียจมีการพัฒนาการจนระดับการมองเห็น เท่ากับตาข้างที่ดี โดยการรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการ ความรุนแรงของโรคในเด็กแต่ละคน

สุดท้ายนี้ พญ.สุวิชา คมปรียารัตน์ จักษุแพทย์ โรงพยาบาลลานนา ได้ยํ้าเตือนเกี่ยวกับโรคนี้ว่า “โรคตาขี้เกียจ” นี้ ต้องเริ่มจากการสังเกตอาการของลูกอย่างสมํ่าเสมอ ซึ่งหากมีภาวะดังกล่าว ก็ควรรีบนำเด็กมาพบแพทย์

ร่วมแสดงความคิดเห็น