อุโมงค์แม่งัดถล่ม ทับนักธรณี 2ศพ อีกคนโดดหนีทัน ขณะเข้าไปตรวจงาน หินก้อนใหญ่ตกลงมา

อุโมงค์ถล่ม………..นายศราวุธ ไทยเจริญ นายอำเภอแม่แตง จ.เชียงใหม่ เดินทางไปตรวจที่เกิดเหตุบริเวณ ม.1 ต.แม่หอพระ สถานที่เจาะขุดอุโมงค์ผันน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล-เขื่อนแม่กวงอุดมธารา ที่เกิดถล่ม เป็นเหตุให้ นายปรัชญาวัต วสุอนันตื หรือ “บิว” ธรณีเชียงใหม่ 54 นายปฐมพร ศิริวัฒน์ หรือ “อาย” ธรณีเชียงใหม่ 55 อายุ 24 ปี เสียชีวิต

เกิดเหตุระทึกนักธรณีวิทยาพากันเดินเข้าไปในอุโมงค์ก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล-เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เพื่อตรวจการค้ำยัน เพราะมีน้ำท่วมขังปรากฏว่าเกิดก้อนหินขนาดใหญ่ข้างบนถล่มลงมา ทับร่าง 2 นักธรณี อย่างจังทำให้เสียชีวิตทันที ส่วนอีกคนโดดหนีทันรอดหวุดหวิด

เมื่อเวลา 07:30 น. วันนี้ (2 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า ได้เกิดเหตุอุโมงค์ถล่มบริเวณ ม.1 ต.แม่หอพระ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ จนเป็นเหตุให้นักธรณีวิทยา 2 คนเสียชีวิต โดยโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการเจาะดินและหินเข้าไปได้ประมาณ 600 เมตร และนักธรณีวิทยา 2 ราย คือผู้เสียชีวิตเป็นนักธรณีวิทยาของบริษัท อิตาเลี่ยนไทย จำกัด ชื่อนายประถมพร ศิริวัฒน์ บ้านเลขที่ 10/1 หมู่ที่ 4 ต.หนองควาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ และนายปรัชญาวัต วสุอนันต์ บ้านเลขที่ 3 ซอย 4 ถ.เวสาลี ต.ช้างเผือก อ.เมืองเชียงใหม่ เบื้องต้นทีมกู้ภัยในพื้นที่ได้นำร่างผู้เสียชีวิตส่งไปยังโรงพยาบาลแม่แตง แล้วขณะที่ทางด้าน นายศราวุธ ไทยเจริญ นายอำเภอแม่แตง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังลงพื้นที่ตรวจสอบและหาสาเหตุการเกิดเหตุการณ์ในครั้งนี้

ข่าวคืบหน้าเมื่อ เวลา 11.00 น. วันที่ 2 มี.ค.60 ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายไพรินทร์ ลิ่มเจริญ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ ได้เปิดเผยว่า หลังเกิดเหตุได้มีการประชุมปรึกษาหารือกันโดยมีนายอำเภอแม่แตง, หัวหน้าสำนักงานป้องกันสาขาเชียงดาวเชียงใหม่ ตำรวจ นายกเทศมนตรีตำบลแม่หอพระ กำนันตำบลแม่หอพระ และเจ้าหน้าที่ของบริษัทอิตาเลี่ยนไทย โดยที่ประชุมได้สรุปได้ว่าในรอบของการทำงานในอุโมงค์นั้นทำงาน 24 ชั่วโมง และในเวลาเช้าและเย็น ทีมนักธรณีวิทยาของบริษัท 2 ราย และนักธรณีวิทยาของบริษัท คอนเซาท์ 1 ราย รวมเป็น 3 เข้าไปสำรวจออกแบบระบบการค้ำยันภายในอุโมงค์ เพื่อความปลอดภัยเป็นประจำทุกวัน เมื่อเข้าไปแล้ว จะกลับมาออกแบบระบบแล้วให้คนงานชุดที่ 2 จำนวน 15 คน เข้าไปทำการค้ำยันตามรูปแบบที่กำหนด และมีผลงานชุดที่ 3 เข้าไปขุดเจาะระเบิดและขนวัสดุออกมาทางระบบรถราง

แต่ในวันนี้ พบว่าภายในอุโมงค์มีน้ำเป็นจำนวนมาก ขณะปฏิบัติได้เกิดฟองน้ำด้านบนของอุโมงค์ ทำให้มีหินขนาดใหญ่ หล่นลงมาภายในอุโมงค์ทับร่างของเจ้าหน้าที่บริษัททั้งสองราย ส่วนอีก 1 ราย สามารถกระโดดหนีทัน แล้วออกมาแจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่อยู่ภายนอกอุโมงค์ได้นำรถ excavator เข้าไปขุดค้นหาร่างผู้เสียชีวิตแล้วนำร่างผู้ประสบภัยส่ง รพ.แม่แตงเชียงใหม่ โดยรถกู้ชีพของเทศบาลตำบลแม่หอพระ เจ้าหน้าที่ทั้งสองรายเสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุ

ทาง นายวงศ์พันธ์ วงศ์สมุทร หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 ให้สัมภาษณ์ “เชียงใหม่นิวส์” ถึงเหตุการณ์หินก้อนใหญ่จากผนังเพดานอุโมงค์ช่วงบนร่วงใส่กระทั่งมีผู้เสียชีวิต 2 ราย ว่า ต้องพูดถึงวิธีการทำงานก่อนในการขุดเจาะอุโมงค์ตามสัญญาที่ 1 นี้ เป็นการขุดเจาะโดยวิธีระเบิด ในขั้นตอนการทำงานนั้น หากมีการระเบิดแล้วทุกครั้งจะต้องมีนักธรณีเข้าไปตรวจสอบบริเวณผนังด้านหน้าอุโมงค์ที่มีการระเบิดแล้วก่อน ตรวจสอบว่าเป็นหินชนิดไหนประเภทอะไร เพื่อนำข้อมูลที่ได้มากำหนดว่าจะต้องปรับปรุงอุโมงค์ให้เกิดความแข็งแรงได้อย่างไร ต้องใช้วัสดุอะไรบ้าง อย่างเช่นจะใช้คอนกรีตพ่นหรือการติดตั้งเหล็กตระแกรง หรือจะต้องใช้สลักหินกี่อัน เพื่อยึดหินให้แน่นให้แข็งแรง

ทั้ง 2 คนอยู่ในชุดที่จะเข้าไปตรวจสอบและเก็บข้อมูลเพื่อส่งให้วิศวกรเพื่อมากำหนดว่าจะปรับปรุงด้วยวิธีการอะไร แต่จังหวะที่นักธรณีเข้าไปในบริเวณดังกล่าวนั้น หินก้อนขนาดใหญ่ที่อยู่ด้านบนเพดานตกหล่นลงมาทับร่างของทั้ง 2 เป็นหินที่ร่วงลงไม่ใช่การทรุดตัวของผนังอุโมงค์ที่เจาะทั้งแผง คือเจาะโดยระเบิดเสร็จแล้วนักธรณีทั้ง 2 คนก็เข้าไปตรวจสอบเพื่อเก็บข้อมูล

หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมฯ กล่าวต่อว่า โดยปกติในการทำงานนั้นเมื่อทำการขุดเจาะระเบิดแล้วต้องรีบเข้าไปตรวจสอบก่อน หากช้าอาจจะเกิดพังลงมาได้ กระบวนการในช่วงนี้ต้องใช้เวลา ต้องดำเนินการด้วยความรวดเร็ว ระเบิดเสร็จต้องรีบทำการตรวจสอบ เก็บข้อมูลต่างๆ ตามหลักวิชาการ และต้องรีบดำเนินการออกแบบ เลือกวิธีในการที่จะทำให้ผนังแข็งแรง ไม่ว่าจะเป็นการพ่นคอนกรีต การใช้สลักหิน เพื่อให้เกิดความมั่นคง กระบวนการหรือขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้เกิดความแข็งแรงแก่อุโมงค์เหล่านี้ต้องใช้เวลา ต้องรีบทำเพื่อให้เกิดความมั่นคงกับอุโมงค์

การเข้าไปตรวจสอบในวันนี้กลับเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน โดยปกติที่ปฏิบัติกันมาตั้งแต่เริ่มการขุดเจาะ การร่วงของหินก็มีอยู่ แต่ไม่ขนาดนี้ ครั้งนี้เป็นหินก้อนใหญ่ ส่วนใหญ่ที่เจอที่ร่วงลงมาจะเป็นก้อนเล็กๆ แต่ที่ร่วงหล่นครั้งนี้เป็นก้อนใหญ่มาก ในระยะที่เจาะได้ราว 636 เมตรจากปากอุโมงค์ที่เปิดเจาะเข้าไปเพื่อใช้ขนวัสดุ ซึ่งเหลืออีกไม่มากก็จะถึงแนวจุดที่ต้องเจาะตัวอุโมงค์ส่งน้ำแล้ว

เบื้องต้นที่มีการประเมินถึงสาเหตุ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเรื่องของชั้นหินที่เป็นหินผุ อีกทางคาดว่าน่าจะมาจากเรื่องของหลักความปลอดภัย ซึ่งควรที่จะตรวจการร่วงหล่นของหินก่อนที่จะเข้าไป แต่ที่เคยทำมาแล้วยังไม่เคยเกิดเหตุเช่นว่านี้ ที่ต้องทำต่อเพื่อไม่ให้เหตุการณ์แบบที่เกิดนี้เกิดขึ้นอีก จะต้องเน้นในเรื่องความปลอดภัยเพิ่มมาขึ้นในทุกกระบวนการทำงาน จะต้องมีการตรวจสอบในทุกครั้งที่จะเข้าพื้นที่ทำงาน

สำหรับช่วงบริเวณจุดเกิดเหตุนั้น เป็นช่วงโครงการก่อสร้าง อุโมงค์ผันน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล – เขื่อนแม่กวงอุดมธารา ขนาดความกว้าง 4.2 เมตร ยาว 22.975 กม. ปริมาณน้ำผ่านอุโมงค์สูงสุด 26.50 ลบ.ม.ต่อวินาที ได้แบ่งสัญญาออกเป็น 2 สัญญา เนื่องจากอุโมงค์มีความยาว โดยสัญญาแรกนั้นวงเงินสัญญา 2,334,600,000 บาท เริ่มสัญญา 24 มีนาคม 2558 – 18 สิงหาคม 2564 สำหรับวิธีการที่ใช้นั้นจะใช้ ระบบเจาะและระเบิด ในการขุดเจาะอุโมงค์ ความยาว 12.500 กม. ใช้เวลาก่อสร้าง 2,340 วัน และสัญญาที่ 2 วงเงินสัญญา 1,880,800,000 บาท เริ่มสัญญา 28 เมษายน 2558 – 6 เมษายน 2562 ระยะเวลาก่อสร้าง 1,440 วัน ใช้เครื่องเจาะอุโมงค์ ความยาว 10.476 กม. โดยใช้พื้นที่ใต้ดินอุทยานแห่งชาติศรีลานนา ทั้งหมด 41 ไร่ รวมงบประมาณที่ ใช้ทั้งหมด 4,215,400,000 บาท ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า งบประมาณทั้งหมดที่ใช้ในการสร้างอุโมงค์ผันน้ำทั้ง 2 ช่วง ใช้งบประมาณ 11,515,400,000 บาท โดยจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2564

ร่วมแสดงความคิดเห็น