แม่โจ้โชว์ไอเดียเก๋ ปลูกผักแลกค่าเทอม

ม.แม่โจ้ไอเดียเก๋ จัดแถลงข่าวเปิดโครงการปลูกผักแลกค่าเทอม เพื่อให้นักศึกษานำรายได้เป็นทุนการศึกษา สามารถสร้างรายได้จากการทำงาน ในขณะเดียวกันยังช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ ด้วยการนำองค์ความรู้ในห้องเรียน สู่การปฏิบัติงานจริง ย้ำชัดผลผลิตทั้งหมดจะเป็นผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ รับประกันโดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ พร้อมนำออกจำหน่ายใน “กาดแม่โจ้ 2477”

ผศ.ดร.จำเนียร ยศราช อธิการบดี ม.แม่โจ้ พร้อมด้วย ผศ.พาวิน มะโนชัย รองอธิการบดี, อ.ชัช พชรธรรมกุล รองอธิการบดี, ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ ดุษฎี ผู้อำนวยการวิทยาลัยพลังงาน ทดแทน ม.แม่โจ้ และนายเมธพล สวนวงษ์ นักศึกษาคณะผลิตกรรมการเกษตร พืชไร่ ปี 1 ตัวแทนนักศึกษาในโครงการปลูกผักแลกค่าเทอม ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัวโครงการปลูกผักแลกค่าเทอม ณ โดมแก้วอินทรีย์ ม.แม่โจ้

ทั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จำเนียร ยศราช อธิการบดี ม.แม่โจ้ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมหาลัยแม่โจ้มีนักศึกษากว่า 18,000 คน จาก 14 คณะ ศูนย์ผลิตบัณฑิตปีละกว่า 4500 คน แต่มีนักศึกษาจำนวนหนึ่งที่ต้องการแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองทางมหาลัยแม่โจ้จึงคิดสร้างโครงการปลูกผักแรกค่าเทอมขึ้น เพื่อให้นักศึกษา นำรายได้เป็นทุนการศึกษา สามารถสร้างรายได้จากการทำงาน ในขณะเดียวกันยังช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ ด้วยการนำองค์ความรู้ในห้องเรียน สู่การปฏิบัติงานจริง ซึ่งผลผลิตจากการปฏิบัติงานในแปลง/ในฟาร์ม ก่อให้เกิด พืช ผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ นำมาจำหน่ายสร้างรายได้ให้แก่นักศึกษา

ผศ.ดร.จำเนียร กล่าวต่อว่า ทั้งนี้เมื่อเกิดผลผลิต พืช ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ อันเป็นความอุตสาหะมานะของนักศึกษา มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จึงเปิด กาดแม่โจ้ 2477 เพื่อเป็นตลาดรองรับผลผลิตดังกล่าว ทำไมกาดแม่โจ้ จึงต้องมี 2477 เพราะเป็นปีของการก่อกำเนิด มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย ปัจจุบันมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จึงมี อายุ 83 ปี

สำหรับหลักการจัดสรรผลประโยชน์รายได้ ของนักศึกษาในโครงการ ที่แม้จะมีเป้าหมายโครงการที่นำรายได้เป็นทุนการศึกษาเช่นเดียวกับ กองทุน กยศ. ซึ่งนักศึกษากู้ยืมต่อเนื่อง 4 ปี เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ทำงานแล้ว มีรายได้ จึงชำระคืนเงินกู้ยืม แต่โครงการ ปลูกผัก แลก ค่าเทอม มีความแตกต่าง กล่าวคือ รายได้ที่จากการจำหน่ายผลผลิตสะสมระหว่างภาคเรียน จะถูกหักเป็นค่าเล่าเรียนในภาคการศึกษาต่อไป นักศึกษา จึงไม่มีสถานะเป็นลูกหนี้ กองทุน ?ทั้งนี้ผลผลิตทั้งหมด จะเป็นผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ รับประกันโดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งคาดว่าการจัดโครงการปลูกผักแลกค่าเทอม จะสามารถช่วยให้นักศึกษาได้มีความรู้จากการทำงาน เทคนิคการปฏิบัติจริง จากคณาจารย์ ที่มีความรู้ ความสามารถ และนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับผลตอบแทน จากความสามารถ ความอุตสาหะ เมื่อหักต้นทุนแล้ว จะได้รับเงินคืนเพื่อเป็นค่าเทอม อธิการบดี ม.แม่โจ้ กล่าว

ด้าน อ.ชัช พชรธรรมกุล รองอธิการบดี กล่าวว่า ในส่วนขั้นตอนและสิ่งที่นักศึกษาต้องปฏิบัตินั้น มีดังนี้
1.ยื่นความจำนงเป็นนักศึกษาในโครงการ ปลูกผักแลกค่าเทอม
2.นักศึกษาได้ลงแปลง/ฟาร์มของจริง และได้ประสบการณ์ ที่เป็นความรู้ เทคนิควิธีที่ถูกต้อง
3.การลงงานปฏิบัติงานภาคสนาม เปรียบเทียบได้กับกางลง shop ของนักศึกษาคณะวิศวกรรม
4.สิ่งที่นักศึกษาได้รับการปลูกฝัง ให้เป็นปรัชญาการทำงาน ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งจะเป็นมหาวิทยาเกษตรอินทรีย์เต็มรูปแบบแห่งแรกของประเทศไทยและ 5.พื้นที่ที่ใช้นำร่องในการทดลองคือ สำนักฟาร์ม 907 ไร่ อำเภอ สันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้รับการพัฒนาเป็นโซนๆ ให้ นักศึกษา 487 คน จาก 12 คณะ ได้ปฏิบัติงาน/ลงแปลง นอกจากนี้ มหาวิทยาลัย ยังมีโครงการนำพื้นที่ กว่า 6,000 ไร่ จาก สำนักฟาร์มอำเภอพร้าว 1,200 ไร่ สำนักฟาร์ม อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่2,000 ไร่ และ สำนักฟาร์ม อำเภอละแม จังหวัดชุมพร 2,000 ไร่ พื้นที่เหล่านี้ กำลังทยอยพัฒนาให้นักศึกษาได้ลงแปลงเพื่อการผลิตเกษตรอินทรีย์

ซึ่งขณะนี้มีนักศึกษาเข้าร่วมโครงการดังกล่าวแล้ว จำนวน 467 คน โดยทางมหาวิทยาลัยเป็นผู้ดูแลในการบริหารจัดการด้วยความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการ 3 ส่วน ประกอบด้วย 1.คณะกรรมการวิชาการ 2.คณะกรรมการจัดการผลผลิต และ 3.ตัวแทนนักศึกษาจากทุกคณะ(เพื่อมีส่วนร่วมของกระบวนการในทุกขั้นตอน) อ.ชัช กล่าวส่งท้าย

ร่วมแสดงความคิดเห็น