ปิด “หอคำหลวง” ยาวถึงสิงหา ควัก 18 ล้าน บูรณะครั้งใหญ่

ควัก 18 ล้านบาท บูรณะหอคำลวงครั้งใหญ่ ในรอบ 10 ปี รื้อเปลี่ยนใหม่หมดทั้งกระเบื้องหลังคา และกระเบื้องปูพื้นทั้ง 3 ชั้น พร้อม “ปิด” ไม่ให้เข้าชมเด็ดขาดตั้งแต่ 1 มีนาคม ไปจนถึงสิงหาคม 2560 แจงสาเหตุที่ต้องบูรณะใหญ่มีทั้งหลังคารั่วซึม กระเบื้องพื้นโกร่งตัว ซ่อมแล้วหลายครั้ง น่าอนาถที่ลายทองปิดเสาหลุดร่อนหลายต้น ด้วยสาเหตุมาจากนักท่องเที่ยวใช้มือลูบ เสียหายหนักที่สุดเสา 2 ต้น ใกล้บริเวณทางขึ้นลงด้านข้าง ยันทุกขั้นตอนการบูรณะ ขอคำปรึกษาจากทั้งกรมศิลปฯและโยธาธิการฯ ยืนยันการบูรณะทุกจุดจะคงสภาพเดิมให้มากที่สุด เพียงแค่เปลี่ยนเอาวัสดุที่มีความคงทนเข้าไปแทนของเดิม

ที่อุทยานหลวงราชพฤกษ์ นายยงยุทธ คงได้ ปฏิบัติหน้าที่ หน.กลุ่มงานโครงสร้างพื้นฐาน อุทยานหลวงราชพฤกษ์ แจงถึงโครงการบูรณะหอคำหลวง ว่าการบูรณะหอคำหลวงใหญ่ครั้งนี้ จะบูรณะเฉพาะส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างอาคารหลัก อย่างแรกคือกระเบื้องหลังคา และโครงการสร้างหลังคาบางส่วน เนื่องจากกระเบื้องหลังคาขณะนี้ มีสภาพชำรุดหลายจุดมาก ซึ่งที่ผ่านมามีการเปลี่ยนซ่อมแซมอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด หากใครสังเกตจะเห็นได้ว่ากระเบื้องหลังคานั้นจะมีสีไม่เหมือนกัน หลายจุดสีจะแตกต่างจากกระเบื้องเดิม เนื่องจากที่เปลี่ยนมีความเก่าใหม่แตกต่างกัน ประเด็นสำคัญคือมีหลายจุดที่รั่ว ฝนตกจะรั่วซึมลงมาส่งผลต่อทั้งโครงสร้างหลังคา ที่เป็นไม้และพื้นด้านล่าง

“กระเบื้องหลังคาที่จะเปลี่ยนนั้น จะเป็นกระเบื้องเคลือบแทนกระเบื้องเดิมที่เป็นกระเบื้องดินเผา แต่ยังจะคงรูปแบบรูปทรง สี และขนาดเท่ากับของเดิมทั้งหมด ที่สำคัญคือการมุงกระเบื้องหลังคาของหอคำหลวง จะมุงไม่เหมือนกับหลังคาบ้านทั่วไป จะมุงกระเบื้องแผ่นต่อแผ่นชนกันชั้นแรกก่อนแล้ว วางอีกแผ่นทับซ้อนปิดตรงกระเบื้องที่ชนกันต่อเนื่องกันไป หลังคาของหอคำหลวงจึงใช้กระเบื้องมากกว่าปกติ ทั้งนี้โครงการสร้างหลังคาจะยังคงเดิม คือเปิดโชว์โครงการสร้างไว้เช่นเดิม ผู้รับจ้างได้แนะนำให้ทำฝ้าเพดานแบบในวัดต่างๆ ก็ได้ปรึกษาทั้งผู้เชี่ยวชาญ ทั้งทางกรมศิลปากร ได้รับคำแนะนำให้คงไว้แบบเดิมคือเปิดโล่งให้เห็นโครงไม้หลังคาแบบเดิม แต่จะมีการเปลี่ยนบางส่วนที่บิดงอหรือชำรุด อย่างเช่นจุดที่รั่วซึม ตรงนี้ก็จะทำการเปลี่ยนออกซึ่งมีไม่มาก โครงหลังคาก็ยังจะโชว์ไม้เหมือนเช่นเดิม” นายยงยุทธฯ กล่าว

นายยงยุทธฯ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้จะยังจะมีการบูรณะช่อฟ้า โดยการทำสีใหม่ ซึ่งขณะนี้ซีดหลุดร่อนไปเป็นจำนวนมาก อีกอย่างที่มีปริมาณงานที่มากคือ พื้นกระเบื้องดินเผาทั้ง 3 ชั้นของหอคำหลวง หากสังเกตให้ดีจะพบว่า พื้นกระเบื้องในทุกชั้นจะปรากฏรอยการซ่อมแซมให้เห็นเป็นจำนวนมากในทุกชั้น ยิ่งช่วงฤดูฝนทั้งแดดทั้งฝนกระเบื้องจะเกิดการโกร่งตัว เนื่องจากพื้นเกิดความชื้นช่วงฝนตก พอแดดออกจะเกิดการหดตัวก็จะเกิดการโกร่งตัวเป็นจุดๆ มีหลายจุดที่เปลี่ยนกระเบื้องไปแล้ว ผลก็คือกระเบื้องใหม่สีจะแตกต่างจากกระเบื้องเก่า ส่งผลให้สีพื้นไม่เหมือนกันเป็นกระด่างหลายจุดมาก

“กระเบื้องปูพื้นที่จะทำการเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด ทั้ง3 ชั้น โดยจะใช้กระเบื้องเคลือบมาปูแทน แต่ยังคงขนาดที่ใกล้เคียงขนาดเดิม สีเดียวกับสีกระเบื้องเดิม จะคงแบบเดิมเกือบทุกอย่าง เพียงแต่วัสดุที่ทำกระเบื้องจะเปลี่ยนใหม่ โดยจะเป็นกระเบื้องเซรามิคที่ผลิตโดยโรงงานที่มีลักษณะเช่นเดียวกับกระเบื้องพื้นเดิม ทั้งสีและผิวจะไม่ลื่น และเชื่อว่าจะมีความคงทนมากกว่ากระเบื้องเดิม อีกส่วนพื้นที่เดิมที่เป็นทรายล้างจะทำการรื้อออก เนื่องจากพื้นที่เป็นทรายล้างใช้ไปนานๆ จะแตกร้าวทำให้น้ำซึมบริเวณรอยแตกและอาจจะส่งผลต่อโครงสร้างได้ โดยจะเปลี่ยนเป็นกระเบื้องเซรามิคเช่นกัน แต่ขนาดจะเล็กลง และสีจะแตกต่างจากกระเบื้องหลัก เพื่อใช้เป็นจ้อยไม่ให้กระเบื้องแผ่นใหญ่ชนกัน ส่วนสีจะเทียบดูจากหน้างานหลังปูกระเบื้องแผ่นหลักไปแล้ว” นายยงยุทธฯ แจง

นายยงยุทธ คงได้ กล่าวอีกว่า สำหรับงานจิตรกรรมฝาผนังทุกจุด จะไม่มีการแตะต้องแต่อย่างใดทั้งสิ้น ที่จะทำการปรังปรุงอีกจุดซึ่งเป็นงานฝีมือคือ ลวดลายทองคำที่ประดับเสาในหอคำหลวงบางต้น เนื่องจากนักท่องเที่ยวที่เข้าชมหอคำหลวงใช้มือลูบ โดยเฉพาะต้นที่อยู่บริเวณประตูด้านข้างหอคำหลวงทั้งฝั่งซ้ายและขวา จะซ่อมแซมเฉพาะบริเวณที่ลายทองขาดหายไป โดยจะอ้างอิงลวดลายเดิม เมื่อทำการลงรักปิดทองใหม่ บริเวณที่มือเอื้อมถึงจะทำการเคลือบโดยวัสดุเคลือบใส ซึ่งต้องพิจารณาอีกครั้งว่า จะใช้วัสดุอะไรที่จะไม่มีผลกระทบกับทองที่ปิด

“การบูรณะหอคำหลวงครั้งนี้ ทางอุทยานหลวงราชพฤกษ์ได้หารือทั้งกรมศิลปากร ทั้งโยธาธิการและผังเมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งทั้งสองหน่วยงานก็ส่งเจ้าหน้าที่มาให้คำปรึกษางานนี้ด้วยดี และนอกเหนือจากงานหลักที่กล่าวมาทั้งหมดยังจะมีงานไม้แกะสลักบางจุดที่ผุที่กร่อน จะทำการแก้ไขเสริมไม่ให้มีรอยปริแตกให้เห็นอีก อาทิ เสาประตูหน้า แผ่นแกะสลักติดราวบันใดทางขึ้นด้านข้าง ซึ่งคุยกับผู้รับจ้างแล้วจะใช้วิธีการซ่อมแซมแบบที่เคยทำมาแต่อดีต อย่างเช่นการใช้สลักไม้ยึด ซึ่งผู้รับจ้างที่ประมูลงานบูรณะหอคำหลวงครั้งนี้ไปได้คือ ช่างรุ่ง จันตาบุญ ซึ่งเป็นช่างที่สร้างหอคำหลวงแต่เดิม โดยชนะการประมูลที่ 17,999,999 บาท” ปฏิบัติหน้าที่ หน.กลุ่มงานโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว

นายยงยุทธ คงได้ กล่าวต่อว่า ก่อนเริ่มงานได้มีการเรียกผู้รับจ้างมาพูดคุยแล้วว่า ในบางช่วงที่ทำงานจะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชมการทำงานของช่างได้ด้วย อย่างเช่นในช่วงที่ทำการลงรักปิดทอง ซึ่งจะกำหนดพื้นที่เดินชมเพื่อไม่ให้เกะกะการทำงานของช่าง ซึ่งจะเป็นช่วงท้ายของการทำงาน แต่ช่วงแรกนี้จะขอปิดหอคำหลวงไม่ให้เข้าชมโดยเด็ดขาด เนื่องจากการรื้อหลังคาอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ทั้งนี้ก่อนการรื้อกระเบื้องหลังคาออกทั้งหมด จะทำการตั้งนั่งร้านทำหลังคาครอบหลังคาเดิมไว้ทั้งหมดก่อน ซึ่งจะเป็นการป้องกันฝนที่อาจจะตกส่งผลกระทบต่องานจิตรกรรมฝาผนังภายในหอคำหลวงได้ และงานรื้อหลังคานั้นจะทำพร้อมกับงานรื้อพื้นกระเบื้องออก เพื่อร่นระยะเวลาในการทำงานอันจะไม่กระทบต่อสัญญางาน ที่มีระยะเวลาในการบูรณะที่ 4 เดือน โดยปิดหอคำหลวงตั้งแต่ วันที่ 1 มีนาคม นับไปอีก 120 วัน ราวเดือนสิงหาคม 2560

ร่วมแสดงความคิดเห็น