“เพิ่มมูลค่าน้ำเสียในโรงฆ่าสัตว์” ด้วย Biogas

ในปัจจุบัน การบริโภคเนื้อสัตว์เป็นที่นิยมกันแพร่หลายในสังคมไทย เนื้อสัตว์ต่างๆ ที่เรานำมาประกอบอาหารส่วนมากเรามักจะซื้อเนื้อที่ชำแหละ แล้วขายตามตลาดหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ เพราะปัจจุบันไม่มีใครอยากฆ่าและชำแหละสัตว์ด้วยตัวเองแล้ว เพราะนอกจากจะทำได้ยากแล้วยังมีเรื่องของบาปบุญคุณโทษเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น จึงเกิดโรงฆ่าสัตว์ขึ้นไม่ว่าจะเป็นของหน่วยงานของราชการ เอกชน เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล หรือระดับจังหวัด และมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อรองรับอัตราการบริโภคเนื้อสัตว์ที่สูงขึ้น ทั้งภายในประเทศและส่งขายยังต่างประเทศ ซึ่งในโรงฆ่าสัตว์เหล่านั้นจะมีกระบวนการฆ่าและชำแหละ ทำให้เกิดของเสีย และมีปัญหาอื่นๆ ตามมาอีก เช่น กลิ่นเหม็น และแมลงวัน แต่ปัญหาหลักที่เป็นปัญหาใหญ่ๆ คือ ปัญหาเรื่องน้ำเสียจากกระบวนการฆ่าและชำแหละสัตว์

น้ำเสียจากโรงฆ่าสัตว์ จะมีของเสียจำพวก เลือด ไขมัน เป็นส่วนมาก และมีส่วนอื่นๆ เช่น เศษเนื้อ เล็บ กระดูก ขน รวมทั้งมูลสุกรจากคอกพักก่อนฆ่า หรือ ที่ค้างอยู่ในลำไส้ ซึ่งทำให้มีกลิ่นเหม็นเป็นที่น่ารังเกียจ ซึ่งถ้าปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะก็จะเป็นปัญหาทางสิ่งแวดล้อมขึ้นมา ดังนั้น จึงต้องมีกระบวนการบำบัดน้ำเสีย เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดกับสิ่งแวดล้อม ชุมชน ซึ่งเป็นผลมาจากน้ำเสียโดยตรง

ระบบบำบัดที่ใช้กันมาตั้งแต่เริ่มมีโรงฆ่าสัตว์ คือ ระบบบ่อผึ่ง ซึ่งเป็นระบบที่ง่ายๆ คือขุดดินแล้วเก็บน้ำเสียให้ธรรมชาติบำบัด ต่อมาก็มีระบบการเติมอากาศ เป็นระบบที่ต้องเติมอากาศให้กับน้ำเสีย เพื่อให้จุลินทรีย์พวกที่ใช้อากาศกำจัดของเสีย ซึ่งจะมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่ต้องจ่ายให้แก่ระบบ รวมทั้งต้องมีผู้เชี่ยวชาญคอยควบคุมดูแล และค่าบำรุงรักษาอุปกรณ์ก็ยังสูงอีกด้วย

ปัจจุบันจึงได้มีการคิดค้นระบบบำบัดน้ำเสียที่ไม่ต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย ด้านพลังงานและการควบคุมดูแลมาก อีกทั้งยังมีผลพลอยได้จากระบบเพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายของโรงฆ่าสัตว์ด้วย ระบบที่สามารถตอบโจทย์ได้ทุกข้อ คงจะหนีไม่พ้นระบบผลิตก๊าซชีวภาพ หรือ ถ้าภาษาทั่วไปจะเรียก “บ่อก๊าซ” ซึ่ง น้ำเสียจากโรงฆ่าสัตว์ ก็สามารถผลิตเป็นก๊าซชีวภาพได้ โดยส่วนใหญ่จะได้ก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ จากคอกพักหรือในลำไส้ เลือด และเศษเนื้อ เศษอวัยวะต่างๆ

โดยระบบก๊าซชีวภาพที่ใช้จะประกอบไปด้วย ส่วนที่ปรับสภาพน้ำเสียให้เหมาะสมกับการหมักก๊าซชีวภาพก่อน ได้แก่ บ่อดักเศษขยะ เพื่อดักเศษขน กระดูก เล็บ ที่ไม่สามารถหมักก๊าซได้ออกไปก่อน จากนั้นน้ำเสียที่ปรับสภาพแล้วจะไหลเข้าสู่บ่อดักไขมัน เพื่อแยกไขมันในน้ำเสียออกมา เพราะไขมันไม่สามารถย่อยสลายเป็นก๊าซชีวภาพได้และยังเป็นพิษต่อกระบวนการหมักอีกด้วย เมื่อผ่านการปรับปรุงสภาพน้ำเสียแล้วจะเข้าสู่กระบวนการหมักย่อยสลายของเสียเป็นก๊าซชีวภาพ ซึ่งใช้เวลาในการหมักย่อย 40-60 วัน จากนั้นน้ำที่ผ่านการหมักย่อย ซึ่งมีความสะอาดและของเสียถูกกำจัดไปประมาณ 90 เปอร์เซ็น จะถูกนำไปบำบัดต่อเพื่อปล่อยลงลำน้ำสาธารณะหรือนำไปใช้กับการเกษตร เพราะน้ำที่ผ่านระบบจะมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ค่อนข้างมาก

ผลประโยชน์ ที่ทางโรงฆ่าสัตว์จะได้รับจากระบบก๊าซชีวภาพ อย่างแรกคือ การนำก๊าซชีวภาพไปใช้ทดแทนการใช้พลังงานในโรงฆ่าสัตว์ เช่น นำไปทดแทนก๊าซหุงต้มในการต้มน้ำเพื่อลวกซากสุกร หรือ นำไปเผาขน ฯลฯ อีกทั้งยังได้กากตะกอนแห้งขายเป็นปุ๋ยชีวภาพอีกด้วย และสำหรับผู้สนใจติดตั้งระบบก๊าซชีวภาพสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โทร. 0-5394-2007 ต่อ 311 โทรสาร 0-5390-3763

ร่วมแสดงความคิดเห็น