จังหวัดลำพูนมุ่งพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์โอทอปหวังชิงตลาดโลก

จังหวัดลำพูนมุ่งพัฒนาศักยภาพ ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์โอทอป ทุกกลุ่ม ให้สามารถแข่งขันในตลาด ระดับประเทศ และ ระดับสากล สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดลำพูน และ เครือข่ายมุ่งพัฒนาศักยภาพ ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์โอทอป ในแต่ละ กลุ่มผลิตภัณฑ์ ให้สามารถ จัดทำผลิตภัณฑ์ ให้ตรงกับความต้องการอันหลากหลาย ของผู้บริโภค ซึ่งคาดว่าในปีนี้ จังหวัดลำพูนจะมียอดจำหน่าย ผลิตภัณฑ์โอทอป เพิ่มขึ้น ร้อยละ 18

ที่โรงแรมลำพูนวิลล์ นายวีระชัย ภู่เพียงใจ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นพูน ได้ประชุมโครงการสนับสนุนคณะอนุกรรมการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (นตผ.) ระดับจังหวัดโดยมี พัฒนาการจังหวัด หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน เกษตรและสหกรณ์จังหวัดลำพูน ประธานเครือข่าย นตผ. และหัวหน้าส่วนราชการ เข้าร่วมประชุม

ในการพัฒนา ผลิตภัณฑ์โอทอป ของจังหวัดลำพูน ในปี 2559 มีการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ประจำปี 2559 เพื่อจัดทำข้อมูล ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ให้เป็นปัจจุบัน และสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่ง ผู้ประกอบการ OTOP ที่เข้าร่วมการคัดสรร จำนวน 189 ผลิตภัณฑ์ โดยแบ่งตามประเภทกลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กลุ่มดาวเด่นสู่สากล (A) มุ่งเน้นการเพิ่มโอกาสเข้าถึงตลาดเป้าหมาย มีศักยภาพในการผลิตสูง ได้มาตรฐานระดับสากล สามารถผลิตในปริมาณและคุณภาพคงเดิม สามารถวางขายในตลาดส่งออก ตลาด Hi-End สนามบินและห้างสรรพสินค้าชั้นนำได้

กลุ่ม (B) อนุรักษ์สร้างคุณค่ามุ่งเน้นการสร้างคุณค่ามูลค่าเพิ่มในตลาดเฉพาะสินค้าแต่ละชิ้นมีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว นำเสนอเรื่องราวที่สร้างสรรค์และน่าสนใจ กำลังการผลิตมีปริมาณที่จำกัด เป็นกระบวนการผลิตที่ยาก ซับซ้อน ใช้เวลานาน ซึ่งจะวางขายในตลาด Niche Market ตลาด Hi -End เฉพาะกลุ่ม กลุ่ม (C) พัฒนาสู่การแข่งขัน มุ่งเน้นการควบคุม เพื่อเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพสู่การแข่งขัน ได้รับมาตรฐานระดับพื้นบ้าน / ท้องถิ่น / เฉพาะถิ่น สามารถผลิตซํ้าในปริมาณและคุณภาพใกล้เคียงของเดิม มีกำลังผลิตในปริมาณมาก ไปสู่ตลาดภูมิภาคในตลาด และกลุ่ม (D) ปรับตัวสู่การพัฒนา มุ่งเน้นการรับช่วงการผลิตโดยคำนึงถึงทักษะฝีมือเดิมและเพิ่มทางเลือกการมีอาชีพเสริมซึ่ง ยังไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานใดๆ ไม่สามารถผลิตซ้ำในปริมาณและคุณภาพคงเดิม กำลังการผลิตน้อย วางขายได้ในตลาดท้องถิ่น / ชุมชน

ในปีนี้ จะมีการจัดโครงการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ โดยยุทธศาสตร์กรมพัฒนาชุมชน เช่น งาน OTOP TO THE FACTORY จะจัด 2 ครั้ง งาน OTOP ตลาดนัดชุมชน ไทยช่วยไทย คนไทยยิ้มได้ จะจัด 3 ครั้ง สำหรับ รายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน OTOP ในปี 2559 มี จำนวน 1,831,022,831 บาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ร้อยละ 12 % และ การประมาณรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน OTOP ในปีงบประมาณ 2560 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 % ซึ่งแยกเป็นสินค้าประเภทต่างๆได้แก่ ประเภทอาหารเช่น ลำไยอบแห้ง 640 ล้านบาท ประเภทผ้า เครื่องแต่งกายเช่น ผ้าฝ้าย ผ้าไหมยกดอก 750 ล้านบาท ประเภทของใช้ เช่น อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน 360 ล้านบาทประเภทสมุนไพร เช่น ลูกประคบ 50 ล้านบาท และประเภทเครื่องดื่ม 31 ล้านบาท

ร่วมแสดงความคิดเห็น