อบรม PLC เขตภาคเหนือ

เมื่อวันที่ผ่านมา นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายในการประชุมเชิงปฏิบัติการเตรียมการอบรม “PLC (Professional Learning Community) : ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ” แก่ผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งเป็นข้าราชการครูและผู้บริหารโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาในเขตภาคเหนือ ณ โรงแรมบางกอก พาเลซ โดยมีนายอำนาจ วิชยานุวัติ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้บริหารสถานศึกษา และนักวิชาการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เข้าร่วมประชุม

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการมีแนวทางส่งเสริมให้มีการอบรม PLC (Professional Learning Community) หรือ “ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ” ให้กับครูและผู้บริหารสถานศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งแนวคิดของการอบรม PLC คือ การนำคนมาอยู่รวมกัน เกิดการเรียนรู้ และแบ่งปันความรู้กันระหว่างผู้เข้าร่วมอบรม จนกระทั่งเกิดการสะท้อนความคิดในด้านต่าง ๆ ที่จะเป็นแนวทางการพัฒนา

อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มภาระให้กับครู และไม่ให้เกิดการใช้เวลาในการอบรม PLC มากจนกระทั่งครูไม่มีเวลาสอนเด็กในชั้นเรียน จึงจะกำหนดให้ครูสามารถนำชั่วโมงการอบรม PLC ไปรวมกับจำนวนชั่วโมงการสอนหนังสือที่จะใช้เป็นเกณฑ์ในการเลื่อนวิทยฐานะ ตามหลักเกณฑ์ใหม่ที่จะประกาศใช้ในเร็ว ๆ นี้ได้ด้วย

นอกจากนี้ จากการที่ได้มีการหารือกับผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ทำให้เกิดแนวคิดที่จะจัดตั้ง “สถาบันคุรุพัฒนา” ซึ่งเป็นสถาบันที่จะทำหน้าที่ในการพิจารณาหลักสูตรที่จะใช้อบรม PLC ซึ่งทุกคนสามารถให้รายละเอียดหลักสูตรที่จะใช้อบรม PLC ให้สถาบันคุรุพัฒนาพิจารณาได้ และเมื่อผ่านการพิจารณาแล้วก็จะมีรายชื่อของหลักสูตรการอบรมนั้น ๆ เพื่อให้ครูแต่ละคนสามารถเลือกเข้าอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ ได้เองตามเกณฑ์ที่กำหนดสำหรับการเลื่อนวิทยฐานะในแต่ละขั้น โดยกระทรวงศึกษาธิการจะมีคูปองการอบรมให้ครูรายละ 10,000 บาท

การอบรม PLC ถือเป็นการพัฒนาบุคลากรโดยเริ่มจากล่างขึ้นบน (Bottom Up) อย่างแท้จริง แทนที่จะสั่งการจากส่วนบนลงมา ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดของการอบรม PLC อยู่ที่การเรียนรู้ (Learning) กล่าวคือ ผู้เข้าอบรมต้องรู้ว่าวันนี้ได้เรียนรู้และแบ่งปันความรู้อะไรบ้าง และจะทำอย่างไรให้ความรู้จากการอบรมส่งผลถึงคุณภาพการศึกษาของเด็ก ไม่ใช่คำนึงถึงวิทยฐานะเพียงอย่างเดียว แต่วิทยฐานะเป็นเพียงรางวัลตอบแทนว่าครูมีความเก่งแค่ไหน ซึ่งการอบรม PLC ต้องมีเกณฑ์ตัวชี้วัดที่ชัดเจน โดยจะมีผู้ประเมินการอบรม เช่น อาจจะให้ศึกษานิเทศก์สุ่มตรวจการจัดอบรมตามหลักสูตรต่าง ๆ

นพ.ธีระเกียรติ กล่าวด้วยว่า บางคนเป็นครูที่สอนเก่ง แต่อาจยังไม่มีผลงานก็ได้ อีกทั้งตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลของ ก.ค.ศ. ก็ไม่มีข้อใดระบุให้ครูต้องจัดทำผลงานทางวิชาการที่มีลักษณะเหมือนวิทยานิพนธ์เพื่อขอเลื่อนวิทยฐานะ ดังนั้น หากจะพิจารณาว่าครูคนใดเก่ง ก็ต้องไปดูว่านักเรียนเก่งได้อย่างไร ครูจึงจำเป็นจะต้องมีประสบการณ์และมีชั่วโมงการสอนที่อยู่ในเกณฑ์ที่ได้มาตรฐาน พร้อมกับมีการพัฒนาอบรมด้วยตนเองตามหลักสูตร PLC ที่ครูสามารถเลือกอบรมได้เอง

ร่วมแสดงความคิดเห็น