แม่โจ้จัดประชุมฯ นานาชาติ ด้าน “บริหารธุรกิจ” ครั้งที่ 5

เมื่อวันที่ผ่านมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิคม มูลเมือง รักษาราชการแทนรองอธิการบดี ม.แม่โจ้ เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติด้านบริหารธุรกิจ ครั้งที่ 5 จัดโดยคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยมีผู้บริหาร คณาจารย์ นักศึกษาหลายสถาบันทั้งในและต่างประเทศร่วมกระชุมคับคั่ง ณ โรงแรมดิเอ็มเพรส จ.เชียงใหม่

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิคม มูลเมือง รักษาราชการแทนรองอธิการบดี ม.แม่โจ้ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีพันธกิจในการสร้างผลงานวิจัยนวัตกรรมและองค์ความรู้ ในสาขาวิชาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางการเกษตรและวิทยาศาสตร์ประยุกต์ เพื่อการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่สังคม ซึ่งเป็นพันธกิจหนึ่งของมหาวิทยาลัย และคณะบริหารธุรกิจ เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการผลักดันนโยบายของมหาวิทยาลัย ทั้งในด้านการจัดการเรียนการสอน การวิจัย และการบริหารวิชาการ อีกทั้ง การสร้างพันธมิตรทางวิชาการเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งด้านวิชาการให้มากยิ่งขึ้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิคม กล่าวต่อว่า การจัดการประชุมเชิงวิชาการระดับชาติและนานาชาติด้านการบริหารธุรกิจ ครั้งที่ 5 ในครั้งนี้ หวังว่าจะช่วยให้ นิสิต นักศึกษา นักวิชาการ นักวิจัย และผู้สนใจ จะได้รับประโยชน์ในการนำเสนอผลงานทางวิชาการ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างกัน และเพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาความสัมพันธ์ทางวิชาการที่ลึกซึ้งและมั่นคงในอนาคต ซึ่งในโอกาสนี้ คณะบริหารธุรกิจ ยังได้รับเกียรติจาก คุณปรกชล พรมกังวาน ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีอากาศยาน บริษัท S.A.T.I Platform จำกัด / อาจารย์ ดร.ศิวัตม์ สายบัว นายกสมาคมเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร (ATIA) / คุณกันตพงษ์ แก้วกมล ประธานเครือข่าย Young Smart Farmer แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ มาถ่ายทอดและร่วมเสวนาหัวข้อ “นวัตกรรมเกษตรไทย ยุค 4.0 จาก 3 ภาคส่วน” ให้แก่ผู้เข้าร่วมงานด้วย

ด้านดร.ปิยวรรณ สิริประเสริฐ คณบดีคณะบริหารธุรกิจ ม.แม่โจ้ กล่าวว่า การสร้างบัณฑิตด้านบริหารธุรกิจที่มีคุณภาพนั้น นอกจากการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและสอดคล้องกับนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” บนโลกที่มีพลวัตด้วยเทคโนโลยี-ดิจิทัล แห่งศตวรรษที่ 21 แล้ว ยังต้องมีการพัฒนางานวิชาการและวิจัย เพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม สังคม และประเทศชาติ ด้วย

การประชุมเชิงวิชาการระดับชาติและนานาชาติด้านบริหารธุรกิจ จึงเป็นการสนับสนุนนโยบายของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อก้าวไปสู่สถาบันการศึกษาที่มีความเป็นเลิศด้านการวิจัย ซึ่งทางคณะฯ หวังว่าการประชุมเชิงวิชาการฯ ในครั้งนี้ จะเป็นการสร้างบรรยากาศและเครือข่ายด้านการวิจัยระหว่างมหาวิทยาลัย ให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และการแก้ไขปัญหาที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพผลงาน และเป็นเวทีเสนอผลงานจากดุษฎีนิพนธ์ วิทยานิพนธ์ ภาคนิพนธ์ และการค้นคว้าอิสระของนิสิตนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา และบุคคลทั่วไป ได้มีโอกาสเผยแพร่ผลงานทางวิชาการสู่สาธารณะชน และรวบรวมผลงานวิจัยเป็นรายงานการประชุมวิชาการหรือวารสารวิชาการต่อไป

สำหรับการประชุมวิชาการฯ ในครั้งนี้ คณะฯ แบ่งการจัดงานออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 การเสวนาหัวข้อ “นวัตกรรมเกษตรไทย ยุค 4.0 จาก 3 ภาคส่วน” โดยคุณปรกชล พรมกังวาน ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีอากาศยาน บริษัท S.A.T.I Platform จำกัด, อาจารย์ ดร.ศิวัตม์ สายบัว นายกสมาคมเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร (ATIA) และคุณกันตพงษ์ แก้วกมล ประธานเครือข่าย Young Smart Farmer แห่งประเทศไทย และส่วนที่ 2 การนำเสนอผลงานทางวิชาการ ซึ่งมีนิสิตนักศึกษา นักวิชาการ และนักวิจัย ร่วมนำเสนอผลงานทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ด้านบริหารธุรกิจ จำนวนทั้งหมด 160 เรื่อง ในสาขาต่างๆ ดังนี้ 1.สาขาการจัดการ 2.สาขาการตลาด 3.สาขาบัญชีการเงิน และ 4.สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ นอกจากนี้ในการประชุมวิชาการครั้งนี้ คณะบริหารธุรกิจ ยังได้รับเกียรติจากเครือข่ายมหาวิทยาลัยต่างๆ จากทั่วประเทศ ได้แก่ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัย ราชภัฏอุตรดิตถ์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาร่วมประชุมอีกด้วย ดร.ปิยวรรณ กล่าว

ทั้งนี้ภายในงานยังมีการมอบรางวัลให้แก่ผู้ที่ได้รับรางวัลบทความวิจัย แบ่งเป็น 2 ระดับได้แก่ ระดับบัณฑิตศึกษา ได้แก่ 1.รางวัลบทความวิจัยดีเยี่ยม อันดับ 1 ระดับบัณฑิตศึกษา บทความที่ 143 ความสัมพันธ์ระหว่างคุณลักษณะของคณะกรรมการบริษัทกับราคาหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพ์แห่งประเทศไทย โดย นิตยา กันทะยวง (ม.เชียงใหม่) 2.รางวัลบทความวิจัยดีเยี่ยม อันดับ 2 ระดับบัณฑิตศึกษา บทความที่ 154 การศึกษาช่องทางการจัดจำหน่ายของธุรกิจเกษตรทุเรียนหลงลับแล จ.อุตรดิตถ์ โดย ภาศิริ เขตปิยรัตน์ (ม.ราชภัฏอุตรดิตถ์) 3.รางวัลบทความวิจัยดีเยี่ยม อันดับ 3 ระดับบัณฑิตศึกษา บทความที่ 130 E-commerce Customer Satisfaction Evaluation Of Chinese Third Party Logistics Service Providers : Case Study Of Yunnan,China โดย ภูมิพัฒน์ มิ่งมาลันรักษ์ (ม.แม่ฟ้าหลวง) , บทความที่ 146 การประยุกต์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ต่อการเพิ่มมูลค่าสินค้า โดย นภัส ร่มโพธิ์ (ม.แม่ฟ้าหลวง) และ บทความที่ 155 คุณภาพชีวิตในการทำงานที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานและความผู้พันธ์ต่อองค์กรของพนักงาน กรณีศึกษา พนักงานโรงแรมที่ทำงานเป็นกะ ในอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดย ชีวาพร วงค์คม (ม.แม่โจ้)

ส่วนระดับปริญญาตรี ได้แก่ 1. รางวัลบทความวิจัยดีเยี่ยม อันดับ 1 ระดับปริญญาตรี บทความที่ 79 รูปแบบกลยุทธ์การตลาดเชิงสร้างสรรค์คาเฟ่ออร์แกนิค ร้านออร์แกนิคศัพพลาย เขตลาดพร้าว กทม. โดย วรภัทร วงศ์วัฒนากูล 2.รางวัลบทความวิจัยดีเยี่ยม อันดับ 2 ระดับปริญญาตรี บทความที่ 4 การศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการยอมรับการใช้งาน SU REG INFO Application ของนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบรี โดย กฤษณะ มีทรงธรรม 3.รางวัลบทความวิจัยดีเยี่ยม อันดับ 3 ระดับปริญญาตรี บทความที่ 78 สภาพปัญหาและแนวทางการส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวปางช้างเผือกดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี โดย ลักษณมณ ศรีอนันต์ , บทความที่ 18 รูปแบบและกลยุทธ์ทางการตลาดของผู้ประกอบการธุรกิจร้านนมสดมิลค์แมน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดย เจนจิรา มีจันทร์ , บทความที่ 94 แนวทางการพัฒนาพื้นที่การเกษตรสู่การเป็นเมืองแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร : กรณีศึกษาสวนตาลบังเละ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี โดยสิริลักษณ์ แป้นแหลม และ บทความที่ 20 รูปแบบกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจร้านอาหาร “แอลเอ เบเกอรี่” ณ ฝั่งธนบุรี กทม. โดยชญานุตน์ ธาราพงษ์

ร่วมแสดงความคิดเห็น