ลงพื้นที่ การดำเนินโครงการหลวง

ติดตามผล…………นายพิภพ ชำนิวิกัยพงศ์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. พร้อมด้วย นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผวจ.เชียงใหม่ และผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืน บ้านป่าเกี๊ยะใหม่ ต.เมืองคอง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ หลังดำเนินการปรามปรามพื้นที่ปลูกฝิ่น พัฒนาเป็นแปลงเกษตรตัวอย่าง

การดำเนินโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืน บ้านป่าเกี๊ยะใหม่ ต.เมืองคอง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ หลังดำเนินการปรามปรามพื้นที่ปลูกฝิ่น พัฒนาเป็นแปลงเกษตรตัวอย่าง ปลูกผลผลิตทางการเกษตรผลักดันให้คนในพื้นที่มีรายได้และบำบัดผู้เสพติดฝิ่นในพื้นที่

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 10 มี.ค.60 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิภพ ชำนิวิกัยพงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) พร้อมด้วย นายปวิน ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายอำเภอเชียงดาว เจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) คณะอนุกรรมการโครงการขยายผลโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืน และส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ศูนย์ปฏิบัติการโครงการขยายผลโครงการหลวง บ้านป่าเกี๊ยะใหม่ ต.เมืองคอง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เพื่อติดตามผลการดำเนินโครงการ และชมแปลงเกษตรตัวอย่างหลังจากได้รับการพัฒนา

โดยทาง นายพิภพ ชำนิวิกัยพงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เปิดเผยว่า พื้นที่ศูนย์ฯ บ้านป่าเกี๊ยะใหม่ ต.เมืองคอง อ.เชียงดาว ดำเนินงานครอบคลุมในพื้นที่ 12 หมู่บ้าน 2 อำเภอ คือ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ และ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ปัจจุบัน สามารถลดพื้นที่ฝิ่นจากปี 2555 จำนวน 128 ไร่ ให้กลายเป็นแปลงเกษตร เพาะปลูกผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นพืชเศรษฐกิจ เช่น ไร่กาแฟ เสาวรส ลูกพลับ อโวคาโด แมคคาดีเมีย ถั่วนิ้วนางแดง โดยมีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการกว่า 1 พัน 45 ครัวเรือน นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนา บำบัดผู้เสพติดฝิ่นในพื้นที่โดยการให้ยาเมทาโดนทดแทนและส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน จนมีผู้ผ่านการบำบัดและมีความมั่นคงทางการบริโภค และมีอาชีพได้อย่างมั่นคง

ทั้งนี้ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวต่ออีกว่า โครงการดังกล่าว เป็นการขยายผลความสำเร็จของโครงการหลวง และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการมุ่งลดปัญหาการปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืน ปัจจุบันมีทั้งหมด 11 ศูนย์ปฏิบัติการ ครอบคลุม 126 หมุ่บ้าน ใน 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และตาก โดยเริ่มดำเนินการมาแล้วกว่า 7 ปี สามารถลดสถานการณ์พื้นที่ปลูกฝิ่นลงได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ มีทางเลือกภาคการเกษตรในการปลูกพืชเมืองหนาวทดแทนฝิ่น สำหรับผู้เสพและผู้ติดฝิ่น ก็ได้รับโอกาสในการบำบัดรักษาอย่างต่อเนื่องจากโรงพยาบาลธัญญารักษ์ และโรงพยาบาลประจำอำเภอ

ร่วมแสดงความคิดเห็น