จัด 17 รอบเวร แม่งัดส่งน้ำปิง ประปา ได้คิว 1

จัดสรรน้ำ………นายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผส.ชป.1 เชียงใหม่ แจงแผนการบริหารจัดการน้ำจากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ราว 153 ล้าน ลบ.ม. ยังจะส่งน้ำแบบขั้นบันได ปล่อยให้เย็นวันศุกร์เปิดใช้พร้อมกันเช้าวันจันทร์ รวมทั้งสิ้น 17 รอบเวร ตามข่าว

จัด 17 รอบเวรส่งน้ำให้ทุกกิจกรรมลุ่มน้ำปิง ชลประทานแจงแผน ยังใช้แนวทางการบริหารจัดการเหมือนแล้งปีที่ผ่านมา ส่งน้ำจากแม่งัดลงแม่น้ำปิงช่วงเย็นวันศุกร์ตลอดทั้งลำน้ำเปิดใช้พร้อมกันเช้าวันจันทร์ พร้อมเผยปีที่แล้วปริมาณน้ำปิงน้อยที่สุดในรอบ 65 ปี ส่วนปีนี้มีน้ำเพิ่มมากกว่าแค่ 2.5 เท่า จ่ายน้ำให้มากกว่าปีที่แล้วเช่นกันโดยจ่ายสูงสุดในสัปดาห์ที่ 2 เดือนพฤษภาคม ยังให้ความสำคัญกับน้ำดิบผลิตน้ำประปาเป็นอันดับแรกเคาะตัวเลขแล้วจ่ายน้ำให้ 1.47 ล้าน ลบ.ม.ต่อสัปดาห์ ประเด็นน้ำจากคลองแม่ข่ายังน่าห่วง ยันต้องเข้มการประสานการเปิดปล่อยลงแม่น้ำปิงหวั่นผลกระทบพื้นที่ตอนท้ายเมืองเชียงใหม่

นายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ หรือ ผส.ชป.1 เชียงใหม่ กล่าวว่า วันที่ 3 มี.ค.60 ที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศเป็นวันเริ่มต้นของฤดูร้อน ช่วงนี้จึงเป็นช่วงเริ่มต้นของการเข้าสู่แล้งด้วยเช่นกัน การบริหารจัดการน้ำปิงตอนบน ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่และลำพูน ซึ่งโดยภาพรวมนั้นแม่น้ำปิงทอดยาวมาจาก อ.เชียงดาว และจะมารวมกับน้ำแม่งัด บริเวณน้ำแม่งัดจะมีเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารจัดการน้ำ แม่น้ำปิงจะไหลลงมาเรื่อยและจะมาบรรจบกับน้ำแม่แตง ผ่านตัวเมืองเชียงใหม่ ไปบรรจบแม่น้ำกวง แม่น้ำขาน แม่น้ำลี้ แม่น้ำกลาง แม่น้ำสอย ท้ายสุดบรรจบกับแม่น้ำแจ่ม ก่อนที่จะไหลลงสู่เขื่อนภูมิพล ในภาพรวมแล้วแม่น้ำปิงจะไหลผ่าน 13 อำเภอของ จ.เชียงใหม่ และ 4 อำเภอของ จ.ลำพูน

“จากสถิติที่กรมชลประทานได้เก็บข้อมูลสถานการณ์น้ำตั้งแต่ปี 2464 ถึงปี 2559 ราว 95 ปี พบว่าแล้งที่สุดในรอบ 95 ปี คือปี 2558 ที่ผ่านมา โดยปริมาณน้ำในแม่น้ำปิงมีอยู่แค่เพียง 333 ล้าน ลบ.ม. จากปริมาณแม่น้ำปิงที่กรมชลประทานประเมินไว้เฉลี่ยราว 1,784 ล้าน ลบ.ม. ปีที่แล้วจึงถือได้ว่าเป็นปีที่วิกฤติที่สุดในรอบ 90 ปีของแม่น้ำปิง สำหรับปีนี้ปริมาณน้ำมีอยู่ราว 839 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปีที่แล้ว 2.5 เท่า ซึ่งเป็นปริมาณที่อยู่ในเกณฑ์ที่จะบริหารจัดการได้ เพราะมีบทเรียนจากวิกฤติน้ำเมื่อปีที่แล้วเป็นฐานในการบริหารจัดการ” ผส.ชป.1 เชียงใหม่ แจง

นายจานุวัตรฯ กล่าวต่อว่า สำหรับการบริหารจัดการน้ำลำดับที่ 1 ที่ให้ความสำคัญคือน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค เรื่องน้ำประปา แต่ละสัปดาห์ใช้น้ำสำหรับการผลิตน้ำประปาอยู่ราว 1.47 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นสถานีประปาที่อุโมงค์ ต.สุเทพ ฝั่งตะวันตกของเมือง 12 เปอร์เซ็นต์ ฝั่งตะวันออกคือที่สถานีประปาแม่กวง 17 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลืออีกราว 71 เปอร์เซ็นต์ เป็นการใช้น้ำจากลุ่มแม่น้ำปิง ลำดับที่ 2 ที่พิจารณาจัดสรรน้ำให้คือการรักษาระบบนิเวศในลำน้ำปิงให้มีน้ำไหลต่อเนื่องตลอดเวลา ลำดับที่ 3 เป็นน้ำเพื่อการเกษตรซึ่งตลอดทั้งลำน้ำมีพื้นที่การเกษตรอยู่ราว 513,000 ไร่ โดยมีการเพาะปลูกอยู่ราว 80 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้หากแยกย่อยลงไปในรายละเอียดของการใช้น้ำภาคการเกษตรและการประปาในแต่ละช่วง แบ่งได้เป็น พื้นที่เพาะปลูกแม่แตง 68,728 ไร่ น้ำสำหรับประปา 180,000 ลบ.ม.ต่อสัปดาห์ พื้นที่เพาะปลูกแม่กวง 69,200 ไร่ น้ำประปา 250,000 ลบ.ม.ต่อสัปดาห์ พื้นที่เพาะปลูกแม่งัด 68,100 ไร่ น้ำประปา 25,000 ลบ.ม.ต่อสัปดาห์ พื้นที่เพาะปลูกอ่างขนาดกลาง 16 แห่ง 140,800 ไร่ และพื้นที่เพาะปลูก จ.ลำพูน 24,563 ไร่

“ภาพรวมปริมาณน้ำที่มีอยู่ขณะนี้ พบว่าที่เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลมีปริมาณน้ำกักเก็บราว 58 เปอร์เซ็นต์ หรือราว 153 ล้าน ลบ.ม. ส่วนที่เขื่อนแม่กวงอุดมธารามีปริมาณน้ำราว 32 เปอร์เซ็นต์ หรือราว 85 ล้าน ลบ.ม. ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลางทั้ง 16 แห่ง มีน้ำอยู่ราว 60 เปอร์เซ็นต์ อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่มีความจุเกินกว่า 1 แสน ลบ.ม.อยู่กระจายในเชียงใหม่และลำพูน จำนวน 164 แห่ง มีน้ำอยู่ราว 65 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่ฝายแม่แตง ซึ่งไม่มีอ่างเก็บน้ำ ปริมาณน้ำดีกว่าปีที่แล้ว 30 เปอร์เซ็นต์ หากเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นปีที่แล้งที่สุดในรอบ 65 ปี พบว่าปริมาณน้ำที่มีอยู่ขณะนี้โดยรวมมีมากกว่าปีที่แล้วราว 2.5 เท่า” ผส.ชป.1 กล่าว

การจัดสรรน้ำของเขื่อนแม่งัดฯ ฤดูแล้ง ปี 2559/60 ซึ่งเขื่อนแม่งัดฯ มีน้ำอยู่ราว 153 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำที่ใช้การ 141 ล้าน ลบ.ม. โดยกำหนดแผนการจัดสรรน้ำตามลำดับความสำคัญ คือ จัดสรรให้พื้นที่ในเขตโครงการแม่แฝก-แม่งัดฯ 50 ล้าน.ลบ.ม. ส่งให้แล้ว 14 ล้าน ลบ.ม. น้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคและการเกษตรพื้นที่รวม 68,728 ไร่ พื้นที่ตลอดลำน้ำปิงใน จ.เชียงใหม่และลำพูน 78 ล้าน.ลบ.ม. ส่งให้แล้ว 13 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำสำหรับการประปาและพื้นที่เพาะปลูก รวม 140,800 ไร่ ทั้งนี้มีการเก็บน้ำไว้อีกราว 35 ล้าน ลบ.ม. สำหรับการเตรียมแปลงตกกล้าช่วงต้นฤดูฝนปี 2560 หรือเผื่อเหตุฉุกเฉิน เหตุวิกฤติที่อาจมีขึ้น ส่วนน้ำที่ใช้การไม่ได้ หรือ Dead storage จะมีอยู่ราว 12 ล้าน ลบ.ม. ด้านการบริหารจัดการน้ำลุ่มแม่น้ำปิงตอนท้ายประตูระบายน้ำท่าวังตาล จะส่งน้ำสำหรับพื้นที่การเกษตร 140,800 ไร่ ซึ่งทำการเพาะปลูกไปแล้ว พร้อมกับส่งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค หรือน้ำประปา มีจำนวน 8 สถานี เป็นสถานีในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ 7 สถานี จ.ลำพูน 1 สถานี ปริมาณน้ำดิบที่ใช้สำหรับการผลิตน้ำประปา 1.2 ล้าน ลบ.ม.สัปดาห์

ผส.ชป.1 เชียงใหม่ กล่าวอีกว่า การส่งน้ำโดยภาพรวมในปีนี้ยังจะใช้แนวทางการส่งน้ำในลักษณะเดียวกันกับปีที่ผ่านมา แต่ปริมาณน้ำจะส่งมากกว่าเดิม โดยส่งเป็นรวบเวรรวมทั้งสิ้น 17 รอบเวรไปสิ้นสุดสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม โดยเริ่มส่งน้ำตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ในปริมาณที่ราว 2.4 ล้าน ลบ.ม. เมื่อเทียบกับปีที่แล้วจะส่งน้ำราว 0.8 ล้าน ลบ.ม. ส่งน้ำไปทั้งหมดแล้ว 5 รอบ โดยในเดือนมีนาคมได้เพิ่มปริมาณน้ำที่ส่งในแต่ละรอบเวร โดยสัปดาห์ที่ 2 เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่งน้ำราว 4.86 ล้าน ลบ.ม. สัปดาห์ที่ 3 ส่งน้ำที่ 5.53 ล้าน ลบ.ม. สัปดาห์ที่ 4 ส่งน้ำที่ 6.91 ล้าน ลบ.ม. เดือนเมษายนส่ง 4 รอบเวร รอบละ 5.01 ล้าน ลบ.ม. เดือนพฤษภาคม สัปดาห์แรกส่งน้ำที่ 6.05 ล้าน ลบ.ม. สัปดาห์ที่ 2 จะเป็นรอบเวรที่ส่งน้ำมากที่สุดราว 7.95 ล้าน ลบ.ม. สัปดาห์ที่ 3 ส่งน้ำราว 6.05 ล้าน ลบ.ม. และจะลดปริมาณลงในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม ส่งน้ำราว 3.80 ล้าน ลบ.ม.

“สำหรับการใช้น้ำในปีนี้ยังคงต้องใช้ด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างมากเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา แม้ว่าน้ำจะมีปริมาณที่มากกว่าปีที่ผ่านมาก็ตาม แต่ยังไม่มากถึงขนาดที่จะใช้ทิ้งใช้ขว้างได้ การจัดสรรน้ำให้ก็ยังจะจัดสรรให้เป็นรอบเวร หลักการยังจะเป็นการส่งน้ำในลักษณะขั้นบันใดโดยจะจ่ายน้ำตั้งแต่ช่วงเย็นวันศุกร์ หยุดการใช้น้ำในวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ แล้วมาเปิดใช้น้ำพร้อมกันในเช้าวันจันทร์ของแต่ละสัปดาห์ ประเด็นของน้ำจากคลองแม่ข่าที่จะถูกปล่อยลงแม่น้ำปิงบริเวณบ้านดอนชัย ต.ป่าแดด ยังเป็นข้อกังวลอยู่เช่นเดิมเหมือนปีที่ผ่านมา เพราะยังจะต้องคอยจัดสรรน้ำส่วนหนึ่งเพื่อการเจือจางไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ใช้น้ำช่วงท้ายเมืองเชียงใหม่ เรื่องนี้ต้องมีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการร่วมกันอย่างใกล้ชิดเหมือนปีที่ผ่านมาเช่นกัน” นายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผส.ชป.1 เชียงใหม่ กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น