กรมฝนหลวง น้อมนำศาสตร์ “พระราชา” บรรเทาหมอกควัน ในพื้นที่เหนือตอนบน

น้อมนำ……..นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีฝนหลวงฯ เยี่ยมศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ และเปิดตัวโครงการศึกษาการปฏิบัติการดัดแปรสภาพอากาศ โครงการที่น้อมนำศาสตร์พระราชามาดำเนินการเพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควัน

กรมฝนหลวงน้อมนำศาสตร์พระราชาบรรเทาปัญหาหมอกควัน อธิบดีแจงเองดำเนินการเป็นปีแรก วางแผนปฏิบัติการทันทีในพื้นที่ที่ค่า PM10 สูงๆ พร้อมเฝ้าติดตาม Inversion Layer เป้าหมายสำคัญที่จะโปรยสารฝนหลวงสูตรเย็นเพื่อให้เกิดการดัดแปรสภาพอากาศดึงอากาศจากระดับพื้นยกตัวสูงขึ้นจะส่งผลให้ฝุ่นละอองที่มีอยู่มากในระดับพื้นกระจายตัวและลดปริมาณความเข้มลงได้ พร้อมเตรียมออกปฏิบัติการลดความรุนแรงของพายุลูกเห็บโดยอาศัยซิลเวอร์ไอโอไดด์ซึ่งได้จากศาสตร์พระราชาจัดการ

วันที่ 13 มี.ค.60 ที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีฝนหลวงและการบินเกษตร เดินทางมาตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้แก่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ พร้อมกับเปิดเผยว่า จากปัญหาหมอกควันไฟป่าที่เกิดขึ้นบริเวณภาคเหนือของประเทศไทยในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน เป็นประจำทุกปี ซึ่งสร้างผลกระให้แก่ประชาชนและจังหวัดทางภาคเหนือมากมาย ทั้งเรื่องสุขภาพ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยว ทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้คิดค้นศึกษาวิจัยเทคนิคและรูปแบบการบินเพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้น ภายใต้โครงการศึกษาการปฏิบัติการดัดแปรสภาพอากาศ เพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ โดยใช้แนวคิดจากการใช้สารฝนหลวงตามตำราฝนหลวงพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ในขั้นตอนที่ 4 ซึ่งใช้สารฝนหลวงสูตรเย็นจัดหรือน้ำแข็งแห้ง โปรยในบริเวณเหนือชั้นบรรยากาศอุณหภูมิผกผัน อันจะทำให้บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิลดต่ำลงและส่งผลให้ฝุ่นละอองสามารถลอยขึ้นบรรยากาศระดับบนได้

“สำหรับการปฏิบัติการดัดแปรสภาพอากาศเพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควัน จะใช้อากาศยานชนิด CASA 2 ลำ ในการโปรยสารฝนหลวงสูตรเย็นจัดหรือน้ำแข็งแห้ง และใช้เครื่องบิน Super King Air สำหรับตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงของค่าทางอุตุนิยมวิทยาและความเข้มข้นของฝุ่นละออง จำนวน 1 ลำ ปฏิบัติการร่วมกันด้วย โดยมีเป้าหมายในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ จ.ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน ตาก พะเยา และ จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งจะพร้อมปฏิบัติการในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม 2560” อธิบดีกรมฝนหลวงฯ กล่าว

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในเรื่องการยับยั้งที่กล่าวมานี้ยังจะมีการขยายผล ไม่ใช้ดำเนินการเพียงแต่ช่วงสั้นๆ แล้วก็เลิกไป จะเข้าไปดำเนินการในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนด้วย ในส่วนที่เครื่องบิน Super King Air สามารถบินไปถึงได้ ถือว่าเป็นเรื่องดีในปี 2560 ที่จะเกิดขึ้น อีกเรื่องคืนการสลายหมอกควันในชั้นบรรยากาศอุณหภูมิผกผัน หรือ Inversion Layer ซึ่งเป็นโครงการใหม่ที่เกิดขึ้นมา โดยเป็นโครงการที่เริ่มต้นการวิจัยในปี 2560 นี้

“เรื่องการสลายหมอกควันฝนตกจะเป็นเรื่องที่ดีที่สุดในการจะสลายหมอกควัน จะช่วยลดอุณหภูมิ ในขณะเดียวกันเมื่อฝนตกก็จะเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ดิน ให้แก่พืชซึ่งมีความต้องการน้ำตลอดเวลาอยู่แล้ว หากแต่ว่าในช่วงฤดูร้อนพื้นที่ภาคเหนือตอนบนนั้นมีปัญหาเรื่องความชื้นสัมพัทธ์ในเรื่องของการที่จะปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อมาสลายหมอกควัน จึงเป็นที่มาของโครงการดัดแปลงสภาพอากาศเกิดขึ้น โดยการใช้สูตรของพระราชาคือขั้นตอนในการโจมตีโดยใช้สูตรเย็นเอาไปโปรยในบริเวณนั้นซึ่งจะเกิดความควบแน่นตกลงกลายเป็นฝน โดยระดับ Inversion Layer ที่โปรยสารสูตรเย็นจะมีการปรับอุณหภูมิที่สูงให้ลดลงซึ่งจะทำให้อากาศข้างล่างลงมากว่านั้นก็จะยกตัวขึ้นทำให้ฝุ่นละอองในอากาศก็จะกระจายตัวยกสูงขึ้น เป็นเรื่องที่จะเริ่มดำเนินการในปีนี้” อธิบดีกรมฝนหลวงฯ กล่าว

นายสุรสีห์ฯ กล่าวอีกว่า การดำเนินการจะเริ่มเมื่อ Inversion Layer ซึ่งมีการเฝ้าติดตามตรวจสอบอยู่ตลอดไปเรื่อยๆ หากชัดเจนมากขึ้น ก็จะมีการขึ้นปฏิบัติการโดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ที่มีค่า PM10 สูงๆ จะเป็นพื้นที่ที่โครงการจะเข้าไปปฏิบัติการทันที ซึ่งหากได้ผลตามที่ตั้งเป้าไว้ ต่อไปก็ไม่ต้องคำนึงถึงว่าในช่วงไฟป่าหมอกควันช่วงไหนจะทำฝนได้ ปฏิบัติการดัดแปรสภาพอากาศนี้จะเป็นตัวช่วยในการแก้ปัญหาหมอกควันได้ ซึ่งจะมีประโยชน์มิใช่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น อย่างประเทศอินโดนีเซียซึ่งประสบปัญหาไฟป่าหมอกควันคงเข้ามาศึกษาดูงานอย่างแน่นอน ปฏิบัติการนี้คือเทคนิคหนึ่งที่ขยายมาจากศาสตร์พระราชา

อธิบดีกรมฝนหลวงฯ กล่าวต่อว่า สำหรับอีก 1 โครงการ จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นภารกิจในยุทธศาสตร์ที่ 1 ของกรมฝนหลวงฯ โดยภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อน คือการเกิดพายุฤดูร้อนและลูกเห็บ กรมฝนหลวงฯ จึงเตรียมความพร้อมในการบรรเทาความรุนแรงจากภัยดังกล่าวด้วยเทคนิคการปฏิบัติการฝนหลวง ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งในการดัดแปรสภาพอากาศ ภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อยับยั้งความรุนแรงจากพายุลูกเห็บ โดยใช้เทคนิคการดัดแปรสภาพอากาศที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานไว้ในตำราฝนหลวงพระราชทาน ซึ่งจะใช้เครื่องบินแบบปรับความดัน เครื่องบิน Super King Air 350 และสารฝนหลวงซิลเวอร์ไอโอไดด์ ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับแกนของผลึกน้ำแข็งในธรรมชาติ เพิ่มแกนผลึกน้ำแข็งให้มากกว่าการปฏิบัติการเมฆเย็นตามปกติ ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการเกิดลูกเห็บได้ เนื่องจากแกนผลึกน้ำแข็งปริมาณมาก ที่เพิ่มเข้าไปในเมฆเย็นจะไปแย่งเม็ดน้ำเย็นยิ่งยวด ทำให้เกิดผลึกน้ำแข็งขนาดเล็กปริมาณมาก เมื่อเกิดฝนตกผลึกน้ำแข็งขนาดเล็กเหล่านี้จะละลายก่อนที่จะตกถึงพื้น สามารถลดความเสียหายได้

“อย่างไรก็ตาม โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อยับยั้งความรุนแรงจากพายุลูกเห็บ มีแผนปฏิบัติการ 2 ช่วง คือ ในเดือนมีนาคม จะใช้เครื่องบิน Super King Air 350 ของ กรมฝนหลวงฯ ปฏิบัติการในพื้นที่ภาคเหนือ และในเดือนเมษายน จะใช้เครื่องบินเครื่องบินโจมตี แบบที่ 7 หรืออัลฟ่าเจ็ท จากกองทัพอากาศ ซึ่งเป็นเครื่องบินที่มีสมรรถนะสูงและมีความเร็วในการเข้าถึงเป้าหมาย ปฏิบัติการเพิ่มเติมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกด้วย ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว ยังเป็นการเพิ่มองค์ความรู้ในการดัดแปรสภาพอากาศและบูรณาการแจ้งเตือนภัยพิบัติได้อีกด้วย เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไปสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ที่เพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร หรือ www.royalrain.go.th” นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น