โครงการวิจัย…..การประเมินประสิทธิภาพ การล้างเครื่องมือโดยการทดสอบคราบโปรตีน

โครงการวิจัย “การประเมินประสิทธิภาพการล้างเครื่องมือโดยการทดสอบคราบโปรตีน” เป็นการพัฒนางานประจำด้วยการวิจัย ในครั้งนี้เป็นการทำวิจัยในลักษณะบูรณาการจากหลายวิชาชีพและสามารถนำผลงานวิจัยมาใช้งานได้จริงหลังจากงานวิจัยบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยทีมวิจัยมาจากหลากหลายวิชาชีพซึ่งประกอบด้วย คุณชฎานันท์ ประเสริฐปั้น และคุณวันทนีย์ มาลัยหวล ซึ่งเป็นพยาบาลวิชาชีพ สังกัดหน่วยจ่ายกลาง โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ อาจารย์ ดร. ภก.เฉลิมพงษ์ แสนจุ้ม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ภก.ดร.พิสิฐ อุ่ยรุ่งโรจน์ บริษัท โพสเฮลท์แคร์ จำกัด

โจทย์ของงานวิจัยนั้นสืบเนื่องมาจากมีอุปกรณ์ปราศจากเชื้อที่ไม่ได้ใช้งานแต่หมดระยะเวลาการคงสภาพปราศจากเชื้อ ต้องเข้ามาผ่านกระบวนการทำปราศจากเชื้อซ้ำก่อนที่จะนำไปใช้กับผู้ป่วยนั้นมีความจำเป็นต้องทำการล้างทำความสะอาดก่อนหรือไม่ โดยทำการเปรียบเทียบขั้นตอนการทำปราศจากเชื้อซ้ำทั้งหมด 3 วิธีคือ 1) อุปกรณ์ผ่านการล้างด้วยมือจำนวน 35 ตัวอย่าง 2) อุปกรณ์ผ่านการล้างด้วยเครื่องจำนวน 40 ตัวอย่าง 3) อุปกรณ์ที่ไม่ผ่านกระบวนการล้าง 25 ตัวอย่าง

โดยอุปกรณ์ที่ผ่านกระบวนการทั้ง 3 กลุ่มจะถูกวิเคราะห์ด้วยชุดทดสอบทดสอบโปรตีนก่อนเข้าสู่กระบวนการทำปราศจากเชื้อ ซึ่งผลการทดสอบโปรตีนพบว่า 1) หลังการล้างด้วยมือ ไม่ผ่านการทดสอบโปรตีนตกค้างร้อยละ 22.80 และผ่านการทดสอบโปรตีนตกค้างร้อยละ 77.14 , 2) หลังการล้างด้วยเครื่องล้างอัตโนมัติ ไม่ผ่านการทดสอบโปรตีนตกค้างร้อยละ 17.50 และผ่านการทดสอบโปรตีนตกค้างร้อยละ 82.50 , 3) ไม่ได้รับการล้าง ไม่ผ่านการทดสอบโปรตีนตกค้างร้อยละ 56.00 และผ่านการทดสอบโปรตีนตกค้างร้อยละ 44.00

จากผลการวิจัยนั้นแสดงให้เห็นว่าอุปกรณ์ปราศจากเชื้อที่ไม่ได้ใช้งานเมื่อต้องนำมาทำความสะอาดเชื้อซ้ำ ควรนำมาทำการล้างให้สะอาดก่อนนำไปอบไอน้ำปราศจากชื้อทุกครั้ง ซึ่งผลงานวิจัยที่ได้จะเป็นประโยชน์ต่อความปลอดภัยของผู้ป่วยในการใช้อุปกรณ์การแพทย์ อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดงบประมาณรายจ่ายด้านอุปกรณ์การแพทย์ของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่อีกทางหนึ่งด้วย


นอกจากนี้ทีมวิจัยยังได้จัดทำโครงการวิจัย “การหาสภาวะที่เหมาะสมของน้ำยาล้างอุปกรณ์การแพทย์สำหรับเครื่องล้างฆ่าเชื้ออัตโนมัติ” ซึ่งทำการศึกษาถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการล้างทำความสะอาดทั้งหมด 3 ปัจจัย คือ อุณหภูมิ เวลาและความเข้มข้นของน้ำยาล้าง โดยทำการประเมินด้วยชุดทดสอบที่ได้มาตรฐานสากลทั้งหมด 4 ชนิด ผลการทดสอบพบว่าสภาวะที่เหมาะสมที่ได้นั้นสามารถลดปริมาณการใช้น้ำยาล้างสำหรับเครื่องล้างอัตโนมัติได้ถึงร้อยละ 40 ซึ่งช่วยประหยัดงบประมาณรายจ่ายของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งการวิจัยครั้งนี้เป็นต้นแบบการวิจัยจากงานประจำโดยการร่วมมือแบบสหสาขาวิชาชีพ โดยผลิตภัณฑ์น้ำยาล้างอุปกรณ์การแพทย์สำหรับเครื่องล้างอัตโนมัตินี้ได้ผ่านการวิจัยและพัฒนาโดยบริษัทของคนไทยและผลิตภายในประเทศ อีกทั้งผลงานวิจัยดังกล่าวได้รับรางวัล “Best Abstract” และ IDAT Award จากงานประชุมวิชาการนานาชาติ The 8th Interntional Congress of the Asia Pacific Society of Infection Control ซึ่งจัดประชุมเมื่อวันที่ 12-15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560 ที่ผ่านมา ณ เซนทาราแกรนด์ แอท เซลทรัลเวิร์ล

รวมทั้งเป็นการตอบรับต่อนโยบายของรัฐบาลในการเข้าสู่ “Thailand 4.0” ซึ่งเน้นการสร้างสรรค์นวัตกรรมภายในประเทศ เพื่อความมั่งคั่ง มั่นคงและยั่งยืน ต่อไปของประเทศไทย โดยทีมวิจัยต้องขอขอบพระคุณแหล่งทุนวิจัยที่สนับสนุนการวิจัยครั้งนี้ซึ่งประกอบด้วยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รวมทั้งโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์และคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มา ณ ที่นี้ด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น