“ทางเลือกสุขภาพ” (Healthier Choice) เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ ลดหวาน มัน เค็ม

นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดงาน “สัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม” ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือของบริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด พร้อมด้วย ผู้บริหารเซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ และท็อปส์ ว่า ปัจจุบันสภาพแวดล้อมทางสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้คนไทยมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารนอกบ้านและอาหารสำเร็จรูปมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาหารที่มีพลังงาน ไขมัน โซเดียม และนํ้าตาลสูง การบริโภคผักและผลไม้ที่น้อยเกินไป รวมไปถึงการไม่ออกกำลังกาย จึงถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases: NCDs) ซึ่งจากรายงานภาวะโรคและการบาดเจ็บของประชากรไทยในปี พ.ศ. 2556 พบว่า กลุ่มโรค NCDs เป็นสาเหตุการเสียชีวิตถึง 349,096 ราย หรือร้อยละ 75 ของการเสียชีวิตของประชากรไทยทั้งหมด ด้วยเหตุนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงได้ร่วมกับสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice)” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงว่าผลิตภัณฑ์อาหารนั้นได้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาแล้วว่ามีปริมาณนํ้าตาล ไขมัน และเกลือ (โซเดียม) ที่เหมาะสม ลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไตวายเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด ฯลฯ ขณะนี้มีการนำร่องใช้กับผลิตภัณฑ์อาหาร 6 กลุ่ม ได้แก่ อาหารมื้อหลัก เครื่องดื่ม เครื่องปรุงรส ผลิตภัณฑ์นม อาหารกึ่งสำเร็จรูป และขนมขบเคี้ยว โดยตัวอย่างหลักเกณฑ์การพิจารณาของกลุ่มเครื่องปรุงรส เช่น นํ้าปลา จะต้องมีโซเดียมน้อยกว่าหรือเท่ากับ 6,000 มิลลิกรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ซอสปรุงรส ซีอิ๊ว จะต้องมีโซเดียมน้อยกว่าหรือเท่ากับ 5,000 มิลลิกรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เครื่องดื่มจะต้องมีนํ้าตาลไม่เกิน 6 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เป็นต้น

ศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต หัวหน้าหน่วยรับรองสัญลักษณ์โภชนาการ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหน่วยงานทางการศึกษาที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินงานทางวิชาการร่วมกับ สสส. เพื่อให้สัญลักษณ์โภชนาการเป็นเครื่องมือในการสื่อสารข้อมูลโภชนาการที่ลดความซับซ้อนลงให้กับผู้บริโภค เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้ผู้บริโภคปรับพฤติกรรมการบริโภคให้เหมาะสมมากขึ้น ช่วยให้สามารถตัดสินใจเลือกซื้อได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งเป็นการลดปัจจัยเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ดังกล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น