อบรมพัฒนาภาคีเครือข่ายนักวิจัย แพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก

สถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทย ร่วมกับ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดประชุมและอบรมระดับภูมิภาค : ภาคเหนือ โครงการพัฒนาภาคีเครือข่ายนักวิจัยด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปีงบประมาณ 2560 โดยมี นายแพทย์สุเทพ วัชรปิยานันทน์ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มาเป็นประธานกล่าวเปิดการอบรม ณ.โรงแรมเมอร์เคียว เชียงใหม่ เมื่อวันที่ผ่านมา

นายแพทย์สุเทพ วัชรปิยานันทน์ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า การอบรมระดับภูมิภาค :ภาคเหนือ โครงการพัฒนาภาคีเครือข่ายนักวิจัยด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปีงบประมาณ 2560 มีความสำคัญต่อการพัฒนางานวิจัย พัฒนานักวิจัยด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ตลอดจนสร้างเครือข่ายนักวิจัยในระดับภูมิภาค ให้เข้มแข็งและมีศักยภาพ สามารถดำเนินงานวิจัยให้เป็นไปตามมาตรฐาน อีกทั้งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริงในระบบบริการสุขภาพ การสร้างโจทย์วิจัยจากความจำเป็นและความต้องการของระบบบริการสุขภาพในพื้นที่จึงเป็นสิ่งจำเป็น

และมั่นใจว่าการระดมสมองจากการอบรมในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้เข้ารับการอบรม การปฏิบัติหน้าที่ในระบบบริการสุขภาพ ตลอดจนการพัฒนาโจทย์วิจัยจากพื้นที่ไปสู่โครงร่างงานวิจัยที่ได้มาตรฐาน สามารถนำไปดำเนินการวิจัยและใช้ประโยชน์ได้จริง อันจะเป็นการยกระดับองค์ความรู้ทางการแพทย์แผนไทยในอนาคต

ดร.ภญ.มณฑกา ธีรชัยสกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทย กล่าวว่า โครงการพัฒนาภาคีเครือข่ายนักวิจัยการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปีงบประมาณ 2560 แบ่งเป็น 6 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 การประชุมและการอบรมเพื่อกระตุ้นการกำหนดโจทย์วิจัยในแต่ละภูมิภาค ทั้ง 4 ภูมิภาค ซึ่งก็คือการจัดอบรมในครั้งนี้
ระยะที่ 2. การประชุมเชิงปฏิบัติการ “ระเบียบวิธีวิจัยและ GCP Training” พร้อมตัวเลือกโครงร่างงานวิจัยที่เสนอขอรับสนับสนุนงบประมาณการวิจัย จำนวนอย่างน้อย 40 โครงร่างงานวิจัย ซึ่งจัด ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ระยะที่ 3 การประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อพบอาจารย์ที่ปรึกษาและทีมวิจัย ร่วมกันพัฒนาโครงร่างงานวิจัย ซึ่งจะจัดในพื้นที่แต่ละภูมิภาค
ระยะที่ 4 การประชุมเชิงปฏิบัติการ “การติดตามความก้าวหน้าโครงร่างงานวิจัยที่ได้รับการคัดเลือกและการวิเคราะห์” ซึ่งจะเป็น การประชุม ติดตาม ให้กำลังใจและร่วมแก้ปัญหากับทีมวิจัยในพื้นที่
ระยะที่ 5 การประชุมเชิงปฏิบัติการ “การเขียนบทความวิชาการจากงานวิจัย’ ซึ่งจะจัด ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ระยะที่ 6. การติดตาม และประสานงานวิจัยให้แล้วเสร็จตามกำหนด การอบรมในวันนี้ มีผู้เข้าร่วมการอบรมรวมทั้งสิ้น 114 คน

ร่วมแสดงความคิดเห็น