เด็กจมน้ำตาย ช่วงฤดูร้อน สสจ.เชียงใหม่ เตือนผู้ปกครองเพิ่มความระวัง

ร.อ.ภูรีวรรธน์ โชคเกิด นายแพทย์สาธารณสุข จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้ จ.เชียงใหม่ มีสภาพอากาศร้อนมาก ประชาชนนิยมเล่นน้ำคลายร้อน โดยพบว่า ในช่วงฤดูร้อนปิดภาคเรียน มีความเสี่ยงต่อการจมน้ำสูงสุด เนื่องจากเด็กๆมักชวนกันเล่นน้ำในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งนี้ข้อมูลสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ตั้งแต่ พ.ศ.2558-2559 พบว่า จ.เชียงใหม่ เสียชีวิตจากการจมน้ำ จำนวน 52 ราย ในจำนวนนี้ เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 18 ราย หรือร้อยละ 34.61 และในปี 2559 มีเด็กวัยนี้ เสียชีวิตทั้งหมด 6 ราย สูงสุดในเดือน มี.ค. 2 ราย รองลงมาคือ เดือน พ.ย. , ม.ค. , ก.ค. , ส.ค. เดือนละ 1 ราย

สสจ.เชียงใหม่ ได้เร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการจมน้ำ ไม่ปล่อยให้เด็กไปเล่นน้ำตามลำพัง แม้ว่าจะเป็นแหล่งน้ำใกล้บ้าน หรือแหล่งน้ำที่คุ้นเคย เนื่องจากพบว่า แหล่งน้ำที่มีผู้จมน้ำเสียชีวิตสูงสุดในกลุ่มเด็ก คือ แหล่งน้ำธรรมชาติ คลองชลประทาน และอ่างเก็บน้ำ รวมทั้งให้ความรู้ในการปฐมพยาบาลผู้จมน้ำที่ถูกต้อง และหากเป็นไปได้ขอความร่วมมือชุมชนทุกแห่ง ให้สำรวจแหล่งน้ำที่เสี่ยงต่อการจมน้ำในพื้นที่ เพื่อจัดการดูแลให้เกิดความปลอดภัยกับเด็ก หากประชาชนพบเห็นอุบัติเหตุคนจมน้ำ สามารถโทรแจ้ง ขอความช่วยเหลือทางหมายเลข 1669 ทันที

สำหรับสาเหตุของการเสียชีวิตของเด็ก ส่วนใหญ่ คือ การแอบเล่นน้ำ หรือการเล่นน้ำโดยไม่มีผู้ปกครองอยู่ด้วย และสาเหตุของการเสียชีวิตของผู้ใหญ่ ได้แก่ เมาสุรา มีโรคประจำตัว และการทำมาหากินเลี้ยงชีพ สสจ.เชียงใหม่ ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรการเอาชีวิตรอดในน้ำ (Survival Swimming) และการกู้ชีพขั้นพื้นฐาน เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากร ให้สามารถเป็นวิทยากรครู ข ในระดับอำเภอ ฝึกอบรบให้ความรู้ เรื่อง การป้องกันการจมน้ำแก่เด็ก และประชาชนในพื้นที่ได้อย่างถูกต้อง ตั้งแต่ปี 2557 โดยในปี 2560 ได้จัดอบรมไป เมื่อวันที่ 23-24 ก.พ. 2560 ณ ห้องประชุมโรงแรมฮอลิเดย์การ์เด้น แอนด์ รีสอร์ท อ.เมือง จ.เชียงใหม่

ในปัจจุบันมีจำนวนครู ข ในระดับอำเภอ หลักสูตรการเอาชีวิตรอดในน้ำ(Survival Swimming) กระจายในพื้นที่ทุกอำเภอ จำนวนทั้งสิ้น 337 คน รวมถึงมีการฝึกซ้อมแผนการช่วยเหลือคนจมน้ำ/ผู้ประสบภัยทางน้ำ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานป้องกันการจมน้ำของ จ.เชียงใหม่ นอกจากนี้ คณะทำงานระดับ จ.เชียงใหม่ ได้ร่วมกันจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานป้องกันการจมน้ำในเด็กอายุต่ำ กว่า 15 ปี โดยมีเนื้อหาที่ครอบคลุมตั้งแต่ การป้องกันก่อนเกิดเหตุ การดำเนินการขณะเกิดเหตุ และการดำเนินการหลังเกิดเหตุ โดยความร่วมมือจากหน่วยงาน และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

ทั้งนี้ ในการช่วยชีวิตผู้จมน้ำ ต้องช่วยให้หายใจให้ได้ โดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันสมองขาดออกซิเจน แต่คนส่วนใหญ่ยังจำภาพผิดๆ ว่าให้อุ้มเด็กพาดบ่าให้ศีรษะต่ำแล้วเขย่าตัว เพื่อให้น้ำไหลออกจากปอด ซึ่งเป็นวิธีช่วยเหลือที่ผิด จะทำให้ขาดอากาศหายใจนานขึ้น เสียเวลาที่มีค่าในการช่วยชีวิตเด็ก วิธีที่ถูกต้องคือ ช่วยให้เด็กที่จมน้ำหายใจให้เร็วที่สุด โดยให้นอนบนพื้นราบแห้งและแข็ง หากไม่รู้สึกตัวให้เป่าปากช่วยการหายใจและนวดหัวใจ เมื่อรู้สึกตัวหรือหายใจเองได้แล้ว ให้จับนอนตะแคงข้าง ศีรษะหงายไปข้างหลัง เพื่อให้น้ำไหลออกทางปาก ใช้ผ้าห่มคลุมผู้ป่วยให้ความอบอุ่น งดน้ำและอาหาร และรีบส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด

นายแพทย์ สสจ.เชียงใหม่ กล่าวต่อว่า ในการเล่นน้ำอย่างปลอดภัย หากว่ายน้ำไม่เป็น ขอให้สวมเสื้อชูชีพหรือใช้อุปกรณ์พยุงตัวตลอดเวลา ไม่ดื่มสุรา ไม่เล่นน้ำคนเดียว เล่นน้ำในตอนกลางคืนหรือขณะมีฝนตก และไม่กระโดดลงน้ำที่ไม่ทราบสภาพใต้น้ำ ที่สำคัญอย่าปล่อยให้เด็กเล่นน้ำตามลำพัง โดยเฉพาะเด็กเล็กๆ จะต้องอยู่ในสายตาผู้ปกครอง และไม่ปล่อยให้เด็กยืนใกล้ขอบบ่อ ขอบสระ หรือภาชนะใส่น้ำ เพราะอาจลื่นพลัดตกลงน้ำ และไม่สามารถช่วยตัวเองได้

ทั้งนี้ หากพบคนตกน้ำ ขอให้หาอุปกรณ์และคนมาช่วย ยึดหลัก “ตะโกน โยน ยื่น” โดยตะโกนเรียกให้คนมาช่วย โยนอุปกรณ์ลอยน้ำที่อยู่ใกล้ตัวให้คนที่ตกน้ำ เช่น ขวดน้ำพลาสติกเปล่า ถังแกลลอนพลาสติกเปล่าผูกเชือก ห่วงชูชีพ โดยโยนครั้งละหลายๆ ชิ้น และยื่นอุปกรณ์ให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ ผ้าขาวม้า เสื้อ เพื่อดึงตัวขึ้นจากน้ำ ห้ามกระโดดลงไปช่วยอย่างเด็ดขาด เพราะอาจจะถูกกอดรัดและจมน้ำเสียชีวิตพร้อมกันได้ นายแพทย์ สสจ.เชียงใหม่ กล่าวในที่สุด

ร่วมแสดงความคิดเห็น