นโยบายยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่

วันที่ 17 มีนาคม 2560 เวลา 17.00 น. นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงทิศการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล ที่สำนักชลประทานที่ 1 อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ว่า ในปี 2560 จังหวัดเชียงใหม่ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาที่เป็นจุดเน้น (Focus) และทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Direction) สำคัญในระยะยาว ผลักดันให้เชียงใหม่เป็น ศูนย์กลางการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการสุขภาพ (Tourism and Health Hub) เชื่อมโยงสู่เมืองท่องเที่ยวในภูมิภาค เนื่องจากเชียงใหม่มีความหลากหลาย ทั้งการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ประเพณี การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ การท่องเที่ยวเชิงผจญภัยและกีฬา การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการท่องเที่ยว MICE และการเป็นศูนย์กลางการส่งเสริมธุรกิจบริการด้านสุขภาพทั้งการแพทย์ปัจจุบัน และแพทย์ทางเลือกซึ่งจะสามารถรักษาและต่อยอดภูมิปัญญาการแพทย์พื้นถิ่นสู่รูปแบบการบริการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ มีอัตลักษณ์โดดเด่น

จังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยมรดกทางศิลปวัฒนธรรม เป็นแหล่งของงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านประเภทต่างๆ ทั้ง งานเครื่องเขิน งานเครื่องเงิน เครื่องปั้นดินเผา งานหล่อ และบุดุนโลหะ งานทอผ้า งานแกะสลักและผลิตภัณฑ์จากไม้ งานจักสาน และงาน ศิลปะกระดาษต่างๆ ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐ และ ประชาชนจะผลักดันให้เมืองเชียงใหม่เป็นเมืองสร้าง สรรค์ (Creative City) สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Creative City of Crafts and Folk Art) ของ UNESCO ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำใบสมัครเพื่อจัดส่งให้กับคณะกรรมการฝ่ายวัฒนธรรมของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติผ่านไปยัง UNESCO

การขับเคลื่อนเชียงใหม่สู่เมืองมรดกโลก (World Heritage) ถือเป็นวาระการพัฒนาที่สำคัญร่วมกันของคนเชียงใหม่ที่ได้มีการวางแผน และกำหนดทิศทางการพัฒนาของเมือง ให้สามารถเติบโตโดยยังคงรักษาคุณค่าหรือมรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมให้คงอยู่ ความตื่นตัวและความตั้งใจของภาคส่วนต่างๆ ทำให้จังหวัดเชียงใหม่ได้รับการขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้นมรดกโลก (Tentative list) เมื่อปี พ.ศ. 2558 จากผลการศึกษาความเป็นไปได้ของคณะทำงานฯ พื้นที่ที่จะมีการกำหนดเพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นเขตมรดกโลก (Nomination Property) ประกอบด้วย 3 แหล่งมรดกที่มีคุณค่าของเมืองเชียงใหม่ ได้แก่ 1) เวียงเชียงใหม่ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เมืองเก่าชั้นในและพื้นที่เมืองเก่าชั้นนอก 2) พื้นที่เวียงสวนดอก และ 3) พระธาตุดอยสุเทพและองค์ประกอบที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของแต่ละพื้นที่ ภายใต้แนวคิดการขึ้นทะเบียนแบบกลุ่ม (Serial Nomination)

ทั้งนี้ รัฐบาลได้มีนโยบายให้ 2 เมืองท่องเที่ยวระดับโลกของไทย คือ จังหวัดภูเก็ต และ เชียงใหม่ เป็นเมืองอัจฉริยะต้นแบบ หรือ SMART CITY เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิตอล ที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย ให้มีความปลอดภัย และสะดวกสบายในการดำรงชีวิต เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของพื้นที่โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมเป็นตัวนำ จังหวัดเชียงใหม่ได้กำหนดเป้าหมายการขับเคลื่อน Smart City คือ กินดี อยู่ดี มีสุข โดยมีกลยุทธ์การขับเคลื่อน ได้แก่ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตัล โดยการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับ และ ลดต้นทุนภาคการผลิตและบริการ ทั้งในภาคการเกษตร ภาคการท่องเที่ยว และภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม และหัตถอุตสาหกรรม ควบคู่กับการพัฒนาช่องทางการตลาด และการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับดิจิตอลในรูปแบบใหม่

การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยการส่งเสริมการใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการด้านสาธารณสุข การดูแลผู้ป่วย รวมถึงการติดตามดูแลผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆ ยกระดับความมั่นคง ด้วยการยกระดับระบบกล้อง CCTV เพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัย และการนำนวัตกรรมมาใช้ในการป้องกันและเตือนภัยด้านภัยพิบัติต่างๆ ได้แก่ ปัญหาอุทกภัย และดินโคลนถล่ม ปัญหาหมอกควัน ปัญหาภัยแล้ง ฯลฯ รวมถึง การพัฒนาการบริหารและการบริการภาครัฐ เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพการปฏิบัติงานและบริการประชาชน รวมถึงการพัฒนาบุคลากรให้สอดรับการบริบทการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

ที่ผ่านมา จังหวัดเชียงใหม่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคเกษตร ซึ่งจังหวัดมีศักยภาพทั้งเกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ เกษตรแปรรูป พืชผักเมืองหนาว เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย คือ การเป็น Northern Food Valley โดยหนึ่งในสินค้า เกษตรที่มีศักยภาพสูงที่จังหวัดเชียงใหม่ที่ต้องการยกระดับเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับประชาชน ก็คือ กาแฟ ด้วยเหตุนี้จึงได้กำหนดให้การเป็น Coffee Hub เป็น flagship project ของจังหวัด โดยกำหนดกิจกรรมการขับเคลื่อนในลักษณะ value chain ตั้งแต่ การพัฒนาปัจจัยพื้นฐานการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่ม วิจัยและนวัตกรรม และการส่งเสริมการตลาด โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี พ.ศ.2560 ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 จำนวน 97 ล้านบาท

นอกจากนี้ จังหวัดเชียงใหม่ยังได้เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์และบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมทั้งในเขตเมืองและพื้นที่รอบนอก โดยมีเป้าหมาย คือ เมืองสีเขียว (green city) ซึ่งมีจุดเน้นสำคัญ ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและบริหารจัดการป่าต้นน้ำและแหล่งน้ำ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง และอนุรักษ์พื้นที่สิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการขยะ มลภาวะ และสาธารณภัย การพัฒนาประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานและระบบขนส่งมวลชน การให้ความสำคัญกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อมดังกล่าวจะทำให้เชียงใหม่เป็นเมืองน่าอยู่ และรักษาการเติบโตให้เป็นไปอย่างสมดุลต่อไป โดยมีวาระสำคัญพิเศษ คือ การฟื้นคืนคลองแม่ข่า และการแก้ไขปัญหาหมอกควันโดยสนับสนุนการปลูกกาแฟทดแทนการปลูกข้าวโพด และการป้องกันแก้ไขปัญหาการเผาโดยกระบวนการประชารัฐ

ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ให้เป็นไปตามนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด ตามเป้าหมายที่กำหนดได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน คนเชียงใหม่ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทุกภาคส่วนได้มาร่วมกันอย่างจริงจัง ในการสร้างเมืองเชียงใหม่ร่วมกัน

ร่วมแสดงความคิดเห็น