บ้านขามแดง หมู่บ้านหัตถกรรมลำปาง

เป็นเวลาหลายสิบปีที่เสียงตีเหล็กดังกึกก้องไปทั่วหมู่บ้าน บอกเล่าเรื่องราวตำนานของลูกผู้ชายผู้มีจิตวิญญาณและความกล้าหาญในการทำมีดแห่งบ้านขามแดง อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง

หมู่บ้านขามแดงได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านที่ขึ้นชื่อในการทำมีดโบราณและอาจจะกล่าวได้เป็นหมู่บ้านเดียวของจังหวัดลำปางที่ยังคงเอกลักษณ์การทำมีดแบบโบราณที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษนับครึ่งศตวรรษ ชื่อเสียงและฝีมืออันขึ้นชื่อในการทำมีดได้ขจรขจายไปในหมู่คนรักมีด จนทำให้หมู่บ้านแห่งนี้กลายเป็นแหล่งผลิตมีดที่ผู้คนต่างถิ่นเดินทางเข้าออกและมาเลือกหาซื้อมีดฝีมือเลิศไม่เว้นในแต่ละวัน

คุณบุญตัน สิทธิไพศาล อดีตเจ้าของโรงสีข้าวผู้หลงไหลมนต์เสน่ห์ของการตีมีด เขาเป็นเจ้าของเตาหนึ่งในสามที่เหลืออยู่และยังยืนยันว่าจะประกอบอาชีพตีมีดไปจนกว่าจะสิ้นลมหายใจ เล่าย้อนถึงอดีตในวัยเยาว์ว่า

“ตอนเป็นเด็กก็ได้เห็นปู่เห็นพ่อตีมีดมาก่อนแล้ว สมัยนั้นเกือบจะทุกบ้านตีมีดกันหมด ถ้าจะนับกันจริง ๆ แล้วก็ผ่านมาเกือบจะ 50 ปีแล้ว เมื่อก่อนชาวบ้านหลังจากทำนาก็จะมาตีมีดกัน แต่เมื่อหลายปีมานี้มีโรงงานเฟอร์นิเจอร์มาตั้งในหมู่บ้านชาวบ้านก็หันไปทำงานในโรงงานเฟอร์นิเจอร์กันหมด เดี๋ยวนี้เหลือคนทำมีดจริง ๆ ไม่กี่คน ทั้งหมู่บ้านเหลืออยู่เพียง 3 เตาเท่านั้น พวกช่างตีมีดฝีมือดี ๆ ก็เหลือไม่ถึง 10 คน..”

มีดที่ตีจากเตาบ้านขามแดงถือได้ว่าเป็นฝีมือชั้นบรมครู ด้วยความปราณีตบรรจง จึงทำให้มีดที่ทำจากบ้านขามแดงได้รับความนิยมในหมู่ชาวต่างประเทศเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่นถึงกันลงทุนเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อมาขอให้ทำมีดซามูไร

“พวกชาวญี่ปุ่นจะชื่นชอบงานฝีมือเป็นอย่างมาก มีอยู่คนหนึ่งเดินทางมาเพื่อขอให้ทำมีดซามูไรให้ ซึ่งส่วนใหญ่มีดซามูไรแต่ละด้ามจะมีราคาแพงมาก สาเหตุที่มีดซามูไรมีราคาสูงก็เพราะว่าใช่เวลาในการทำนานเกือบ 2 อาทิตย์ แต่ละชิ้นละอันจะต้องทำแยกชิ้นแล้วนำมาประกอบ ซึ่งไม่เหมือนมีดของฝรั่งที่ตีขึ้นเป็นด้ามเลย ของญี่ปุ่นจะละเอียดลออมาก อย่างเช่นนี้ด้ามนี้ราคา 4 หมื่นกว่าบาท”

นอกจากมีฝีมือขึ้นชื่อในการทำมีดซามูไรแล้ว ที่บ้านของบุญตันยังมีฝีมือในการทำมีดโบราณอย่างตระกูล โบวี่ ,บูมา ,ชิปไฟท์เตอร์ ที่สะสมมีดมาเห็นแล้วต้องทึ่ง ปัจจุบันการทำมีดของบ้านขามแดงส่วนใหญ่จะส่งตลาดต่างประเทศหรือไม่ก็จะมีลูกค้าเดินทางมาซื้อเอง ส่วนคนไทยจะให้ความสนใจน้อยมากจะมีเฉพาะกลุ่มคนที่รักมีดเท่านั้นที่มาหาซื้อมีด สนนราคาก็ตกนิ้วละประมาณ 300 บาท

คุณบุญตันเจ้าของบ้านยังบอกอีกว่า การทำมีดในแต่ละวันไม่เหมือนกัน วันไหนที่ตีมีดธรรมดาก็จะได้มีกมากหน่อยประมาณวันละ 10 เล่มขึ้นไปถ้าวันไหนทำมีดที่ยากมีความละเอียดก็จะได้น้อยตกวันละ 5 เล่ม เป็นต้นแต่ถ้าวันไหนตีมีดซามูไรก็ใช้เวลาเกือบ 2 อาทิตย์จึงจะเสร็จ

หากเดินข้ามถนนไปอีกฝั่งของหมู่บ้านก็จะเป็นการทำหัตถกรรมจากกะลามะพร้าวของกลุ่ม “ร่มฉัตรหัตถกรรม” กลุ่มนี้เริ่มต้นเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว ปัจจุบันถือได้ว่ามีกลุ่มสมาชิกสนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

คุณประภาส รัตนประทีป ประธานเครือข่ายกลุ่มอาชีพร่มฉัตรหัตถกรรม (ผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าวและผลิตภัณฑ์ไม้ทางเหนือ) บอกเล่าถึงความเป็นมาว่า

“เริ่มแรกในการก่อตั้งนั้นมีสมาชิกเพียงแค่ 5 คนกับเงินลงทุน 2 หมื่นบาทเท่านั้น โดยสินค้าที่ทำตอนนั้นคือ กระดุม, กิ๊ฟติดผม, เข็มขัด, กรอบรูป, ต่างหู, ทัพพีและเครื่องใช้ในครัวเรือนที่ทำจากกะลามะพร้าว หลังจากนั้นก็ได้รับการสนับสนุนด้านการตลาดจากทางอำเภอห้างฉัตร เมื่อเห็นว่าสินค้าเริ่มติดตลาดแล้วจึงได้ขยายงานให้กลุ่มสมาชิกได้มีรายได้เพิ่มขึ้น” ก่อนที่คุณประภาสจะทิ้งท้ายว่า “บางทีสิ่งใกล้ตัวที่เราเห็นจนชินตา ก็ทำรายได้ให้เราอยู่ดีกินดีได้ ใครจะไปรู้..”

ปัจจุบันสินค้าที่สามารถออกสู่ตลาดต่างประเทศได้คือ กระดุมและตะเกียบ ประเทศที่ส่งออกตะเกียบได้แก่ ญี่ปุ่นและอเมริกา ส่วนตลาดในประเทสไทยนั้นจะส่งตามศูนย์หัตถกรรมในเชียงใหม่,ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ลำปางละตามร้านค้าต่าง ๆ ที่มีนักท่องเที่ยวไป นอกจากนั้นทางกลุ่มยังเปิดร้านจำหน่ายอยู่ที่ตลาดทุ่งเกวียนอำเภอห้างฉัตรด้วย

สำหรับผู้สนใจที่ต้องการจะเลือกซื้อหาของฝากจากกะลามะพร้าวหรือสนใจที่จะประกอบอาชีพนี้ สามารถติดต่อได้ที่ กลุ่มอาชีพร่มฉัตรหัตถกรรม เลขที่ 26 ม.6 ต.ห้างฉัตร อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง 52190 หรือโทรศัพท์ที่ 0-5426-9392.

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น