งานปอยหลวง งานบุญที่ยิ่งใหญ่ ของคนภาคเหนือ

งานปอยหลวง งานบุญที่ยิ่งใหญ่ของคนภาคเหนือ ซึ่งจัดเป็นประจำของทุกๆปี เพื่อเป็นการจัดฉลองที่ยิ่งใหญ่ของวัด คำว่า “ปอย” มาจากคำว่า “ประเพณี “หมายถึง งานฉลองรื่นเริง ส่วนคำว่า “หลวง” หมายถึง “ยิ่งใหญ่” ดังนั้นคำว่า “ปอยหลวง” จึงเป็นงานฉลองที่ยิ่งใหญ่หรืองานฉลองที่ใหญ่โต ซึ่งเป็นการฉลองถาวรวัตถุ ของวัดหรือฉลองสิ่งก่อสร้างของวัด ที่ประชาชนช่วยกันทำขึ้น เพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ และประเพณีงานปอยหลวง มักจะจัดขึ้นในช่วงเดือน 5 ไปจนถึงเดือน7 เหนือ ซึ่งก็ตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ ไปจนถึงเดือนเมษายน หรือบางแห่งอาจไปถึงเดือนพฤษภาคม ของทุกปี ส่วนระยะเวลาการจัดงานจะมี ประมาณ 3-7 วัน

ประเพณีงานปอยหลวง เป็นงานทำบุญเพื่อเฉลิมฉลองศาสนสมบัติต่างๆของวัด เพื่อให้เกิดอนิสงส์แก่ตนและครอบ ครัว ซึ่งถือว่าเป็นงานบุญกุศลแรงมาก นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องแสดงถึงความสามัคคีกลมเกลียวของคณะสงฆ์และชาวบ้าน ส่วนการทำบุญปอยหลวง ที่นิยมทำกันก็คือ ทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ พ่อ แม่ ปู่ย่า ตายาย หรือญาติพี่น้อง ที่ล่วงลับไปแล้ว สิ่งสำคัญที่ได้จากการทำบุญงานปอยหลวงอีกอย่างคือ มีการแสดง ความชื่นชมยินดีร่วมกัน เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินให้แก่คนท้องถิ่น โดยจะมีการจัดมหรสพสมโภชหลากหลาย เพราะหนึ่งปีถึงจะมีโอกาสได้เฉลิมฉลองถาวรวัตถุต่างๆได้ หรือบางวัดอาจจะใช้เวลาหลายปี เพราะสิ่งปลูกสร้างบางอย่างของวัดอาจใช้เงินจำนวนมหาศาล

จึงจำเป็นต้องใช้เวลาในการก่อสร้างนานจึงจะแล้วเสร็จ และต้องมีเงินเหลือพอ เพื่อที่จะจัดงานเฉลิมเฉลองงานปอยหลวงได้ เพราะเป็นงานใหญ่ที่ต้องอาศัย ความร่วมมือ ร่วมใจ จากบุคคลเป็นจำนวนมาก และจะต้องแบ่งงานกันทำ เช่น กลุ่มแม่บ้านก็จะต้องมีหน้าที่คอยทำอาหารการกิน เพื่อที่จะใช้เลี้ยงพระสงฆ์ ตลอดไปจนถึงแขกที่มาร่วมงานในแต่ละวัน ส่วนกลุ่มหนุ่มสาว ก็จะมีหน้าที่บริการยกน้ำ ยกอาหารมาเลี้ยงแขกที่มาร่วม ส่วนกลุ่มผู้เฒ่าผู้แก่และผู้ชาย ก็จะได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ด้านสถานที่ เวทีแสดงต่างๆ และด้านศาสนพิธี พร้อมให้การต้อนรับแขกเหรื่อที่มาร่วมงานบุญด้วย สำหรับสาวๆก็จะได้รับการฝึกหัดให้เป็นช่างฟ้อน เพื่อฟ้อนต้อนรับครัวทานหรือไทยทาน ที่แต่ละแห่งนำมาทำบุญ

ก่อนที่จะมีงานปอยหลวงก็จะมีการตาน(ทาน)ตุงและช่อ (ธงสามเหลี่ยม)เสียก่อน ซึ่งตุงนี้จะเป็นผ้าที่ตัดทอ และมีการประดับด้วยสีต่างๆที่สวยงาม แล้วก็จะต้องนำตุงไปปักเรียงรายตามถนนหนทาง ก่อนที่จะเข้าวัด เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้คนที่สัญจรไปมาได้รับทราบว่า วัดแห่งนี้จะมีงานปอยหลวง และธงธรรมจักร์อันเป็นสัญลักษณ์ของชาติและพระพุทธศาสนา จะปักตลอดแนวบริเวณของวัดที่มีงานปอยหลวง จากนั้นศรัทธาทั้งหลายก็จะทยอยกันนำเครื่องครัวทานเข้าไปถวายวัด พระสงฆ์ก็จะทำพิธีเจริญพุทธมนต์ และมีการสวดอบรมสมโภชหรือสวดเบิก ซึ่งเป็นการสวดที่ไพเราะน่าฟังมาก และสุดท้ายก็จะมีการเทศน์บอกกล่าวถึงอนิสงส์ของการก่อสร้าง เป็นอันจบพิธีทางสงฆ์ ช่วงตอนเย็นก็จะมีการฉลองสมโภชน์ และมหรสพต่างๆให้สนุกสนานตลอดทั้งงาน….

ร่วมแสดงความคิดเห็น