ประชุมวิชาการ “สูงวัยอย่างมีสุขภาวะในสังคมผู้สูงอายุ”

คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ สมาคมพยาบาลด้านผู้สูงอายุ ได้ร่วมกันจัดโครงการประชุมวิชาการ เรื่อง สูงวัยอย่างมีสุขภาวะในสังคมผู้สูงอายุ (Healthy Aging in Aged Society) เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้แนวทางในการเตรียมการดูแลที่เหมาะสมสำหรับผู้รับบริการในสังคมผู้สูงอายุ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิชาการเกี่ยวกับการเตรียมการเพื่อการดูแลผู้สูงวัยในสังคมผู้สูงอายุ รวมถึงการพัฒนาเครือข่ายการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพต่อไปพิธีเปิดการประชุมได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.วิภาดา คุณาวิกติกุล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ เป็นประธานในพิธี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กนกพร สุคำวัง ผู้อำนวยการศูนย์บริการพยาบาล และในฐานะนายกสมาคมพยาบาลด้านผู้สูงอายุ กล่าวรายงานและกล่าวต้อนรับ ระหว่างวันที่ 2 – 3 มีนาคม พ.ศ.2560 ณ โรงแรมดวงตะวัน จังหวัดเชียงใหม่

ตลอดการประชุมวิชาการทั้ง 2 วัน ได้มีการสรุปแนวทาง การสร้างความเข้มแข็งในการดูแลผู้สูงอายุยุคไทยแลนด์ 4.0 และมีข้อเสนอแนะ แบ่งเป็น 3 ด้าน คือ ด้านการศึกษา ด้านการวิจัย และด้านการปฏิบัติการ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กนกพร สุคำวัง นายกสมาคมพยาบาลด้านผู้สูงอายุ เป็นตัวแทนส่งมอบข้อสรุปให้แก่ นายสมคิด สมศรี อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.พงษ์ศิริ ปรารถนาดี รองประธานสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ และศาสตราจารย์ ดร.วิภาดา คุณาวิกติกุล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โดยข้อสรุปในการพัฒนาและ สร้างความเข้มแข็งด้านการดูแลผู้สูงอายุยุคไทยแลนด์ 4.0 มีข้อเสนอแนะดังนี้

ด้านการศึกษาสถาบันการศึกษาต้องกำหนดนโยบายสถาบันเพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับสังคมสูงอายุ โดยจัดหลักสูตรที่ มุ่งเน้น การผลิตบัณฑิต ผู้เชี่ยวชาญด้านการพยาบาลผู้สูงอายุ โดยตรงทั้งระดับปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษา กำหนด อัตลักษณ์ ทักษะของบัณฑิตอย่างชัดเจน มีการพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมวิชาการเฉพาะทางด้านการส่งเสริมการดูแลผู้สูงอายุ และหลักสูตรฟื้นฟูด้านการดูแลผู้สูงอายุหลังปริญญาตรี มีการพัฒนานักวิจัย เพื่อศึกษาวิจัยด้านการพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้สูงอายุ รวมทั้งสถาบันการศึกษาควรเป็นแหล่งจัดบริการวิชาการไม่เฉพาะเพียงการพัฒนาความรู้และศักยภาพของบุคลากรทางสุขภาพ แต่ควรเป็นแหล่งพัฒนาความรู้และศักยภาพของประชาชนทั้ง ผู้สูงอายุ ผู้ดูแล อสม.และ แกนนำในชุมชน ในการดูแลผู้สูงอายุตามบริบทของพื้นที่ โดยความร่วมมือแบบสหสาขาวิชาชีพ

ด้านการวิจัยเพื่อสร้างความเข้มแข็งในการดูแลผู้สูงอายุยุคไทยแลนด์ 4.0 นโยบายและแผนงานวิจัย ด้านผู้สูงอายุระดับชาติควรได้มีการถ่ายทอดสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างทั่วถึงเพื่อนำมาสู่ การปรับปรุงคุณภาพการดูแลผู้สูงอายุ ผู้นำองค์กรควรมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนางานวิจัย เพื่อคุณภาพการดูแลผู้สูงอายุในสังคมผู้สูงวัย การศึกษาวิจัยควรเป็นแบบร่วมสหสาขาวิชาชีพ เป็นความร่วมมือทั้งจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงาน การปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่รับผิดชอบการขับเคลื่อนงานวิจัยควรส่งเสริมการพัฒนางานวิจัยด้านการดูแลผู้สูงอายุภายใต้งบประมาณที่เหมาะสม มีการสนับสนุนการจัดการข้อมูลสุขภาพของผู้สูงอายุ การจัดทำระบบฐานขัอมูลผู้สูงอายุ ด้วยเทคโนโลยีที่มีความทันสมัย ส่งเสริม การจัดการระบบการดูแลผู้สูงอายุที่มีการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ ส่งเสริมความเข้มแข็งของระบบเครือข่ายเพื่อการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุโดยมุ่งเน้นการใช้ชุมชนเป็นฐาน สนับสนุนการพัฒนางานวิจัยจากงานประจำ และการสร้างนวัตกรรมเพื่อคุณภาพการดูแลผู้สูงอายุ

ด้านการปฏิบัติการความเข้มแข็งในการดูแลผู้สูงอายุยุคไทยแลนด์ 4.0 จำเป็นต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญได้แก่ การทำงานแบบสหสาขาวิชาชีพ การพัฒนานวัตกรรมในการดูแลผู้สูงอายุบนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาศักยภาพในการดูแลเฉพาะทางของ ครอบครัว ชุมชน และบุคลากรในทีมสุขภาพสุขภาพโดยใช้เทคโนโลยี และมีการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการการดูแลผู้สูงอายุ

ข้อสรุปดังกล่าวข้างต้นเป็นเสมือนข้อตกลงและการเริ่มต้นของ พันธะสัญญา ความร่วมมือ จากที่ประชุมแห่งนี้เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการดูแลผู้สูงอายุยุคไทยแลนด์ 4.0 ให้เกิดการสูงวัยอย่างมีสุขภาวะในสังคมผู้สูงอายุ (Healthy Aging in Aged Society) อย่างมั่นคงยั่งยืน สืบไป การจัดการประชุมวิชาการดังกล่าวถือว่าเป็นเวทีรวมพลัง ความรู้
ความคิดเห็น ประสบการณ์ ข้อเสนอแนะ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมถึงการพัฒนาเครือข่ายการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น