รพ.สวนปรุง “จัดอบรมการเข้าถึงบริการและดูแลผู้ป่วยจิตเวช”

กลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลสวนปรุง จัดโครงการอบรมหลักสูตรการเข้าถึงบริการและดูแลผู้ป่วยจิตเวช สำหรับพยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1 รุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 20-21 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเมอร์เคียว เชียงใหม่

นางสาวราณี พรมานะจิรังกุล พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลสวนปรุง กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวชเป็นปัญหาสำคัญปัญหาหนึ่งของระบบสุขภาพประเทศไทยโดยประมาณการว่าประชากร 1 ใน 5 มีปัญหาสุขภาพจิต จากรายงานสถิติของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเทศมีผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการเริ่มต้นถึงรุนแรงร้อยละ14.3 หรือ 7 ล้านคน โดยเป็นผู้ป่วยโรคจิตเภทประมาณร้อยละ 0.8 หรือ 400,000 คน โรคซึมเศร้าประมาณร้อยละ 2.8 หรือ 1.4 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2556

พบว่ามีอัตราการเข้าถึงบริการผู้ป่วยโรคจิตและโรคซึมเศร้า มีเพียงร้อยละ 50 และร้อยละ 33.34 ตามลำดับ ยิ่งไปกว่านั้นการเข้าถึงบริการจิตเวชเพื่อรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพต่อเนื่องในระบบบริการสุขภาพยังต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ถึงแม้ว่ามีความก้าวหน้าในการให้บริการสุขภาพจิตมากขึ้น มียาที่มีประสิทธิ ภาพก็ตาม ปัญหาสุขภาพจิตส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย ญาติ ผู้ดูแล และบุคคลในสังคม โดยเฉพาะโรคจิตก่อให้เกิดการตีตรา ความทุกข์ทรมาน สูญเสียความสามารถของผู้ป่วย รวมทั้งก่อให้เกิดภาวะอันตรายต่อชุมชนและสังคม

กรมสุขภาพจิต จึงได้จัดทำโครงการลดช่องว่าการบริการผู้ป่วยโรคจิตระหว่างปี 2554- 2555 โดยได้นำแนวทางโปรแกรมปฏิบัติการเพื่อลดช่องว่างทางสุขภาพจิตขององค์การอนามัยโลกมาปรับให้เหมาะสมกับบริบทในสังคมไทย และทดลองนำร่องในพื้นที่ตัวอย่าง เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการคุณภาพบริการและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคจิตในประเทศไทยซึ่งมีผลเป็นที่น่าพึงพอใจ จึงได้เริ่มนำมาขยายผลในปีงบประมาณ 2557,2558 และ 2559 โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายคือ 1 อำเภอนำร่องต่อ 1 เขตสุขภาพ 1 อำเภอนำร่องต่อ 1 จังหวัด และ 2 อำเภอนำร่องต่อ 1 จังหวัด และปี 2560 ทำครอบคลุมทุกพื้นที่

ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรม ได้รับความรู้ และมีเครือข่ายในการปรีกษา ส่งต่อและสามารถดูแลผู้ที่มีปัญหาโรคจิต โรคซึมเศร้า ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการและการดูแลต่อเนื่องของผู้ที่มีปัญหาโรคจิต โรคซึมเศร้าโดยได้รับเกียรติจาก น.ส.วราณี พรมานะจิรังกุล, นางทิพศมัย ทายะรังษี, นางสุมิตรา ศรสุวรรณ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ และนางชลิตสุดา พรหมทวี พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ จากโรงพยาบาลสวนปรุง มาเป็นวิทยากรบรรยาย

ร่วมแสดงความคิดเห็น