สกู๊ปหน้า 1…ขนส่งสาธารณะ เมืองเชียงใหม่

รูปแบบ “ขนส่งสาธารณะ” ประจำเมือง หรือโครงการขนส่งมวลชน ที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสมสำหรับเมืองนั้นๆ เป้าหมายไม่แตกต่างกันมากนัก นั่นคือเพื่อลดจำนวนการใช้รถส่วนบุคคล แก้ปัญหารถติด, มลภาวะ, อุบัติเหตุ

จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในกลุ่มเมืองนำร่องที่รัฐบาลเกือบทุกยุคสมัย เล็งเห็นความเหมาะสมที่จะยกชั้นเป็น “เมืองพิเศษ”ด้วยศักยภาพของเมืองที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประการสำคัญเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก จนนำไปสู่ความจำเป็นที่ต้องเร่งวางระบบขนส่งสาธารณ ขนส่งประจำเมือง ที่มีประสิทธิภาพกว่าที่เป็นอยู่ในวันนี้เพื่อวันหน้า

มีการวางรูปแบบ นำเสนอ และศึกษาความน่าจะเป็น ตลอดจนทดลองในบางโครงการมาบ้างแล้ว เช่น การนำรถโดยสารสาธารณะ สี่ล้อแดง บางส่วนมาร่วมทดลองบริการ ในเส้นทางสายสำคัญๆ เพื่อการท่องเที่ยว และแก้ปัญหาด้านการจราจร

ท้ายที่สุดแล้ว ยังคงต้องพยายามกันต่อ ในการค้นหาระบบขนส่งมวลชนที่ตอบโจทย์ความต้องการของทุกกลุ่มเป้าหมายในจังหวัดเชียงใหม่ แน่นอนว่า คงไม่ใช่ อูเบอร์ คาร์ แกรป คาร์ หรือ รถป้ายดำนำมาบริการเป็นอาชีพเสริม ตราบใดที่ระบบขนส่งสาธารณะยังเป็นเช่นนี้ ปัญหาก็ยังคงสุมเมืองเพราะ “อูเบอร์” ยืนยันว่าไม่ถอยจะเดินหน้าบริการ

ผลวิจัย เคยชี้ชัดว่า โครงการรถไฟฟ้าขนาดเบา รูปแบบบีอาร์ที, โมโนเรล น่าจะเป็นทางเลือกในอนาคตของเชียงใหม่ได้

ประเทศไทยเคยมีแนวคิดจะก่อสร้างระบบโมโนเรล ช่วงถนนลาดพร้าวถึงพัฒนาการ ในระบบรางเดี่ยว มูลค่าการลงทุนเกือบ 6 หมื่นล้านบาทระยะทางราวๆ30 กิโลเมตร เป็นเรื่องที่น่าติดตา น่าสนใจในระยะหนึ่ง เช่นเดียวกับ “โมโนเรล เชียงใหม่” ที่มีความพยายามจากหลายๆฝ่าย จุดพลุโครงการขึ้นมาเป็นระยะๆ ผ่านช่องทางการสื่อสารสู่สาธารณะ ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน หรือเป็นเรื่องเก่ามาขยายความกันใหม่ ชาวเชียงใหม่ส่วนหนึ่งสนับสนุนโครงการ และบางฝ่ายไม่เห็นด้วย ถ้าติดตามห้องความคิดเห็นในช่องทางรับสาร? ที่พยายามเปิดรับความคิดเห็นของผู้คนในพื้นที่ต่อระบบขนส่งมวลชนเชียงใหม่ ที่มีความเหมาะสม

ชาวเชียงใหม่…ต่างคาดหวัง การลดจำนวน รถโดยสารสาธารณะประจำถิ่น ในแต่ละเส้นทาง!! แล้วหันมาผลักดัน รูปแบบที่เห็นพ้องต้องกัน แม้จะมีการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ในบางร่างกฎหมายที่เอื้อต่อ การระดมทุน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมระหว่างรัะฐกับเอกชน เพื่อดำเนินโครงการขนาดใหญ่

ดูเหมือนหัวเมืองท่องเที่ยวในทุกภูมิภาค จังหวัดเชียงใหม่ยังคงละล้าละลัง จะเดินหน้าหรือถดถอย ก็ต้องรอพิสูจน์ทราบผล…ในอนาคต

โครงการในลักษณะรถไฟฟ้ารางเดี่ยว หรือโมโนเรลนั้น เป็นมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกยอมรับว่าเป็นระบบการขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพกับสังคมยุคใหม่ มีหลายรูปแบบ แต่ที่นิยมกันมี แบบห้อย หรือแบบคร่อม และแบบยึดด้านข้าง แต่ที่สร้างใช้งานจริงมี แบบห้อย ใช้กันไม่มากนัก แบบคร่อมจะเป็นที่นิยมมากกว่า แต่ทั้ง 2 แบบนี้อาจสร้างบนพื้นดิน ยกระดับ หรือใต้ดินก็ได้ ส่วนมากนิยมสร้างยกระดับให้สูงเหนือจากพื้นดินประมาณ 7 เมตรขึ้นไป ปล่อยพื้นที่บนถนนไว้สำหรับยวดยาน และการจราจร

รถไฟฟ้ารางเดี่ยวชนิดนี้เหมาะสำหรับชุมชนเมืองที่แออัด มีปริมาณผู้โดยสารไม่มากนัก 5,000 คน ถึง 10,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง หรืออาจขนคนได้ถึง 30,000 คนต่อชั่วโมง หากต่อเพิ่มจำนวนตู้ เป็นรูปแบบที่เหมาะสมกับเชียงใหม่

ทั้งนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม( อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่าปัญหารถติดในพื้นที่เมืองหลักๆไม่ว่าจะที่ เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น พิษณุโลก มีความจำเป็นต้องวางแผนรองรับอนาคต เช่นที่ นครขอนแก่นวางแผนที่จะจัดระเบียบรถขนส่งสาธารณะและก่อสร้างรถบีอาร์ที 5 เส้นทาง หาดใหญ่ สงขลา มีแผนจะพัฒนาระบบขนส่งมวลชน สร้างระบบโมโนเรล (รถไฟรางเดี่ยว) จะลงทุนไม่น้อยกว่า 12,000 ล้านบาท ขณะที่ “ภูเก็ต” จะสร้างรถบีอาร์ที 3 เส้นทาง 76.6 กม. ลงทุน 12,816 ล้านบาท เป็นต้น

ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่วางแผนแก้ปัญหาออกเป็น 3 ระยะ โดยระยะ 1-3 ปี ลงทุน 700-1,000 ล้านบาท จัดระเบียบรถสี่ล้อแดงและรถบัสให้เป็นระบบ ระยะกลางใน 10 ปี ลงทุน 14,000 ล้านบาท สร้างรถไฟโมโนเรล วิ่งบริการในเมือง กำลังพิจารณาเป็นรถ บีอาร์ทีหรือรถรางไฟฟ้า

ส่วนแผนระยะยาว 10 ปีขึ้นไป ตั้งเป้าที่จะสร้างระบบขนส่งมวลชนครอบคลุมเขตเมืองและนอกเมือง ลงทุน 17,000 ล้านบาท ใน 3-10 ปี ระยะทาง 50 กม. วิ่งภายในถนนวงแหวนรอบ 2 พื้นที่ 150 ตร.กม. มี 4 สาย อาทิ ศูนย์ราชการ-สามแยกสันทราย อีกทั้งในอนาคตกรมทางหลวง (ทล.) จะขยายถนนวงแหวนรอบที่ 3 เป็น 4 ช่องจราจร ระยะทาง 28 กม. วงเงิน 1,000 ล้านบาท เป็นต้น

ไม่ว่าจะเป็นแผนงาน โครงการในรูปแบบใด เพื่อบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชนของเมืองให้มีประสิทธิภาพ ล้วนมีความจำเป็น ที่ต้องคิดและร่วมกำหนดอนาคต เทคโนโลยี พัฒนาก้าวไกล

โมโนเรล สร้างได้เร็วเพราะโครงสร้างง่าย ค่าก่อสร้างถูกกว่าระบบรถไฟฟ้าระบบสองราง เช่น ของบีทีเอส หรือรถไฟใต้ดิน ขึ้นอยู่กับการออกแบบ สถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวก ความปลอดภัย และรูปลักษณ์ ยี่ห้อด้วย

ผลศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ จากสถาบันศึกษาชั้นนำในภาคเหนือ ล้วนแล้วเป็นข้อมูลที่ชี้ชัดว่า อนาคตของเชียงใหม่ ต้องมีระบบขนส่ง ต้องเปิดทางเลือก และวางแผนจัดการปัญหาการคมนาคม ขนส่ง การจราจร ที่เหมาะสมกับภูมิสังคม ก่อนจะเกิดต้นทุนที่เพิ่มสูงมากเกินจำเป็น ทั้งๆที่เห็นและวางอนาคตไว้แล้ว จากผลศึกษา วิจัย ขาดเพียง งบประมาณและการตัดสินใจเดินเครื่องแผนขนส่งมวลชนเชียงใหม่

ร่วมแสดงความคิดเห็น