วช. ร่วมกับ มน. เครือข่ายวิจัยภูมิภาค จัดงาน “มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาคประจำปี 2560”

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) และเครือข่ายวิจัยภูมิภาค : ภาคเหนือ จัดงาน “มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาคประจำปี 2560 (Regional Research Expo 2017)” ระหว่างวันที่ 23 – 25 มีนาคม 2560 ณ อาคารเอกาทศรถ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก โดย พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงานพร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การขับเคลื่อนงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ภูมิภาค” โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร และรองศาสตราจารย์ ดร.อาวรณ์ โอกาสพัฒนกิจ ประธานเครือข่ายภูมิภาค : ภาคเหนือ ร่วมพิธีเปิดในวันที่ 23 มีนาคม 2560

พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการเผยแพร่ผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ และเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนในภูมิภาคเกิดความสนใจในการนำผลงานวิจัยมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับตนเองและส่วนรวม โดยเฉพาะเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ทราบถึงความก้าวหน้าของผลงานวิจัยไทย ปัจจุบันการพัฒนาประเทศมีข้อจำกัดในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ การสร้างองค์ความรู้ใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหา พร้อมไปกับการพัฒนา จึงถือว่าเป็นกลไก

ที่สำคัญ ดังนั้นการส่งเสริมการสร้างองค์ความรู้ผ่านการวิจัยและนวัตกรรมต่าง ๆ เป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนเพื่อการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ Thailand 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน การผลิตงานวิจัยที่มีคุณภาพ และการสร้างระบบการวิจัยของประเทศที่เข้มแข็ง ร่วมกับการวิจัยที่มีคุณภาพจะทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาและการยกระดับคุณภาพที่ดีขึ้นการจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค” นี้จะทำให้เกิดการบูรณาการเชื่อมโยงองค์ความรู้ ผลงานวิจัยสู่เวทีสาธารณะและผู้เกี่ยวข้องให้ทราบถึงผลงานวิจัยได้ทั่วถึงในทุกระดับ ซึ่งจะเป็นการช่วยขับเคลื่อนประเทศได้อีกทางหนึ่ง

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า “มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค” จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ หรือภาคใต้ เพื่อขยายผลสำเร็จจากการจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ” หรือ Thailand Research Expo ไปสู่การจัดเวทีในระดับภูมิภาค โดย วช. และหน่วยงานที่มีความพร้อมในส่วนภูมิภาคร่วมเป็นเจ้าภาพ

ในจัดงาน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่นักวิจัยและนักวิชาการในระดับภูมิภาค ได้นำเสนอผลงานที่มีคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย นอกจากนี้ ยังเป็นการให้ผู้ใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยและผู้เกี่ยวข้องกับงานวิจัยได้เข้าถึงผลงานวิจัย นักวิจัยและผู้ให้บริการการวิจัยมากยิ่งขึ้น สำหรับในปี 2560 วช. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยนเรศวร และเครือข่ายวิจัยภูมิภาคได้ร่วมกันจัดงาน ภายใต้แนวคิดหลัก “CHANGE จากผู้ใช้เป็นผู้ผลิต ด้วยผลงานวิจัยและนวัตกรรม” โดยมี Mascot เป็นช้าง ชื่อ “น้อง CHANGE” ซึ่งสื่อความหมายถึง การใช้ช้างเป็นส่วนหัวซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยนเรศวร ใส่สูทเทาแสดสื่อถึงความพร้อมปรับตัวเข้าสู่สากล นุ่งโจงกระเบนแสดงถึงความไม่ละทิ้งความเป็นไทย

การจัดงานในครั้งนี้ ประกอบด้วยนิทรรศการและกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย อาทิ การประชุมเครือข่ายวิจัยภูมิภาค การสัมมนาวิชาการ การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ และการนำเสนอผลงานวิจัยเด่นจากผลงานวิจัยที่เข้าร่วมจัดนิทรรศการในแต่ละด้าน อาทิ การบรรยายพิเศษ เรื่อง “University 4.0” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.พีระพงศ์ ฑีฆสกุล จากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) การเสวนาอนาคตของเกษตรอัจฉริยะ (smart farming) พร้อมชมสาธิตการฉีดพ่นสารเคมีทางการเกษตรด้วยอากาศยานไร้คนขับ โดรน และ เฮลิคอปเตอร์ กลุ่มอาหาร เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ เช่น ขี้เถ้าแกลบชะลอการสุกของผลไม้ ลาก่อนปลาเกลือแบบดั้งเดิมนครสวรรค์ ผลิตภัณฑ์แก้อาการเผ็ด กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ เช่น ส้วมสไลเดอร์ ผลงานประดิษฐ์ เพื่อสร้างเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย “หุ่นยนต์มหัศจรรย์

เครื่องส่องให้ความอบอุ่นทารกแรกคลอดโดยการแผ่รังสี กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้อิเล็กทรอนิกส์ควบคุม เช่น ตู้อบแห้งด้วยอินฟราเรดระยะไกล การออกแบบและพัฒนาเครื่องปอกเปลือกทุเรียนพันธุ์หลงลับแลแบบกึ่งอัตโนมัติ แขนกลเพื่อการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก ระบบแนะนำท่องเที่ยวประเทศไทย ภายใน 3 นาที ด้วยออนโทโลยี ระบบนำเสนอข้อมูลท่องเที่ยววัดใหญ่ ด้วย AR (Augmented Reality) ระบบแนะนำวัตถุดิบและอาหารสำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยในโรงพยาบาล เครื่องควบคุมเพาะเลี้ยงเห็ดอัตโนมัติ กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง เช่น แสดงผลิตภัณฑ์จากการวิจัยพัฒนาเครื่องสำอางกลิ่นดอกกล้วยไม้ช้างกระ โครงการการจัดการชุมชนท่องเที่ยวบนพื้นที่ภูลมโลและพื้นที่เชื่อมโยงอย่างยั่งยืน เป็นต้น

นอกจากนี้ยังได้มีพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือจำนวน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.บันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านมาตรฐานความปลอดภัย ห้องปฏิบัติการ โดย วช. ลงนามร่วมกับ ประธานเครือข่ายวิจัยภูมิภาคภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยนเรศวร 2.บันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยของประเทศ โดย วช. ลงนามร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม และมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง และ 3.บันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการจัดตั้งคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนระดับเขต โดย วช. และมหาวิทยาลัยนเรศวร ลงนามร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พุทธชินราช

และ ความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการพัฒนาประเทศ Research University Network, Thailand (RUN) ร่วมกับ กลุ่มผู้ประกอบการ จากสภาอุตสาหกรรม หอการค้า ในเขตภาคเหนือ ซึ่งมีความตั้งใจที่จะทำเมือง “พิษณุโลก 4.0” เป็นต้นแบบให้กับประเทศ จากงานวิจัยและสร้างนวัตกรรมให้เป็นโมเดลที่สอดคล้องกับแนวนโยบาย Thailand 4.0 เป็นต้นแบบของการดำเนินการพัฒนาพื้นที่ในการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจสังคมของท้องที่ จากงานวิจัยสู่นวัตกรรมด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

ร่วมแสดงความคิดเห็น