ฟัก ปรุงเป็นอาหารช่วยบำรุงร่างกาย

ฟักเขียว ฟักขาว ฟักแฟง บักฟัก ขี้พร้า ฟักหม่น ฯลฯ ผักสวนครัวชนิดหนึ่งที่ปลูกง่าย หาได้ง่าย เป็นผักชนิดแรกที่เด็กเริ่มหัดกิน ช่วยในเรื่องระบบย่อยอาหารและบำรุงร่างกายได้ นิยมนำมาใส่ในแกง ต้ม ผัดต่างๆ บ้างทำเป็นขนมหวานในเทศกาล

แต่เมนูยอดนิยมคงจะเป็นแกงเขียวหวานไก่ฟักเขียว แกงจืดฟักต้มกับไก่ แกงเลียง ฟักเขียวผัดกับหมูใส่ไข่ ฟักเชื่อม รวมถึงยอดอ่อนที่นำมาลวก หรือต้มกะทิ กินกับนํ้าพริกได้ มีรสชาติอร่อยไม่แพ้ผักอื่นเหมือนกัน ตำรายาจีนโบราณกาลระบุว่า “สำหรับผู้ที่อยากให้ร่างกายผอมแต่แข็งแรงให้กินเป็นประจำ ถ้าอยากอ้วนก็อย่ากิน”

สรรพคุณ :
– ใบ แก้ฟกชํ้า แก้พิษผึ้งต่อย ช่วยรักษาบาดแผล แก้โรคบิด แก้ร้อนในกระหายนํ้า แก้บวมอักเสบมีหนอง
– ผล ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ แก้ไอ แก้ธาตุพิการ แก้โลหิตเป็นพิษ บวมนํ้า หลอดลมอักเสบ
– ไส้ฟัก แก้อาเจียนเป็นโลหิต แก้ฝีที่เต้านม
– เมล็ด ใช้ลดไข้ แก้ริดสีดวงทวาร แก้โรคทางเดินปัสสาวะ แก้ไตอักเสบ บำรุงผิว ละลายเสมหะ ตกขาว
– ราก ต้มดื่มแก้ไข้ แก้กระหายนํ้า ถอนพิษ
– เถาสด รสขมเย็น ใช้รักษาริดสีดวงทวาร มีไข้สูง
– เปลือก เป็นยาแก้บวม ขับปัสสาวะ แก้ท้องเสีย แผลบวมอักเสบ มีหนอง

ตำรับยา :
1. แก้ร้อนใน ไข้สูง หรือไตอักเสบเรื้อรัง : ใช้ฟัก 500 กรัม ต้มนํ้าให้ได้ประมาณ 3 แก้ว แบ่งกิน 3 ครั้ง ใน 1 วัน
2. สตรีเบาขัดในระหว่างตั้งครรภ์ : คั้นนํ้าฟัก 1 แก้ว ผสมนํ้าผึ้งให้พอมีรสหวาน ดื่มบ่อยๆ
3. ผิวหนังมีอาการแพ้เป็นผด: ต้มเปลือกฟัก ล้างบริเวณที่เป็น
4. ผลัดตกหกล้ม เอวเคล็ด : ใช้เปลือกฟักผิงไฟให้แห้ง บดเป็นผงผสมเหล้ากินครั้งละ 6 กรัมจะช่วยลดความเจ็บปวดได้
5. ไตอักเสบบวมนํ้า : ใช้เปลือกฟัก 120 กรัม หนวดข้าวโพด 30 กรัม ต้มกิน แบ่งนํ้าที่ต้มได้เป็น 3 ส่วน กินใน 1 วัน
6. ไออักเสบเรื้อรัง : ใช้เมล็ดฟัก 15-30 กรัม ต้มกินนํ้า
7. ระดูขาว : ใช้เมล็ดฟัก 30 กรัม บดเป็นผง เติมนํ้าตาลกรวด 30 กรัม ตุ๋นกินวันละ 2 ครั้ง
8.เบาหวาน : ให้ต้มฟักที่ปลอกเปลือกแล้ว ต้มนํ้ากินครั้งละ 60-90 กรัมเป็นประจำ จะทำให้เบาหวานลดลง
9.ริดสีดวงทวาร : อาการอักเสบเจ็บบริเวณทวารหนัก ให้ต้มฟักแล้วเอานํ้าล้างจะลดการอักเสบลงได้

ที่มา: มูลนิธิหมอชาวบ้าน

ร่วมแสดงความคิดเห็น