สกู๊ปหน้า1…เชียงใหม่เร่งปราบมือเผาป่า

ศูนย์สั่งการไฟป่าหมอกควันอำเภอเมืองเชียงใหม่ถกรับมือช่วงครึ่งหลังรณรงค์ 60 วันห้ามเผา จับมือผู้เกี่ยวข้องทั้ง 9 ตำบลในพื้นที่ลงนาม MOU วางกรอบ 12 ข้อสู้ไฟ พื้นที่ดอยสุเทพห้ามเด็ดขาดมิให้ผู้ใดทำให้เกิดไฟ พร้อมห้ามเข้าเพื่อเก็บหาของป่า ล่าสัตว์ หรือกำจัดวัชพืช ย้ำกำนันผู้ใหญ่บ้านควบคุมการเผาในพื้นที่รับผิดชอบ โฟกัสไปยังที่ดินรกร้างว่างเปล่า ย้ำให้ถือเป็นภารกิจเร่งด่วนและเป็นตัวชี้วัดการปฏิบัติหน้าที่ พร้อมให้ทุกพื้นที่เพิ่มความถี่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนให้เกิดความตระหนัก

ที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงใหม่ นายศรัณยู มีทองคำ นายอำเภอเมืองเชียงใหม่ นายชัยณรงค์ นันตาสาย ปลัดอาวุโสอำเภอเมืองเชียงใหม่ ประชุมข้าราชการเจ้าหน้าที่ ทหาร กำนัน และผู้แทน อปท.ในพื้นที่ทั้ง 9 ตำบล เพื่อซักซ้อมแนวทางและติดตามการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ในเขตป่าอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ซึ่งมีด้วยกัน 3 ตำบล ประกอบด้วย ต.ช้างเผือก ต.สุเทพ และ ต.แม่เหียะ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นพื้นที่ป่าที่อยู่ใกล้ตัวเมืองเชียงใหม่

การประชุมเพื่อติดตามปัญหาไฟป่าหมอกควันของศูนย์อำนวยการสั่งการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันอำเภอเมืองเชียงใหม่มีการประชุมในทุกวันศุกร์ เวลา 13.00 น. สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายศรัณยู มีทองคำ นายอำเภอเมืองเชียงใหม่ ได้มีข้อสั่งการให้ผู้รับผิดชอบทั้ง 9 ตำบล ทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าอำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ประจำปี พ.ศ.2560 เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติในช่วงเวลาที่เหลือของการรณรงค์ “60 วันห้ามเผาเราทำได้” ของจังหวัดเชียงใหม่และต่อเนื่องในช่วงขั้นตอนสร้างความยั่งยืน ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน เป็นต้นไป

ในบันทึกข้อตกลงดังกล่าวมีการระบุการบังคับใช้บันทึกความตกลงไว้ด้วย 12 ประการ โดยระบุว่า ภายในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า เขตป่าสงวนแห่งชาติ และเขตป่าไม้ ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ห้ามมิให้ผู้ใดทำให้เกิดไฟทุกชนิด ประการที่ 2 ห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า เขตป่าสงวนแห่งชาติ และเขตป่าไม้ ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 เพื่อเก็บหาของป่า ล่าสัตว์ หรือกำจัดวัชพืช โดยใช้ไฟอย่างเด็ดขาด ประการที่ 3 การดำเนินการเพื่อลดปริมาณเชื้อเพลิงตามหลักวิชาการ สามารถดำเนินการได้โดยต้องประสานเจ้าหน้าที่หน่วยงานควบคุมไฟป่าในพื้นที่ เพื่อดำเนินการร่วมกันให้ถูกต้องตามหลักวิชาการโดยต้องแจ้งพิกัดการดำเนินงาน รายงานศูนย์อำนวยการสั่งการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าอำเภอท้องที่เพื่อรวบรวมรายงานจังหวัด ประการที่ 4 การจัดทำแนวกันไฟให้ดำเนินการในทุกพื้นที่ที่มีเขตติดกับป่า โดยประสานงานกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง และต้องจัดทำแนวกันไปให้มีขนาดความกว้างไม่น้อยกว่า 8 เมตร ตลอดแนว พร้อมระบุพิกัดแนวกันไฟ ประการที่ 5 ในเขตป่าไม้ ราษฎรต้องให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการดับไฟป่าในกรณีที่ทางราชการร้องขอ และหากพบเห็นไฟไหม้ป่าบริเวณใด ให้ช่วยกันดับเสียแต่ต้น เพื่อไม้ให้ไฟป่าขยายออกเป็นวงกว้าง หากไฟป่ารุนแรงไม่สามารถดับได้ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่หน่วยควบคุมไฟป่าในพื้นที่ที่อยู่ใกล้ที่สุด เพื่อสั่งเจ้าหน้าที่เข้าระงับดับไฟป่าทันที หรือโทรแจ้งที่ศูนย์อำนวยการสั่งการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าอำเภอเมืองเชียงใหม่ หมายเลขโทรศัพท์ 0-5332-6108, 0-5321-7919 เพื่อแจ้งศูนย์อำนวยการสั่งการระดับตำบลทราบและดำเนินการ หรือแจ้งเหตุให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ประการที่ 6 หากมีการจุดไฟเผาป่าหรือปล่อยให้ไฟลุกลามเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า เขตป่าสงวนแห่งชาติ และเขตป่าไม้ ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 จะต้องได้รับโทษตามกฎหมาย ประการที่ 7 ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ควบคุมการเผาทุกชนิดในพื้นที่รับผิดชอบ ทั้งในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ พื้นที่รกร้องว่างเปล่า พื้นที่สาธารณะ พื้นที่สองข้างทาง รวมทั้งการเผาขยะ กิ่งไม้ใบไม้ตามบ้านเรือน และสนับสนุนการควบคุมไฟป่า โดยถือเป็นภารกิจเร่งด่วน และเป็นตัวชี้วัดในการปฏิบัติงาน ประการที่ 8 ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ประชาสัมพันธ์ออกเสียงตามสาย การสื่อสารทุกประเภท ให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบถึงปัญหาและพิษภัยของหมอกควันไฟป่า และงดการเผาทุกชนิด การกำจัดขยะจากบ้านเรือนให้ใช้การคัดแยกขยะ หรือทำปุ๋ยหมักแทนการเผา ขอให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาสุขภาพโดยถือเป็นภารกิจเร่งด่วน และเป็นผลงานการประเมินการปฏิบัติหน้าที่ของกำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ประการที่ 9 เมื่อมีความจำเป็นต้องเผาวัชพืชในพื้นที่เกษตร ก่อนมีการประกาศห้ามเผาเด็ดขาดให้ราษฎรต้องขออนุญาตจากกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านในเขตปกครองท้องที่นั้นๆ เพื่อแจ้งต่อนายอำเภอก่อนที่จะดำเนินการทุกครั้ง พร้อมกับต้องจัดทำแนวกันไฟและควบคุมไฟมิให้ลุกลามไปยังพื้นที่อื่นๆ ประการที่ 10 หากราษฎรผู้ใดไม่แจ้งขออนุญาตต่อกำนัน หรือผู้ใหญ่บ้าน หรือขออนุญาตแล้วแต่ไม่จัดทำแนวกันไฟ และมิได้ควบคุมไฟให้อยู่ในพื้นที่ที่ตนเองถือครอง จนเป็นเหตุให้ไฟลุกลามไหม้ป่า ให้กำนัน หรือผู้ใหญ่บ้านแจ้งต่อนายอำเภอท้องที่ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายแก่ราษฎรที่ฝ่าฝืนหรือปล่อยปละละเลยโดยเฉียบขาดทุกราย โดยเฉพาะราษฎรที่บุกรุกเข้าไปแผ้วถางป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ หรือเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า อำเภอจะร่วมกับจังหวัดพิจารณาใช้นโยบายอพยพราษฎรผู้บุกรุกพื้นที่ดังกล่าวออกจากป่าตามที่เห็นสมควร และจะดำเนินคดีในทุกข้อกล่าวหาความผิดที่เกิดขึ้น ประการที่ 11 ข้าราชการในพื้นที่ทุกคน ทุกสังกัด นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน คณะกรรมการหมู่บ้าน คณะกรรมการชุมชน และสมาชิกสภาท้องถิ่น ให้ถือเป็นหน้าที่ต้องสอดส่องดูแลเอาใจใส่ และร่วมชี้แจงให้ประชาชนในท้องที่ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงฉบับนี้อย่างเคร่งครัด และประการที่ 12 ให้ทุกหมู่บ้านจัดตั้งอาสาสมัครดับไฟป่า โดยเฉพาะ ต.สุเทพ ต.แม่เหียะ และ ต.ช้างเผือก และสามารถปฏิบัติหน้าที่ดับไฟได้เมื่อมีการเผา ตลอดจนการออกตรวจลาดตระเวน ราษฎรร่วมปฏิบัติงานกับเจ้าหน้าที่ประจำจุดเฝ้าระวังไฟป่าเพื่อตรวจตราควบคุมผู้เข้าหาของป่าให้ปฏิบัติตามกฎหมายและประกาศจังหวัดเชียงใหม่อย่างเคร่งครัด

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า MOU ดังกล่าวได้แยกเป็นรายตำบล ประกอบด้วย ต.ช้างเผือก สุเทพ แม่เหียะ ป่าแดด หนองหอย ท่าศาลา หนองป่าครั่ง ฟ้าฮ่าม และ ต.สันผีเสื้อ และเป็นการลงนามระหว่างนายอำเภอเมืองเชียงใหม่ ปลัดอำเภอผู้ประสานงานรับผิดชอบในแต่ละตำบล ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน และผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้านในตำบลนั้น ซึ่งคาดว่าจะเป็นแนวทางที่ชัดเจนสำหรับการปฏิบัติในช่วงครึ่งหลังของการรณรงการห้ามเผา

เจ็ดขุนพล

ร่วมแสดงความคิดเห็น