โพลสำนักควบคุมโรคชี้ สาเหตุปัญหาหมอกควันเกิดจาก ประชาชนไม่ให้ความร่วมมือ

วันที่ 27 มี.ค.60 นายแพทย์วิทยา หลิวเสรี ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ เปิดเผยว่า สำนักงานป้องกันและควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ หรือ สคร.1ชม. ได้ทำการสำรวจความคิดเห็น หรือ ทำ poll เรื่อง มุมมองคนเมืองเรื่องปัญหาหมอกควัน เผย “ประชาชนยังไม่สนใจป้องกันตนเองจากหมอกควันและปัญหาหมอกควันเกิดจากสาเหตุความไม่ร่วมมือของประชาชน และประชาชนไม่ตระหนักถึงสาเหตุของปัญหาหมอกควัน” โดยสอบถามประชาชนชาวเชียงใหม่ ซึ่งเป็นประชาชนชาวไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 115 คน แยกเป็นชาย 38 คน เป็นหญิง 77 คน โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 27-28 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา พบว่า ประชาชน

ส่วนใหญ่เห็นว่า ปัญหาหมอกควันเกิดจากสาเหตุไฟป่า ป้องกันตนเองโดยสวมหน้ากาอนามัยชนิดใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง กลุ่มผู้สูงอายุคือกลุ่มเสี่ยงที่ควรดูแลเป็นพิเศษ หากมีอาการผิดปกติต้องพบแพทย์ สาเหตุส่วนใหญ่ที่เกิดหมอกควันคือความไม่ร่วมมือของประชาชน ที่น่าสนใจคือ ประชาชนส่วนใหญ่ ประมาณ 45 เปอร์เซ็นต์ ไม่ทราบขนาดของฝุ่นละอองที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่สามารถระบุอาการทางเดินหายใจที่เกิดจากฝุ่นละอองในอากาศ คือ ไอ หอบหืด หลอดลมอักเสบ อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ มีประชาชนบางส่วนยังไม่ป้องกันตนเอง และเข้าใจผิดว่าอนุภาคหมอกควันมากกว่า 10 ไมครอนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องสื่อสารความเสี่ยงเพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้อง และนำข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็นของประชาชนไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินงาน ป้องกันแก้ไขปัญหาผลกระทบหมอกควันต่อสุขภาพของประชาชน

ทั้งนี้ผลการสำรวจที่ได้ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการเกิดปัญหาหมอกควัน ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าปัญหาหมอกควันมีสาเหตุมาจาก ไฟป่า รองลงมาคือ การเผาเศษพืชและวัสดุการเกษตร และการเผาขยะมูลฝอยจากชุมชน คิดเป็นร้อยละ 26.9, 22.0 และร้อยละ 19.4 ตามลำดับ ส่วนการป้องกันตนเองหากอยู่ในบริเวณที่มีควันไฟหรือหมอกควัน ร้อยละ 85.2 เห็นว่า ควรสวมหน้ากากอนามัย รองลงมาร้อยละ 12.2 ให้ใช้ผ้าชุบหมาดๆ ปิดปากและจมูก และที่น่าสนใจยังพบประชาชนร้อยละ 2.6 มีความเห็นว่า เฉยๆ ไม่ทำอะไร

เกี่ยวกับความคิดเห็นต่อการเลือกใช้หน้ากากอนามัยในการป้องกันหมอกควัน ประชานร้อยละ 49.6 เลือกใช้หน้ากากอนามัยกระดาษแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง รองลงมาร้อยละ 43.5 จะเลือกใช้หน้ากากอนามัยแบบผ้า เกี่ยวกับกลุ่มเสี่ยงที่ควรดูแลเป็นพิเศษหากเกิดปัญหาหมอกควันในพื้นที่ ประชาชนร้อยละ 22.7 เห็นว่า ผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มที่ควรดูแลเป็นพิเศษ รองลงมาร้อยละ 21.6 คือ กลุ่มเด็ก ที่ต้องดูแลเป็นพิเศษด้วย ด้านการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดอาการผิดปกติ ส่วนใหญ่เห็นว่า ควรรีบไปพบแพทย์ รองลงมา คือออกจากพื้นที่ที่มีหมอกควัน และซื้อยารักษาตามอาการ คิดเป็นร้อยละ 86.1 , 9.6 และร้อยละ 4.3 ตามลำดับ

สำหรับความคิดเห็นต่อสาเหตุสำคัญที่เกิดปัญหาหมอกควันในทุกปี ประชาชนร้อยละ 53.0 เห็นว่า เกิดจากความไม่ร่วมมือของประชาชน รองลงมาร้อยละ 45.2 เห็นว่า ไม่ตระหนักถึงสาเหตุปัญหาหมอกควัน นอกจากนี้ยังมีความเห็นอื่นที่น่าสนใจคือ เกิดจากความเห็นแก่ตัวของบุคคลบางกลุ่มในการเผาหญ้าเพื่อใช้เป็นพื้นที่ทางการเกษตร เกี่ยวกับขนาดฝุ่นละอองที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เป็นที่น่าสนใจโดยประชาชน ผลการสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่ไม่ทราบขนาดของฝุ่นที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ มากถึง 50 คน คิดเป็นร้อยละ 43.5 รองลงมา มีความเห็นว่าขนาดฝุ่นมากกว่า 10 ไมครอนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ คิดเป็นร้อยละ 34.8 และ มีความเห็นว่าขนาดฝุ่นน้อยกว่า 10 ไมครอนเป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ ร้อยละ 21.7

ประเด็นสุดท้ายของการสำรวจเป็นคำถามที่ถามถึง อาการในระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากฝุ่นละอองในอากาศ ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า เกิดอาการ ไอ หอบหืด หลอดลมอักเสบ คิดเป็นร้อยละ 42.5 รองลงมา ในระยะยาวเสี่ยงต่อการเกิด มะเร็งปอด คิดเป็นร้อยละ 28.8 และระคายเคืองและอักเสบได้ คิดเป็นร้อยละ 28.3
ทั้งนี้ ผอ.สคร.1ชม. ได้ให้คำแนะนำว่า จากผลการสำรวจแม้ประชาชนส่วนใหญ่จะมีความรู้ความตระหนักและพฤติกรรมป้องกันปัญหาหมอกควันค่อนข้างดี แต่ยังพบว่ามีประชาชนที่ยังไม่มีความรู้ ดังจะเห็นได้จากบางข้อคำถามเมื่อถามถึง การป้องกันตนเองหากอยู่ในบริเวณที่มีควันไฟหรือหมอกควัน พบว่ายังมีประชาชนกลุ่มตัวอย่างที่ตอบ เฉย ๆ ไม่ทำอะไร ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประชาชนกลุ่มนี้ยังไม่ตระหนักถึงผลกระทบต่อสุขภาพจากปัญหาหมอกควัน หรืออีกคำถามที่ถามว่า ขนาดฝุ่นละอองที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ยังพบว่ามีประชาชนกลุ่มตัวอย่างถึง 50 คน ที่ไม่ทราบขนาดของฝุ่นที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และประชาชนกลุ่มตัวอย่าง 40 คน ที่เห็นว่า ขนาดฝุ่นมากกว่า 10 ไมครอนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นความรู้ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง และมีประชาชนกลุ่มตัวอย่างเพียงแค่ 25 คน ที่มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับขนาดฝุ่นละอองที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพคือ มีขนาดน้อยกว่า 10 ไมครอน แสดงให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ดังนั้นควรจะมีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนเพิ่มเติม ทั้งการจัดทำสื่อ เช่น โปสเตอร์, Info graphic หรือการเผยแพร่ข้อมูลผ่าน Social หรือสื่อออนไลน์ต่างๆ อาทิ Line, Face book รวมทั้งสื่อที่เหมาะสมในบริบทของพื้นที่และบุคคล

ร่วมแสดงความคิดเห็น