เจเอฟเอ ลงนามบันทึกข้อตกลง กับสมาคมฯ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ และความร่วมมือระหว่างประเทศ

วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2560 เวลา 13.00 น. ณ JFA House จังหวัดโตเกียว สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ลงนามบันทึกข้อตกลงความ ร่วมกับ สมาคมฟุตบอลประเทศญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมถึงร่วมกันสนับสนุนและผลักดันความสำเร็จ ในกีฬาฟุตบอลของทั้งสองประเทศ

การลงนามครั้งนี้ได้ประกอบไปด้วย พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย, คุณ วิทยา เลาหกุล อุปนายกฯฝ่ายพัฒนาเทคนิค ,คุณ พาทิศ ศุภะพงษ์ รองเลขาธิการฝ่ายต่างประเทศและโฆษก สมาคมฯ และ ทาชิมะ โคโซ นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศญี่ปุ่น

ทาชิมะ โคโซ นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า “ณ ตอนนี้มีนักเตะญี่ปุ่นกว่า 70 คน ที่ไปค้าแข้งในประเทศไทย ขอขอบคุณทั้งสโมสรและแฟนบอลไทย ที่ต้อนรับและดูแลนักฟุตบอลญี่ปุ่นอย่างดีและอบอุ่น สำหรับปีนี้ มีนักไทยเข้ามาเล่นที่ คาโงชิม่า และ ชนาธิป สรงกระสินธ์ ที่จะไปเล่นกับ คอนซาโดเล ซัปโปโร เราก็หวังอย่างยิ่งว่าจะมีนักฟุตบอลไทยเข้ามาเล่นในญี่ปุ่นอีก สำหรับวันนี้ผมยินดีอย่างยิ่งที่จะได้ลงนาม MOU ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น”

“เราพยายามสร้างความสัมพันธ์ที่ดีหลายๆด้าน เพื่อพัฒนาวงการฟุตบอลระหว่างประเทศในทุกๆด้าน สาเหตุที่เราตัดสินใจสร้างความสัมพันธ์กันครั้งนี้ เพราะท่าน สมยศ คนนี้ ซึ่งมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีและอบอุ่น รวมถึงมีทัศนคติที่ดีในการพัฒนาประเทศ และเป็นคนที่ผมนับถือมาก สุดท้ายคืนนี้มีการแข่งขันที่สำคัญมาก ไทยเป็นทีมเดียวจากอาเซียนที่เข้ามาถึงรอบนี้ หวังว่าการแข่งขันวันนี้จะสนุกและยุติธรรม ขอบคุณมากครับ”

พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ผมต้องขอขอบคุณสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น สำหรับการต้อนรับที่แสนจะอบอุ่น และเต็มไปด้วยมิตรภาพที่ดีต่อพวกเรา เป็นที่ทราบกันดีสำหรับประชาชนชาวญี่ปุ่น และประชาชนชาวไทย ว่าทั้งสองประเทศที่ความสัมพันธ์ทางการทูตที่ดีต่อกันกว่า 130 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งราชวงศ์ของไทยและญี่ปุ่น มีความสัมพันธ์ที่ดีและลึกซึ้งต่อกันมาอย่างยาวนาน ทั้งสองประเทศช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาวไทยต่างซาบซึ้งกับจักพรรดิ์ของประเทศญี่ปุ่น ที่เดินทางไปเคารพพระบรมศพของในหลวง รัชกาลที่ 9 เมื่อเร็วๆนี้”

“สิ่งที่ผมได้กล่าวมนี้ ทำให้ไม่ต้องสงสัยเลยว่า พี่น้องชาวไทยมีความรู้สึกอย่างไรต่อประเทศญี่ปุ่น นับตั้งแต่ผมได้รับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคมฟุตบอล ผมได้พยายามเรียนรู้และมองประเทศญี่ปุ่นเป็นแบบอย่าง ในการพัฒนากีฬาฟุตบอล เพราะทราบดีว่า กีฬาฟุตบอลที่ทางสมาคมฟุตบอลประเทศญี่ปุ่น ได้พัฒนามาอย่างยาวนาน 20 ปี และวันนี้ สิ่งที่คนญี่ปุ่นอดทนรอคอยมาอย่างยาวนานนาน แสดงให้เห็นแล้วว่าพวกเขาเป็นทีมอันดับ 1 ของเอเชีย สามารถผลิตนักกีฬาไปเล่นในยุโรปและอเมริกาได้เป็นจำนวนมาก ผมจึงยึดญี่ปุ่นเป็นแบบอย่าง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า วันหนึ่งทีมชาติไทย จะมายืนอยู่แถวหน้าแบบทีมชาติญี่ปุ่นได้”

“เมื่อเราอยากประสบความสำเร็จเหมือนทีมชาติญี่ปุ่น และใช้พวกเขาเป็นแบบอย่าง มันจึงขาดการได้รับการสนับสนุนจากสมาคมญี่ปุ่นได้ หลังจากหนึ่งปีผ่านไป ภายใต้ความสัมพันธ์ที่ดี และเป็นชาวเอเชียด้วยกัน ทำให้เราเรียนรู้กัน และผูกไมตรีต่อกันได้อย่างรวดเร็ว และผมก็ได้รู้มาว่าทั้งต่อหน้าและลับหลัง ทางนายกสมาคมของญี่ปุ่น ก็ให้การสนับสนุนประเทศไทยมาโดยตลอด ต้องขอขอบคุณท่านไว้ในโอกาสนี้ด้วยครับ”

“ในอดีตที่ผ่านมา มีความช่วยเหลือและแลกเปลี่ยนระหว่างสโมสร ทั้งสุพรรณบุรี, ชลบุรี และบางกอกกล๊าส รวมถึงล่าสุดคือ เอฟซี โตเกียว ที่ลงนามความร่วมมือกับ แบงค็อก ยูไนเต็ด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ผมได้ไปร่วมงานด้วย สำหรับวันนี้นับว่าเป็นประวัติศาสตร์ของวงการกีฬาฟุตบอลระหว่างประเทศ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ทั้งสองประเทศได้ลงนามร่วมกัน ผมเชื่อว่าภายใต้ข้อตกลงในวันนี้ จะนำไปสู่การพัฒนากีฬาฟุตบอลของประเทศไทยและญี่ปุ่นได้อย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไป และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทางสมาคมฟุตบอลญีปุ่น จะให้ความสนับสนุนในทุกๆด้านอย่างดี”

รายละเอียดและข้อตกลงใน MoU ระหว่างสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยและญี่ปุ่นนั้น ประกอบไปด้วย
1. การดำเนินงานของลีก
– ดำเนินการตาม MOU ระหว่าง ไทยลีก และ เจลีก ซึ่งจะถูกเซ็นบันทึกข้อตกลงไว้อีกหนึ่งฉบับ
2. พัฒนาทีมชาติ
– สนับสนุนและแลกเปลี่ยนความรู้ ในการบริหารจัดการของทีมชาติ
– ให้ความช่วยเหลือในด้านเทคนิค, โลจิสติกส์, สถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เวลาที่ทีมชาติของทั้งสองประเทศ (ฟุตบอลชาย, ฟุตบอลหญิง, ฟุตซอล และฟุตบอลชายหาด) เดินทางมาซ้อมหรือเก็บตัวในประเทศนั้นๆ
3. แลกเปลี่ยนความรู้และความเชี่ยวชาญดังต่อไปนี้
– การอบรมโค้ช/ผู้ฝึกสอน
– การพัฒนาระบบเยาวชน
– โปรเจ็คสำหรับระดับรากหญ้า
– การจัดการการแข่งขัน
– การตลาด
– การพัฒนาบุคลากรและโครงสร้างขององค์กร
– การจัดการและการดำเนินการของสถานที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับเกมฟุตบอล
4. การพัฒนาและการแลกเปลี่ยนในส่วนของผู้ตัดสิน
5. ศึกษาโปรเจ็คแลกเปลี่ยนในด้านเทคนิคต่างๆ, บุคลากรและการจัดการเจ้าหน้าที่ รวมถึงสโมสรพาร์ทเนอร์จากทั้งสองประเทศ

ร่วมแสดงความคิดเห็น