เร่งสานฝัน ม้าเหล็กรางคู่ เด่นชัย-เชียงราย

คมนาคมเสนอ ครม.โครงการรถไฟเส้นทางใหม่ 2 เส้นทาง โครงการรถไฟรางคู่เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และ เส้นทางบ้านไผ่-นครพนม “อาคม” ยืนยันเส้นทาง เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ผ่านการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมแล้วไร้กังวล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม ได้ตั้งเป้าจะเปลี่ยนการขนส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้าจากทางถนนเป็นรูปแบบการขนส่งทางรางให้เพิ่มขึ้นจากเดิมกำหนดไว้ที่ 2% เป็น 5-10% โดยการดำเนินงานในอนาคตของการรถไฟฯจะเน้นการเชื่อมโยงกับการเดินทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยเฉพาะเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าเส้นทางต่างๆ และการเชื่อมต่อโครงข่ายระหว่างจังหวัด เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่, โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายใหม่ เป็นต้น รวมถึงการเชื่อมโครงข่ายคมนาคมขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้าน

ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการขนส่งทางรางคาดว่าภายในเดือนเมษายน-พฤษภาคมนี้จะเสนอโครงการรถไฟเส้นทางใหม่ 2 เส้นทางให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาคือ โครงการรถไฟทางคู่เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และโครงการรถไฟทางคู่เส้นทางบ้านไผ่-นครพนม ซึ่งทั้งสองโครงการนี้ ยืนยันโครงการเป็นไปตามแผนและไม่ได้รับผลกระทบจากการทบทวนโครงการเหมือนกับ 5 โครงการรถไฟทางคู่ที่มีการทบทวนเงื่อนไขประกวดราคาหรือ TOR

ส่วนกรณีความกังวลตามกระแสข่าวที่ว่าโครงการรถไฟสายใหม่ เส้นทาง เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ อาจล่าช้าออกไปอีก 3-4 ปี เนื่องจากไม่ผ่านผลการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมนั้น นายอาคมยืนยันว่า โครงการดังกล่าวผ่านการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมแล้ว เตรียมเสนอโครงการต่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และที่ประชุมครม.ต่อไป

นายอาคมกล่าวว่า ในการร่าง TOR โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง ได้แก่ 1.ช่วงมาบกะเบา- ชุมทางจิระ ระยะทาง 132 กม. 2.ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 116 กม. 3.ช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 169 กม. 4.ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กม. และ 5.ช่วงหัวหิน-ชุมพร ระยะทาง 167 กม. จะได้ความชัดเจนภายในสัปดาห์นี้

แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้าง (ซูเปอร์บอร์ด) ได้มีมติให้ปรับปรุง TOR โครงการทางคู่ 5 เส้นทาง เพื่อความโปร่งใสนั้น TOR ใหม่จะแบ่งย่อยสัญญาการจ้างงานเล็ก เพื่อให้ผู้รับเหมาขนาดกลางลงแข่งขันได้ จากเดิมที่เป็นสัญญาใหญ่ คาดว่าจะทยอยเสนอเข้าสู่ที่ประชุมครม.อนุมัติภายในเดือนเมษายนนี้ ในเบื้องต้นจะแบ่งเป็นสัญญาย่อยออกเป็นรวม 13 สัญญา ในเบื้องต้นการยกเลิก TOR ฉบับเก่า จะส่งผลให้โครงการต้องล่าช้าออกไปบ้าง แต่คาดว่าภายในปี 2564 รถไฟทางคู่จะสามารถเปิดให้บริการได้ครบทุกเส้นทาง

ส่วนการประชุมครม.ในวันที่ 28 มีนาคม เป็นเพียงการรายงานผลความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ 5 เส้นทางเท่านั้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น