“ฟ้อนผีเม็ง” วิถีชนของคนเม็ง

“ศรัทธาของชาวเม็งมีความเชื่อว่า การได้อัญเชิญวิญญาณของผีบรรพบุรุษหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ผีเม็ง” หรือ “ผีปู่ย่า” มาทำพิธีฟ้อนในครั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว นอกจากนั้นการอัญเชิญผีเม็งมาฟ้อนในครั้งนี้เพื่อเป็นการแก้บนในโอกาสที่คนในครอบครัวหายจากการเจ็บป่วย”

ชาวเม็งหรือชาวมอญ นับได้ว่าเป็นกลุ่มชนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในอาณาจักรล้านนามาเนินนาน อาจเรียกได้ว่าชาวเม็งเป็นกลุ่มชนที่เข้ามาอยู่ในล้านนารองจากพวกลัวะ ซึ่งเป็นกลุ่มชนดั่งเดิมของที่นี่

วิถีชีวิตของชาวเม็ง ยังคงพบเห็นได้ในปัจจุบัน ดังเช่นพิธีกรรมการฟ้อนผีเม็ง ที่ว่ากันว่าเป็นการรวมเอาบรรดาผีเม็งที่มีอยู่ในล้านนามาชุมชนกันมากที่สุด และพิธีกรรมเช่นนี้ยังคงได้รับการสืบทอดต่อ ๆ กันมารุ่นแล้วรุ่นเล่า

การฟ้อนผีเม็งได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก เพราะตลอดทั้งวันที่มีพิธี ผีเม็งจะพากันออกมาฟ้อนรำทำเพลงตั้งแต่เช้าจนค่ำ จะหยุดพักก็เพียงกินข้าวกินน้ำเท่านั้น ความสนุกสนานแต่แฝงไว้ด้วยความเชื่อเช่นนี้เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่คนต่างถิ่นต่างแสวงหาจะเข้าร่วมในพิธีกรรมนี้ให้ได้สักครั้ง

เสียงดนตรีปี่พาทย์เริ่มบรรเลงเพลงโหมโรงอยู่ในประรำพิธีที่ชาวบ้านได้ช่วยกันสร้างขึ้นอย่างง่าย ๆ ด้วยเพราะว่าในวันนี้จะมีพิธีกรรมที่ชาวบ้านในระแวกนี้เฝ้ารอคอยมานาน จากความเชื่อของชาวเม็งแห่งชุมชนบ้านเม็งที่ได้สืบทอดพิธีกรรมนี้มาจากบรรพบุรุษมานานหลายชั่วอายุคน

ศรัทธาของชาวเม็งมีความเชื่อว่า การได้อัญเชิญวิญญาณของผีบรรพบุรุษหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ผีเม็ง” หรือ “ผีปู่ย่า” มาทำพิธีฟ้อนในครั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว นอกจากนั้นการอัญเชิญผีเม็งมาฟ้อนในครั้งนี้เพื่อเป็นการแก้บนในโอกาสที่คนในครอบครัวหายจากการเจ็บป่วย

การฟ้อนผีเม็งจะกระทำในช่วงระหว่างเดือน 4 ถึงเดือน 8 (เหนือ) และจะต้องทำในเดือนคู่เท่านั้น ส่วนใหญ่จะฟ้อนกันในช่วงระหว่างงานประเพณีปีใหม่เมือง (สงกรานต์) การฟ้อนผีเม็งแต่ละครั้งจะทำขึ้นเพื่อแก้บนที่ชาวบ้านได้บนบานศาลกล่าวเอาไว้ ซึ่งสิ่งที่ได้บนบานเอาไว้จะประสบความสำเร็จดังที่ปรารถนาหรือไม่ก็ตาม จะต้องทำพิธีแก้บนทุกครั้ง

“ผีเม็ง” หรือบรรพบุรุษผีปู่ย่า เป็นผู้ดูแลลูกหลานในชุมชนระแวกนี้ให้อยู่ดีมีสุข เมื่อใดก็ตามที่คนในชุมชนมีเรื่องเดือดร้อนหรือลูกหลานในสายตระกูลบรรพบุรุษผีเม็งเกิดการเจ็บไข้ได้ป่วย ก็จะทำพิธีแก้บนด้วยการอัญเชิญผีเม็งมาฟ้อน ขณะที่การฟ้อนจะใช้บริเวณลานโล่งของหมู่บ้าน มีการทำประรำพิธีอยู่ตรงกลางในประรำมีหิ้งสำหรับวางเครื่องใช้หรืออาหารสำหรับเลี้ยงผีเม็ง การเตรียมสถานที่หากบ้านใดไม่มีสถานที่กว้างพอก็อาจจะไปขอใช้สถานที่ของชาวบ้านใกล้เคียงก็ได้ โดยจัดเตรียมหมากส่วยพลูมาขอซื้อที่ เพื่อใช้ทำประรำแก้บนชั่วคราวเท่านั้น

พิธีฟ้อนผีเม็งจะเริ่มตั้งแต่ตอนเช้า ชาวบ้านที่ทราบข่าวก็จะพากันมาช่วยเตรียมสถานที่ พอสาย ๆ ก็จะทำพิธีอัญเชิญผีปู่ย่ามารับเครื่องเซ่นสังเวย บริเวณหน้าประรำพิธีจะมีต้นดอกแก้วและหม้อน้ำ เพื่อให้ผีเม็งมีฟ้อนรอบ ๆ ต้นไม้ นอกจากนั้นยังมีหม้อน้ำอีกหนึ่งใบตั้งไว้บนสามเส้า ชาวบ้านเรียกว่า หม้อน้ำฮ้า หม้อใบนี้จะมีความสำคัญต่อการทำพิธีฟ้อนผีเม็งโดยห้ามไม่ให้แตกหรือห้ามให้ผู้ใดมาสัมผัสโดน หากหม้อน้ำใบนี้แตกก็จะต้องเริ่มต้นทำพิธีนี้ใหม่ทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้น
คนที่จะทำพิธีฟ้อนผีเม็งได้จะต้องเป็นลูกหลานผู้หญิงที่อยู่ในสายตระกูลที่มีบรรพบุรุษเป็นผีเม็งเท่านั้น ชาวบ้านคนอื่นจะร่วมในการฟ้อนไม่ได้เป็นอันขาด หลังจากที่ได้อัญเชิญผี่ปู่ย่ามารับเครื่องเซ่นสังเวยแล้ว ก็จะให้ลูกหลานทุกคนมาทำการล้างหัวกล้วยและยำหัวกล้วย

การฟ้อนผีเม็งจะมีพิธีตลอดทั้งวันและพิธีกรรมแต่ละอย่างจะมีความละเอียดซับซ้อนมาก ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดจะต้องทำให้แล้วเสร็จภายในวันเดียว หลังจากที่ลูกหลานได้ล้างหัวกล้วยแล้วก็จะเตรียมที่ฟ้อนกินถ้วย ซึ่งภายในถ้วยที่นำมาฟ้อนจะประกอบด้วยอาหารต่าง ๆ อย่างละนิดละหน่อย เช่น ข้าวสุก, กล้วย, มะพร้าว, ไก่คั่วและขนมต่าง ๆ สำหรับงานฟ้อนผีเม็งวันนี้ลูกหลานได้มีการเตรียมถ้วยเพื่อใช้ฟ้อนกินถ้วยถึงเกือบ 60 ถ้วย การกำนดถ้วยนั้นก็แล้วแต่ว่าเจ้าภาพจะมีปัจจัยในการหาซื้ออาหารคาวหวานมากน้อยแค่ไหน จะกำหนดกี่ถ้วยก็ได้

หลังจากที่ลูกหลานของผีเม็งได้ร่วมกันฟ้อนกินถ้วยจนครบจำนวนทั้งหมดแล้ว จะต่องด้วยการฟ้อนเจ้าเชียงใหม่และมีการละเล่นสะบ้ากันเป็นที่สนุกสนานแก่ผู้มาร่วมงาน สำคัญที่สุดการจัดพิธีฟ้อนผีเม็งในหมู่บ้านแห่งนี้จะมีเพียงปีละครั้งเท่านั้น ดังนั้นงานดังกล่าวจึงมีชาวบ้านเดินทางมาร่วมงานทั้งจากระแวกใกล้เคียงและห่างออกไป เพราะว่ากว่าที่พวกเขาจะได้มาร่วมงานอีกครั้งก็ต้องรอจนถึงปีหน้า

ในงานฟ้อนผีเม็งครั้งนี้นอกจากการจัดให้มีการฟ้อนผีเม็งแก้บนแล้ว ยังเป็นการฟ้อนผีเม็งประจำปีในงานเดียวกันนี้เลย

การฟ้อนผีเม็งในช่วงเช้าจะเป็นการฟ้อนของผีมากกว่า พอถึงเวลาเย็นก็จะเน้นไปที่การละเล่นต่าง ๆ เช่น การเล่นชนไก่ การจุดบอกไฟ การเล่นคล้องช้างและการเล่นถ่อแพ นอกจากนั้นในส่วนของพิธีกรรมตอนกลางคืนนั้นก็มีความสำคัญไม่แพ้การฟ้อนผีในกลางวัน พิธีกรรมตอนกลางคืนนั้นจะมีการเลี้ยงผีนางน้อย ซึ่งเป็นผีที่ไม่สามารถเข้าร่วมฟ้อนในกลางวันได้ จึงจะต้องจัดเลี้ยงในเวลากลางคืน โดยเจ้าของบ้านที่จัดงานจะต้องนำเครื่องเซ่นสังเวยมาวางไว้บริเวณนอกบ้าน หลังจากนั้นก็จะปิดไฟในบ้านเพื่อแอบดูว่าผีนางน้อยมารับเอาเครื่องเซ่นไปหรือยัง

ผีนางน้อยจะมีร่างทรงเป็นคนมารับเอาเครื่องเซ่นไป โดยจะมีข้อห้ามว่าเมื่อผีนางน้อยถามอะไรไม่ให้เจ้าของบ้านพูดจาตอบโต้กับผีนางน้อยเป็นอันขาด หลังจากที่ผีนางน้อยกลับไปแล้วก็ถือว่าขั้นตอนการฟ้อนผีเม็งในปีนั้นเสร็จสิ้นลง

ปัจจุบันในพิธีกรรมฟ้อนผีเม็งเราจะพบว่ามีผีเม็งจำนวนมากมาร่วมฟ้อน ซึ่งบางคนเดินทางมาไกลจากอำเภออื่น บางคนไม่รู้จักกับเจ้าของบ้านแต่รู้ว่าบ้านนี้จะมีพิธีการฟ้อนผีเม็งก็มาร่วมงาน แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของคนเมืองต่อระบบความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ที่น่าสังเกตประการหนึ่งของการจัดพิธีฟ้อนผีเม็งส่วนใหญ่ผู้ที่มาฟ้อนจะเป็นเพศที่สามเป็นส่วนมาก ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าคนพวกนี้มีการอัธยาศัยกับคนอื่นได้ง่าย

พิธีกรรมและความเชื่อของชาวบ้านเม็ง ที่มีความเคารพนับถือต่อผีเม็งมานานหลายชั่วอายุนั้น แสดงให้เห็นถึงศรัทธาต่อผีบรรพบุรุษที่เป็นเสมือนศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านอย่างแท้จริง ทว่าสิ่งหนึ่งที่ชาวบ้านแห่งนี้ได้แสดงให้เห็นมากกว่าการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อก็คือ การร่วมแรงร่วมใจที่ช่วยกันคนละไม้ละมือเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงด้วยดี น่าจะเป็นตัวอย่างของการดำเนินชีวิตของชุมชนในชนบทที่ชุมชนอื่น ๆ สมควรจะนำไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดการพัฒนาและความสามัคคีขึ้นในชุมชนนั้น

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น