จังหวัดพิษณุโลก พร้อมเป็นต้นแบบ “พิษณุโลก 4.0”

ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพิษณุโลกเผย จังหวัดพิษณุโลกพร้อมเป็นต้นแบบของ พิษณุโลก 4.0 ด้วยความร่วมมือจากผู้ประกอบการและนักวิจัย จาก RUN เครือข่ายการวิจัยจาก 9 สถาบันอันดับต้นๆ ของประเทศ

จากการเสวนาในงานมหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค (Regional Research Expo 2017)” ณ อาคารเอกาทศรถ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก เมื่อเร็วๆ นี้ ในหัวข้อเราจะขับเคลื่อนพิษณุโลก 4.0 ได้อย่างไร โดยมีผู้ร่วมเสวนาที่สำคัญ 3 ท่านในบทบาทนักวิจัยและนักธุรกิจของจังหวัดพิษณุโลก ได้แก่ ศจ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ประธานเครือข่ายพัมธมิตร มหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย, ศ.น.สพ.ดร.มงคล เตชะคำพุ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย และ นายณัฐกร โช่จินดามณี ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพิษณุโลก

เพื่อพัฒนาจังหวัดพิษณุโลกให้เป็น พิษณุโลก 4.0 ตามนโยบายของจังหวัดและของรัฐบาล ศจ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ประธานเครือข่ายพันธมิตร มหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย กล่าวว่า หัวใจสำคัญของการเป็น ThaiLand 4.0 คือทำอย่างไรที่จะทำให้ประเทศมีศักยภาพในการแข่งขันโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อการผลิตที่น้อยแต่ได้คุณภาพที่มากขึ้น โดยเฉพาะคลาสเตอร์ 5 ด้านได้แก่ ผลผลิตทางด้านการเกษตรและอาหาร,อุตสาหกรรมด้านสุขภาพ,อุปกรณ์อัฉฉริยะ ดิจิตอลและการครีเอทีฟทรัพยากรต่างๆ

นอกจากนี้นวัตกรรมและงานวิจัยสามารถทำให้ภาคอุตสาหกรรมและการทำธุรกิจของจังหวัดพิษณุโลกมีการเติบโตได้ โดยเฉพาะใน SME แต่ภาคเอกชนมักจะไม่ยอมรับและกลัวเสียงบประมาณมาก ซึ่งศักยภาพของ SMEs มีผลต่อการทำให้สินค้าถูกลง ผลิตได้เร็วขึ้นและมากขึ้น และมีการผลิตสินค้าที่ดี เราสามารถใช้นวัตกรรมและงานวิจัยในการผลิตสินค้าที่ถูก เร็ว และดีได้ อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการเองจะต้องยอมรับสิ่งเหล่านี้ และเปิดกว้างมากขึ้นเพื่อให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น

ด้าน ศ.น.สพ.ดร.มงคล เตชะคำพุ ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย กล่าวว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัย 8 แห่งในประเทศ ได้ร่วมตัวกันเป็น RUN คือ เครือข่ายการวิจัย ที่มีผลงานการวิจัย กว่า 70 % ของการวิจัยในประเทศ มีนักวิจัยรวมตัวกันมากถึง 300-400 คน ซึ่งปีที่ผ่านมาได้รับงบประมาณกลุ่มคลาสเตอร์จำนวน 216 ล้านบาท แต่ปัญหาของ RUN คือ ข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณที่มีน้อย มีการทำวิจัยที่ซ้ำซ้อนในหลายๆมหาลัยและแต่ละมหาวิทยาลัยก็แข่งขันกันเอง ดังนั้นแนวโน้มของการเป็น ThaiLand 4.0 และ พิษณุโลก 4.0 ต้องอาศัยความร่วมมือของนักวิชาการและความร่วมมือจากภาคเอกชนหรือสถานประกอบการในพื้นที่เป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม การเป็นพิษณุโลก 4.0 จะต้องประกอบด้วย โมเดล 4 ตัว ได้แก่ นวัตกรรม งานวิจัย ต้นแบบที่อยากให้เป็น และ แผนงานที่จะต้องขับเคลื่อน ประสานกับ RUN ที่มีการทำงานเป็นทีมระหว่างคลาสเตอร์ โดยทำงานผสมผสานกันอย่างจริงใจ ความเท่าเทียม ความเป็นเลิศ ภายใต้การแชร์นักวิจัย ที่เป็นสหวิทยาการ ทั้งนี้ก่อนการลงทุนจะต้องมีการศึกษาความต้องการของชุมชนเป็นสำคัญ เนื่องจากสังคมศาสตร์มีความสำคัญในการพัฒนา

ทั้งนี้มหาวิทยาลัยนเรศวรจะเป็นแกนทำให้เกิด พิษณุโลก 4.0 โดยมีโจทย์มาจากความต้องการของชุมชนและจังหวัด และจะมีการตั้งหน่วยงานเพื่อจัดทำแผน ในการจัดอันดับความสำคัญของการขับเคลื่อนและอาจมีการลงทุนบ้าง ที่สำคัญการขับเคลื่อนครั้งนี้จะต้องมีผลกระทบต่อ GDP ของจังหวัดพิษณุโลก มากขึ้นกว่าเดิมที่เป็นอยู่ด้วย

ด้าน นายณัฐกร โซ่จินดามณี ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า จังหวัดพิษณุโลก มีการปรับเปลี่ยนเพื่อนำไปสู่ยุทธศาสตร์ พิษณุโลก 2020 โดยมีการเสนอโครงการ 12 โครงการ ในงบพัฒนาเมือง 5,000 ล้านบาท แต่เป็นโครงการศึกษาความพร้อมและความเป็นไปได้,ความคุ้มค่าของการลงทุน โดยภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดพิษณุโลก เป็นผู้ขับเคลื่อนและประสานงาน ขณะนี้มีความคืบหน้าพอสมควร เนื่องจากจังหวัดมีการจัดตั้งบริษัทเพื่อพัฒนาเมือง และมีความโดดเด่นทางโลจิสติค โดยเฉพาะบริเวณ 4 แยกอินโดจีน และการพัฒนาเป็นสนามบินนานาชาติ รวมทั้งอุตสาหกรรมด้านอาหารและสมุนไพร ทั้งนี้มองว่า การขับเคลื่อนที่สำคัญจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน สิ่งสำคัญคือการเตรียมคนให้พร้อม หากทำแล้วมีความสุข ทุกคนก็จะทำอย่างมีพลัง

อย่างไรก็ตามเชื่อว่าจังหวัดพิษณุโลกสามารถเป็นต้นแบบของการพัฒนาได้ โดยขณะนี้มีการรวมตัวจัดตั้งองค์กรผู้นำภาคเอกชนจังหวัดพิษณุโลก โดยมีสมาชิก 13 ผู้นำที่จะทำงานร่วมกัน อะไรที่ RUN จะทำให้หรือร้องขอจากภาคเอกชน ภาคเอกชนจะให้ความร่วมมือ เพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมและจะลงมือปฏิบัติในหลายๆเรื่อง ทั้งนี้ภายใต้องค์กร 13 องค์กรจากนี้ไป สมาชิกจะต้องรับรู้รับทราบประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยี ที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมขยับขยายตัวได้มากขึ้นกว่าเดิม ก่อให้เกิดการพัฒนาประเทศต่อไป ภาคเอกชนยินดีให้ความร่วมมือกับนักวิชาการ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของพันธสัญญาที่จะร่วมกันกำหนดอนาคตเมืองพิษณุโลกนับจากวันนี้

ร่วมแสดงความคิดเห็น