นมัสการพระธาตุประจำปีเกิด

ในดินแดนที่เรียกว่า “อาณาจักรล้านนา” นับได้ว่าเป็นดินแดนอันเก่าแก่มีกลุ่มชนเชื้อชาติต่าง ๆ อาศัยอยู่มาก่อน เป็นต้นกำเนิดอารยธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีมากมาย นับตั้งแต่อาณาจักรหริภุญชัยเรื่อยมาจนถึงยุคของอาณาจักรเชียงแสน ก่อนที่จะถูกรวมเข้ากันจนกลายเป็นอาณาจักรล้านนา

ชุมชนต่าง ๆ ที่ก่อกำเนิดขึ้นในอาณาจักรล้านนามีความเชื่อในการนับถือพุทธศาสนามาช้านาน ดังนั้นเราจะเห็นตามชุมชนต่าง ๆ มีการสร้างโบราณสถานขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ส่วนใหญ่จะสร้างขึ้นในรูปของพระธาตุเจดีย์ ซึ่งแต่เดิมพระธาตุเจดีย์นั้นสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานของพระบรมสารีริกธาตุ จากตำนานที่กล่าวขานมาแต่โบราณ ได้กล่าวถึงคำที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในครั้งพุทธกาลว่า

“เราอยู่ไม่นานก็จะปริณิพพาน ศาสนาของเรายังไม่แพร่หลาย เพราะฉะนั้นเมื่อเราแม้ปริณิพพานแล้ว มหาชนถือเอาพระธาตุแม้ขนาดเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดทำเจดีย์ในที่อยู่ของตน ๆ ปรนนิบัติ จงมีสวรรค์ที่เป็นไปในเบื้องหน้า”

ดังนั้นภายหลังที่พระองค์เสด็จดับขันปริณิพพานแล้ว ก็ได้มีการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระและแจกจ่ายพระบรมสารีริกธาตุส่วนต่าง ๆ ไปประดิษฐานไว้บนสวรรค์และเมืองบาดาล เหลือแต่เพียงเศษพระบรมธาตุที่แตกเป็นชิ้นเล็ก ๆ 3 ขนาดที่แจกจ่ายให้กับบรรดากษัตริย์ในนครต่าง ๆ เพื่อนำไปประดิษฐานและสักการะบูชาในบ้านเมืองของตน ทั้งขนาดเล็กเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด มีสีดั่งดอกพิกุล ขนาดกลางประมาณเท่าเมล็ดข้าวสารหัก มีสีดั่งมุกขัดใหม่และขนาดใหญ่ประมาณเท่าเมล็ดถั่วเขียว มีสีเหลืองนวลดั่งทองคำ


กล่าวกันว่าในอดีต แต่ละชุมชนจะประกอบไปด้วยความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ภาษา ศาสนาและวัฒนธรรม แต่การบูชาพระบรมธาตุก็ถือเป็นสิ่งที่ทุก ๆ ชุมชนยึดเหนี่ยวเป็นศูนย์รวมจิตใจเหมือนกัน ดังนั้นเมื่อมีการสร้างบ้านแปงเมืองขึ้นมาคราใด ก็จะมีการจัดสร้างพระบรมธาตุเจดีย์เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจด้วยทุกครั้ง จนทำให้พระบรมธาตุเจดีย์กลายเป็นพุทธสถานสำคัญที่ปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไป

พระธาตุเจดีย์ที่เราพบเห็นอยู่ในดินแดนล้านนามีอยู่ด้วยกันหลายรูปแบบซึ่งแล้วแต่ว่าจะสร้างขึ้นในยุคสมัยใด แต่ที่มีรูปทรงเฉพาะแบบและพบเห็นได้บ่อยมีอยู่ด้วยกัน 3 รูปแบบ แบบแรกเป็นเจดีย์แบบสุโขทัยแท้ มีฐานเป็นสี่เหลี่ยม 3 ชั้นตั้งซ้อนกันเป็นองค์เจดีย์ ย่อมุมเป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์หรือดอกบัวตูม แบบที่สอง เป็นพระสถูปทรงกลมแบบลังกา หรือที่เรียกว่า “ทรงระฆัง” มีลักษณะเป็นรูปบาตรคว่ำ และแบบที่สาม เจดีย์แบบศรีวิชัย เป็นศาสนสถานที่รับรูปแบบมาจากลัทธิฮินดูและพุทธศาสนามหายาน โดยองค์เจดีย์จะมีฐานเป็นองค์ระฆังสูง มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมตอนบนเป็นเจดีย์ทรงกลมแบบลังกา

ความเชื่ออย่างหนึ่งของคนล้านนาในการบูชาสักการะพระบรมธาตุเจดีย์นั้นเกี่ยวพันธ์กับความเชื่อในเรื่องพระธาตุปีเกิด คนล้านนาเชื่อว่า การสร้างบุญทานการกุศลเปรียบเสมือนเป็นการสะสมเสบียงเพื่อชีวิตใหม่ การบูชาพระบรมธาตุเจดีย์ก็ถือเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ผู้แสวงบุญต่างแสวงหาหนทางไปสักการะบูชาพระบรมธาตุ เพื่อก่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตน ในสมัยล้านนาได้มีความเชื่อเกี่ยวกับการสักการะบูชาพระธาตุประจำปีเกิดว่า เป็นการสะเดาะเคราะห์และเสริมความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ดังนั้นผู้คนในดินแดนต่าง ๆ จึงพากันเดินทางเพื่อมานมัสการพระบรมธาตุประจำปีเกิด ตามตำราพื้นเมืองเหนือกล่าวว่า

  1. ผู้ที่เกิดปีชวด  พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
  2. ผู้ที่เกิดปีฉลู   พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง
  3. ผู้ที่เกิดปีขาล พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่
  4. ผู้ที่เกิดปีเถาะ พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน
  5. ผู้ที่เกิดปีมะโรง พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่
  6. ผู้ที่เกิดปีมะเส็ง พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระมหาเจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย
  7. ผู้ที่เกิดปีมะเมีย พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระเจดีย์ชเวดากอง ประเทศพม่า
  8. ผู้ที่เกิดปีมะแม พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่
  9. ผู้ที่เกิดปีวอก พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม
  10. ผู้ที่เกิดปีระกา พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน
  11. ผู้ที่เกิดปีจอ พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุเกตุแก้วจุฬามณี สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (วัดเกตุเชียงใหม่)
  12. ผู้ที่เกิดปีกุน พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุดอยตุง จังหวัดเชียงราย

ถึงแม้ว่าในวันนี้สภาพแวดล้อมจะแปรเปลี่ยนไป ความศิวิไลซ์ได้หลั่งไหลเข้ามากลบกลืนร่องรอยแห่งอารยธรรมในครั้งอดีต แต่สิ่งหนึ่งที่วันเวลามิอาจลบล้างได้ก็คือ กระแสแห่งความเลื่อมใสศรัทธาในการบูชาสักการะพระบรมธาตุ ที่ไม่ว่าวันเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน พลังแห่งความเชื่อมั่นที่พุทธศาสนิกชนมีต่อองค์พระบรมธาตุก็ยังคงดำรงอยู่อย่างมั่นคงต่อไป

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น