เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ กลุ่มเสี่ยงไตเรื้อรัง

กรมการแพทย์ห่วงผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ ผู้ที่มีประวัติโรคไตเรื้อรังในครอบครัวผู้ที่ใช้ยาแก้ปวดต่อเนื่องเป็นประจำ สุ่มเสี่ยงโรคไต แนะพบแพทย์แต่เนิ่นๆ หากพบอาการระยะแรก สามารถชะลอไตเสื่อมได้

นายแพทย์ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ไตเป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย มีหน้าที่ขจัดของเสีย รักษาสมดุลนํ้าในร่างกาย เมื่อร่างกายมีนํ้ามากเกินไป ไตจะขับนํ้าส่วนเกินออก แต่เมื่อร่างกายขาดนํ้า ไตจะพยายามสงวนนํ้าไว้ในร่างกาย รักษาสมดุล กรด ด่างและเกลือแร่ในร่างกายให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะ ควบคุมความดันโลหิตผ่านการควบคุมสมดุลนํ้าและเกลือแร่บางชนิด สร้างฮอร์โมนทำให้ไม่เกิดภาวะโลหิตจาง และควบคุมการ
ดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัสทำให้กระดูกแข็งแรง ซึ่งโรคไตอาจเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดไต หลอดเลือดฝอยในไต เนื้อเยื่อ ตลอดจนความผิดปกติของกรวยไตและท่อไต อาการที่สำคัญ คือ บวม ปัสสาวะเป็นเลือด มีลักษณะคล้ายสีนํ้าล้างเนื้อ หรือเป็นเลือดสด ปัสสาวะเป็นฟอง เนื่องจากมีไข่ขาวรั่วในปัสสาวะ ปัสสาวะขุ่น เนื่องจากการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อย

การรักษาโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายโดยการทดแทนการทำงานของไตมี 3 วิธี ที่เป็นมาตรฐาน คือ

1.การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม โดยทั่วไปผู้ป่วยจะได้รับการฟอกเลือดครั้งละ 4 -5 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 2 -3 ครั้ง ต้องทำที่โรงพยาบาลหรือศูนย์ไตเทียม โดยมีพยาบาลและเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการฟอกเลือดเป็นผู้ดูแล

2.การฟอกเลือดทางช่องท้อง ผู้ป่วยสามารถทำเองได้ที่บ้านโดยเปลี่ยนถ่ายนํ้ายาวันละ 4-5 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 นาที และควรมาพบแพทย์เป็นระยะตามความเหมาะสม เช่น 1-2 เดือนต่อครั้ง

3.การผ่าตัดปลูกถ่ายไตโดยได้รับบริจาคไตจากผู้ป่วยที่มีภาวะสมองตาย หรือผู้ที่มีชีวิตอยู่

ทั้งนี้ การตัดสินใจเลือกวิธีรักษาโรคไตวายเรื้อรังแต่ละรายมีข้อจำกัดแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับร่างกายของผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์

ร่วมแสดงความคิดเห็น