อาหารค้างคืน…อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม

กรมอนามัยเตือนอาหารค้างคืน โภชนาการลดลง อันตรายต่อสุขภาพ ยิ่งเคี่ยว ต้ม ตุ๋นเนื้อสัตว์นานๆ อาจเกิดสารก่อมะเร็ง หากเก็บอาหารไม่ดี อาจปนเปื้อนเชื้อจนท้องเสีย แนะกินอาหารพอเหมาะ เพิ่มผักผลไม้อาหารค้างคืนอันตราย! โภชนาการลด “เคี่ยว-ต้ม-ตุ๋น” มาก เสี่ยงเจอสารก่อมะเร็ง

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การกินอาหารค้างคืนหรือมีการอุ่นซํ้าไม่ใช่เรื่องดีต่อสุขภาพ เพราะการอุ่นอาหารซํ้าซาก หรือตุ๋นเป็นระยะเวลาเกิน 4 ชั่วโมง จะทำให้คุณค่าโภชนาการในอาหารลดลง ซึ่งปัจจุบันพบว่า ประชาชนนิยมซื้ออาหารสำเร็จรูป หรือปรุงประกอบอาหารในปริมาณมาก เมื่อรับประทานไม่หมดแล้วนำไปเก็บไว้ในตู้เย็น เพื่อนำไปอุ่นกินใหม่ ดังนั้น จึงควรปรุงอาหารแต่ละมื้อให้พอกิน เพราะอาหารที่ปรุงสุกใหม่ คุณค่าทางโภชนาการจะมีมากกว่าอาหารอุ่นหลายครั้ง โดยเฉพาะพวกพะโล้ ซึ่งขณะปรุงจะมีการเคี่ยวด้วยนํ้าตาล เพื่อรสชาติที่อร่อย

นพ.พรเทพ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ข้อควรระวัง คือ เมื่อโปรตีนจากเนื้อสัตว์ถูกความร้อนจากการเคี่ยว ต้ม และตุ๋นเป็นเวลานาน เช่น ต้มจับฉ่าย มักถูกตรวจพบสารกลุ่มเฮตเตอโรไซคลิกเอมีน (heterocyclic amine) ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง โดยแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

1.กลุ่มที่เกิดในความร้อนไม่สูงนัก เป็นการรวมตัวระหว่างครีเอตินีน ซึ่งเป็นองค์ประกอบของนํ้าในเนื้อสัตว์ ที่มักไหลออกมาเวลาเอาเนื้อสัตว์ออกจากตู้แช่แข็ง กับเมลลาร์ดรีแอคชันโพรดักซ์ ซึ่งเป็นสารสีนํ้าตาลในเนื้อที่ถูกทอดหรือตุ๋น และ

2.เกิดในความร้อนค่อนข้างสูงมากถึงกว่า 300 องศาเซลเซียส จากการเปลี่ยนแปลงของกรดอะมิโนในเนื้อสัตว์ระหว่างปรุงอาหาร เช่น การปิ้งหมู การย่างหมู เป็นต้น

“ส่วนอาหารประเภทผักสด ผัดผัก ผักลวก นึ่ง ต้ม ถ้าเหลือแล้วนำไปเก็บไว้กินมื้อต่อไป คุณค่าทางโภชนาการของผักก็จะลดลง และรสชาติเปลี่ยนไป หากมีการเก็บรักษาไม่ดีพอ อุณหภูมิไม่เหมาะสม จุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนจะทำให้ท้องเสีย และยิ่งกินเนื้อแดงมากๆ จะมีแนวโน้มทำให้การกินผักและผลไม้ลดลง ทำให้การป้องกันเนื้อเยื่อที่ถูกทำลายไปจากกระบวนการ oxidation หรือการเกิดอนุมูลอิสระ เมื่อเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องก็จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งบางชนิด” อธิบดีกรมอนามัย

นพ.พรเทพ กล่าวว่า ขอแนะนำให้กินผักสดเป็นประจำ อย่างน้อยมื้อละ 2 ทัพพี เพราะในผักมีวิตามิน แร่ธาตุ ใยอาหาร รวมทั้งสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีต่อร่างกาย นอกจากนี้ การกินอาหารประเภทกะทิค้างคืนที่มีส่วนประกอบเป็นเนื้อสัตว์ หากมีการเก็บรักษาไม่ดีพอ หรืออุ่นด้วยความร้อนไม่ทั่วถึง อาจทำให้เน่าเสียได้ ส่วนการปฏิบัติตนให้มีสุขภาพดีด้วยการกินอาหารตามหลักโภชนาการคือ

1.กินอาหารให้หลากหลายครบ 5 หมู่ เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย
2.กินผักต่างๆ มื้อละ 2 ทัพพี
3.กินผลไม้มื้อละ 1 – 2 ส่วน
4.เลือกวัตถุดิบในการปรุงที่ปลอดภัยจากการปนเปื้อนสารเคมี
5.ลดอาหารหวาน มัน เค็ม มีการใช้กะทิ หรือนํ้ามันทอดซํ้า
6.ลดการกินอาหารแปรรูป มีสีเกินธรรมชาติ
7.เลี่ยงอาหารปรุงค้างคืน
8.ดูแลนํ้าหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ผู้ชายรอบเอวไม่เกิน 90 ซม. ผู้หญิงไม่เกิน 80 ซม.
9.ออกกำลังกาย
10.ทำใจให้สบาย คิดบวกเสมอ

ขอบคุณข้อมูลจาก : ASTVผู้จัดการออนไลน์

ร่วมแสดงความคิดเห็น