บสย.หนุนSMEsเชียงใหม่ อัดความรู้แนะแนว เข้าถึงแหล่งเงินทุน

บสย.จัดกิจกรรมเสริมความรู้ ความเข้าใจในการบริหารจัดการธุรกิจ ทั้งด้านการบริหารการเงิน ต้นทุน การตลาด หวังหนุน SMEs เชียงใหม่ เข้าถึงแหล่งเงินทุน พร้อมเดินสายจัดมหกรรมเข้าถึงเงินทุนให้ SMEs ทั่วไทย เข้าถึงแหล่งเงินทุน เกือบ 3,000 ราย

บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนและเพิ่มโอกาสให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน ณ โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ผ่านมา โดยมีผู้ประกอบการเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก

นายประเสริฐ ชัยชาญอุดมสุข ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขา บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า บสย.ในฐานะเป็นสถาบันการเงินของรัฐ และเป็นหน่วยงานในกำกับของกระทรวงการคลัง ทำหน้าที่ค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่ยื่นขอสินเชื่อกับธนาคารแต่มีหลักประกันไม่เพียงพอ โดย บสย.จะทำหน้าที่ค้ำประกันสินเชื่อในส่วนที่ขาดหลักประกัน เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้สินเชื่อเต็มตามจำนวนที่ต้องการ บสย.ได้เล็งเห็นความสำคัญของเงินทุนในการประกอบธุรกิจ และปัญหา-อุปสรรค ข้อจำกัดของ SMEs ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

นายประเสิในปี 2560 บสย. ได้รับภารกิจสำคัญที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้ บสย. ทำหน้าที่เข้าไปสนับสนุนและพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ให้มีศักยภาพแข็งแกร่ง นอกเนหือจากบทบาทหลักในการให้การค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ผ่านกิจกรรมต่างๆ ของ บสย. อาทิเช่น กิจกรรมมหกรรมเข้าถึงแหล่งเงินทุน กิจกรรมโครงการอบรมผู้ประกอบการ SMEs (TCG-Financial Literacy) เพื่อเพิ่มศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้ประกอบการมีความเข้มแข็งมากขึ้น และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยจะเน้นผู้ประกอบการ SMEs 3 กลุ่มประกอบด้วย 1.กลุ่มผู้ประกอบการทั่วไป 2.กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย 3.กลุ่มเริ่มต้น (Start-up) และกลุ่มนวัตกรรม (Innovation) เป็นต้น

สำหรับกิจกรรมมหกรรมเข้าถึงแหล่งเงินทุนนั้น ในปี 2560 บสย.กำหนดจัดขึ้น 11 ครั้งในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ในครั้งนี้มีการเปลี่ยนรูปแบบตามความเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายและพื้นที่จังหวัดที่จัดกิจกรรม การจัดกิจกรรม บสย. ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานคู่ความร่วมมือหลักจากธนาคารแห่งประเทศไทย บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด และชมรมธนาคารจังหวัด รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่จัดกิจกรรม ร่วมบรรยายในหัวข้อต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการ SMEs รวมถึง บสย. เปิดบูธให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ เพื่อให้คำปรึกษาทางด้านธุรกิจและการขอสินเชื่อกับผู้ประกอบการ รวมถึงการรับทราบปัญหาและประสานงานกับธนาคาร เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้สินเชื่อตามต้องการ และในกรณีที่ผู้ประกอบการ SMEs ขาดหลักประกัน บสย.ก็พร้อมที่จะค้ำประกันสินเชื่อ โดยผ่านผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อประเภทต่างๆ ของ บสย. อีกทั้งหน่วยงานต่างๆ สถาบันการเงิน และผู้ประกอบการ SMEs ร่วมออกบูธให้บริการผลิตภัณฑ์อีกด้วย

นอกจากนี้ บสย.ยังมีกิจกรรมโครงการอบรมผู้ประกอบการ SMEs (TCG-Financial Literacy) จำนวน 22 ครั้ง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนทั่วประเทศ โดยเป็นหลักสูตรที่ บสย. ออกแบบให้เหมาะสมกับผู้ประกอบการ SMEs เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความรู้ ความเข้าใจในการบริหารจัดการธุรกิจของตน ทั้งทางด้านการบริหารการเงิน ต้นทุน การตลาด เกิดการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงทางธุรกิจเพิ่มขึ้น และเพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการมีความเข้มแข็งมากขึ้น และมีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ โดยมี 3 หลักสูตร คือ หลักสูตรบัญชีเงินสดรับ – จ่าย ไม่ยากอย่างที่คิด หลักสูตรออนไลน์สร้างเงินกับ บสย. และหลักสูตร การเสริมความรู้ SMEs เพื่อสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ ค้าชายแดน AEC

“ในฐานะของผู้ค้ำประกัน สิ่งที่เป็นภารกิจหลัก ๆ ของเราคือการค้ำประกันสินเชื่อ อยากให้ SMEs เข้าถึงเงินทุน ขณะเดียวกันทางเราก็ยังมีหน้าที่ให้ความรู้กับ SMEs ในปีนี้จะมีการจัดมหกรรมเข้าถึงเงินทุน 11 ครั้งทั่วประเทศ และการจัดการให้ความรู้กับผู้ประกอบการอีก 22 ครั้ง รวม ๆ แล้ว 30 กว่าครั้ง และคิดว่า SMEs ที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนนี้เกือบ 3,000 ราย ทางเราได้คาดหวังว่าคนที่ได้เข้ารับฟังวันนี้จะได้เห็นแนวทางการเตรียมตัวที่จะทำให้ตัวเองพร้อมในการเข้าถึงเงินทุน ซึ่งหลัก ๆ ก็จะเป็นเรื่องความสามารถของเขาเองว่าต้องทำตัวยังไง และในเรื่องของหลักประกันที่เขายังขาดอยู่ ในส่วนของเชียงใหม่เป็นการจัดงานครั้งที่ 3 ซึ่งก่อนหน้านี้มีการจัดที่ภาคใต้ จ.ระนอง และต่อมาเป็นกรุงเทพมหานคร และครั้งนี้จึงมีโอกาสมาจัดที่เชียงใหม่ การจัดงานในแต่ละครั้งจะมีความแตกแต่งกัน เพราะในแง่ของธุรกิจจะมีความแตกต่างในของแต่ละภาค ส่วนใหญ่ในภาคใต้ ธุรกิจก็จะไปในส่วนของท่องเที่ยวส่วนหนึ่ง เรื่องของประมงส่วนหนึ่ง และก็เรื่องของเกษตรอีกส่วนหนึ่ง และในส่วนของเชียงใหม่จะเป็นในทางของการท่องเที่ยวและมีเกษตรบ้าง แต่สิ่งที่คล้าย ๆ กันในหลาย ๆ ภาค ก็คือภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่มีการฟื้นตัวมากนักและก็ยังมีความซบเซาอยู่ในระดับหนึ่ง ” ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขา บสย. กล่าวในที่สุด.

ร่วมแสดงความคิดเห็น