สกู๊ปพิเศษ…สีสัน “สงกรานต์เชียงใหม่”

เทศกาลสงกรานต์ของเมืองเชียงใหม่ได้ชื่อว่า เป็นเทศกาลที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจต่างเฝ้ารออยากให้มาถึงเร็ว ๆ ทุกปีเมื่อถึงช่วงเวลานี้ถนนรอบคูเมืองจะคราคร่ำไปด้วยทั้งรถทั้งคนสนุกสนานเฮฮาอย่างไม่รู้ร้อน ภาพและความรู้สึกต่าง ๆ ของนักท่องเที่ยวที่เคยมาเยือนเหล่านี้ปรากฏออกไปยังทั่วประเทศจนชื่อเสียงของงานสงกรานต์เชียงใหม่เป็นที่ใฝ่ฝันของนักท่องเที่ยวจะต้องหาโอกาสเดินทางมาสัมผัสบรรยากาศเช่นนี้ให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต

ประเพณีปีใหม่เมืองล้านนา หรือ เทศกาลสงกรานต์ของคนเมืองนั้นดูเหมือนจะมีช่วงเวลาเฉลิมฉลองที่ยาวนานกว่าประเพณีสงกรานต์ในภาคอื่น ๆ อาจเป็นเพราะทางภาคเหนือมีความเชื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำพิธีในวันสงกรานต์มากมาย อาทิ วันสังขารล่อง วันเน่า วันพญาวัน วันปากปี วันปากเดือน วันปากวัน ฯลฯ ซึ่งในแต่ละวันก็จะมีพิธีแยกย่อยกันออกไปอีก

เทศกาลสงกรานต์ของไทยเราในแต่ละภาคก็คงจะมีบรรยากาศของความสนุกสนานสดชื่นไม่แพ้กัน แต่ที่จังหวัดเชียงใหม่นั้นได้ชื่อว่า เป็นจังหวัดเดียวที่จัดงานประเพณีสงกรานต์ได้อย่างยิ่งใหญ่ สามารถดึงดูดผู้คนและนักท่องเที่ยวจากไทยและต่างประเทศให้เข้ามาเยือนปีละหลายหมื่นคน เมื่อเวลาเราไปเที่ยวงานประเพณีสงกรานต์เชียงใหม่จะพบเห็นภาพของผู้คนกำลังสนุกสนานอยู่กับการเล่นสาดน้ำสงกรานต์ เสียงของเครื่องดนตรีกระหึ่มดังกึกก้อง รถราบนท้องถนนรอบคูเมืองขยับเคลื่อนไปทีละน้อย ลูกเล็กเด็กแดงรวมถึงชาวต่างชาติแต่งกายด้วยเสื้อหม้อฮ้อมคล้องคอด้วยพวงดอกมะลิ ใบหน้าแต่ละคนถูกประพรมด้วยแป้ง ภาพเหล่านี้เป็นสีสันที่อยู่ในงานเทศกาลปี๋ใหม่เมือง หรือ เทศกาลสงกรานต์ของเมืองเชียงใหม่ที่จะยังติดตรึงอยู่ในความทรงจำของคนต่างถิ่นอยู่มิรู้คลาย

เทศกาลสงกรานต์ของเมืองเชียงใหม่ได้ชื่อว่า เป็นเทศกาลที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจต่างเฝ้ารออยากให้มาถึงเร็ว ๆ ทุกปีเมื่อถึงช่วงเวลานี้ถนนรอบคูเมืองจะคราคร่ำไปด้วยทั้งรถทั้งคนสนุกสนานเฮฮาอย่างไม่รู้ร้อน ภาพและความรู้สึกต่าง ๆ ของนักท่องเที่ยวที่เคยมาเยือนเหล่านี้ปรากฏออกไปยังทั่วประเทศจนชื่อเสียงของงานสงกรานต์เชียงใหม่เป็นที่ใฝ่ฝันของนักท่องเที่ยวจะต้องหาโอกาสเดินทางมาสัมผัสบรรยากาศเช่นนี้ให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต

งานประเพณีสงกรานต์หรืองานปี๋ใหม่เมือง ถือได้ว่าเป็นประเพณีโบราณของคนภาคเหนือ ตามปฏิทินโหราศาสตร์ของคนล้านนาถือเอาวันที่พระอาทิตย์เคลื่อนจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษเป็น “วันสงกรานต์ล่อง” หรือ “วันสังขารล่อง” หรือเรียกอีกอย่างว่าเป็น “วันมหาสงกรานต์” ซึ่งอาจจะไม่ตรงตามประกาศของทางราชการเสมอไป ตามความเชื่อของคนล้านนาในปีนี้ถือเอาวันที่ 13 เมษายนเป็นวันสงกรานต์

กล่าวกันว่าก่อนเที่ยงคืนของวันที่ 12 เมษายนย่างวันที่ 13 จะเป็นวันสงกรานต์ล่องหรือสังขารล่อง ปู่สงกรานต์หรือย่าสงกรานต์จะนุ่งห่มเสื้อผ้าสีแดงสยายผมล่องแพไปตามลำน้ำ ปู่หรือย่าสงกรานต์นี้จะนำสิ่งไม่ดีทั้งหลายตามตัวมาด้วย จึงต้องมีการยิงปืนจุดประทัดหรือทำให้เกิดเสียงดังซึ่งถือเป็นการไล่สงกรานต์และชาวบ้านยังถือกันว่า ปืนที่ใช้ยิงไล่ในวันสงกรานต์แล้วจะมีความขลังมาก

ปัจจุบันประเพณีการรดน้ำดำหัวของคนล้านนาได้รับเอาวัฒนธรรมจากภาคกลางมาใช้ มีการใช้น้ำอบน้ำหอมแทนน้ำขมิ้นส้มป่อย จึงทำให้รูปแบบการรดน้ำดำหัวของล้านนาเปลี่ยนแปลงไป ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มณี พยอมยงค์ นักปราชญ์ชาวล้านนาได้กล่าวถึงประเพณีการรดน้ำในเทศกาลวันสงกรานต์ของเชียงใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปจากวิถีประเพณีดั้งเดิมว่า “การเล่นสาดน้ำในวันสงกรานต์เปลี่ยนแปลงไปมาก วัฒนธรรมประเพณีเก่า ๆ หายไปหมด ทุกวันนี้มีแต่กลุ่มวัยรุ่นนั่งหลังรถกระบะขับไปรอบเมือง มีการสาดน้ำกันอย่างรุนแรง ไม่สุภาพ ซึ่งอันนี้ไม่ใช่ประเพณีของชาวล้านนา”

เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ทีไร จะมีแฟชั่นต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมายทั้งการแต่งกายของวัยรุ่นหญิงสาวที่นิยมนุ่งน้อยห่มน้อยใส่เสื้อสายเดี่ยว-เตี่ยวขาสั้น บางคนใส่เสื้อบาง ๆ มาเล่นน้ำ ผ้าที่ว่าบางอยู่แล้วเมื่อเวลาโดนน้ำแทบจะมองทะลุเห็นตับไตไส้พุง ผมไม่ได้ปฏิเสธว่าอากาศที่แสนจะร้อนนั้นทำให้คนต้องแต่งตัวเข้ากับฤดูกาล แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและสถานการณ์ด้วย การแต่งกายด้วยเสื้อผ้าบาง ๆ มาเล่นน้ำในที่สาธารณะอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาทีหลังก็คือ เป็นโอกาสให้กลุ่มวัยรุ่นมีโอกาสลวนลามได้ง่าย เห็นแบบนี้แล้วทำให้อดนึกถึงภาพบรรยากาศเก่า ๆ ของเทศกาลสงกรานต์สมัยเมื่อปู่ย่าตายาย ที่หนุ่มสาวสมัยนั้นออกมาเล่นน้ำสงกรานต์กันอย่างสุภาพเรียบร้อย อ่อนน้อมถ่อมตน ผู้ที่มีอายุน้อยกว่าเวลาจะเข้าไปรดน้ำผู้ใหญ่ก็จะมีการขอสูมาลาโทษ การรดน้ำก็จะนิยมนำน้ำใส่ขันมารดที่ไหล่หรือมือ อันเป็นแบบแผนประเพณีที่ดีงามซึ่งปัจจุบันแทบไม่มีหลงเหลือให้เห็นอีกแล้ว

นอกจากนั้นแล้วเทศกาลสงกรานต์ปัจจุบันยังมีแฟชั่นย้อมผมสี ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นชายหญิงมักจะระบาดอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นสีแดง สีเหลือง สีส้ม สีเขียว ฯลฯ มีให้เห็นอยู่ดาดดื่นตามท้องถนนในเชียงใหม่ แก๊งหัวแดงกลุ่มหนึ่งยืนยันถึงสาเหตุของการย้อมสีผมว่า “เป็นแฟชั่นที่จะทำเฉพาะในช่วงสงกรานต์เท่านั้น ส่วนที่ย้อมสีผมก็เพื่อต้องการให้กลุ่มของเรามีจุดเด่นและเป็นที่สนใจจากสาว ๆ..”

อย่างไรก็ตามแฟชั่นดังกล่าวได้ระบาดอยู่ในกลุ่มวัยรุ่นที่หลงไหลกระแสแห่งแฟชั่น แต่กลับมองข้ามวัฒนธรรมอันดีงามของล้านนา ขณะที่หลายคนอาจมองว่าจะเป็นไรไปในเมื่อนานปีจะมีสักวันที่สนุกสนานได้เช่นนี้ ทว่านั่นอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการเริ่มต้นในการปลุกจิตสำนึกให้เยาวชนหันมารักษาวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าให้ได้รับการสืบทอดสานต่อในวิถีทางที่ถูกต้อง ซึ่งถ้าไม่ปฏิบัติในช่วงสงกรานต์นี้แล้วจะให้ไปปฏิบัติกันในช่วงไหน ?

เดี๋ยวนี้ประเพณีการรดน้ำของคนล้านนากำลังจะถูกบิดเบือนจากคนภายนอกที่เข้ามาสร้างกระแสแห่งวัฒนธรรมใหม่ สังเกตได้จากการเล่นน้ำรอบคูเมืองที่บริเวณถนนเต็มไปด้วยยวดยานบรรทุกผู้คนจากทั่วสารทิศ นักวิเคราะห์ผู้เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของงานสงกรานต์เชียงใหม่คนหนึ่งถึงกับกล่าวอย่างหัวเสียว่า

“พอถึงเทศกาลสงกรานต์ทีไร เราจะเห็นว่ารถราที่บรรทุกนักท่องเที่ยวเพื่อเล่นน้ำรอบคูเมืองส่วนใหญ่จะเป็นรถที่มีทะเบียนจากต่างจังหวัดทั้งสิ้น ทั้งทะเบียนกรุงเทพฯ นนทบุรี พิษณุโลก ร้อยเอ็ด อุบลฯ บางคันมาไกลถึงยะลา นราธิวาสก็มี เช่นนี้แล้วจะไม่ทำให้งานสงกรานต์ของเชียงใหม่เปลี่ยนแปลงได้เช่นไร”

นอกจากนั้นรถแต่ละคันที่มาเล่นน้ำรอบคูเมืองต่างบรรทุกนักท่องเที่ยวมาเต็มเอียด ประหนึ่งกำลังกะเกณฑ์ผู้คนจะไปรบใน “สงคราม” รถแต่ละคันระดมน้ำสาดใส่กันอย่างบ้าคลั่งทั้งกระบอกฉีดน้ำ ถังใส่น้ำ เสียงหวีดร้องดังระงมไปทั่วเหมือนเสียงร้องแห่งความเจ็บปวดจากภัยของสงคราม นี่หรือคือวิถีวัฒนธรรมของคนล้านนาในเทศกาลสงกรานต์
ประสบการณ์ที่น่าประทับใจของการรดน้ำดำหัวที่ถูกต้องตามขนบธรรมเนียมประเพณีไทย ทำให้นักท่องเที่ยวนานาประเทศหลงไหลในความชุ่มฉ่ำงดงาม ประเพณีที่อ่อนน้อมและงดงามอีกมุมหนึ่งก็มีด้านที่ถูกแผลงประยุกต์ท่ามกลางความคะนองและสนุนสนานจนเลยเถิด แม้แต่ฝรั่งบางคนยังเรียกการเล่นสาดน้ำสงกรานต์ในปัจจุบันว่าเป็น “สงคราม”
อย่างไรก็ตามแม้ว่าประเพณีการเล่นน้ำสงกรานต์ของล้านนาจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร อย่างน้อยก็ยังมีด้านดีไว้ให้ได้ซึมซับถ่ายทอดเป็นมรดกที่ดีงามให้ลูกหลานได้ถือปฏิบัติกันอยู่บ้าง การจะเล่นน้ำสงกรานต์อย่างไร แบบไหนก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญานของแต่ละท่าน อย่างน้อยก็อย่าให้กระแสวัฒนธรรมจากข้างนอกเข้ามากลืนกระแสวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ดีงามของล้านนาก็แล้วกัน

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น