ศก.ไทยพบการขยายตัว ภาพรวมการส่งออกฟื้น!

แบงก์ชาติมอง ศก.ไทยเดือน ก.พ. ขยายตัวต่อเนื่องจากการส่งออกที่ฟื้นตัว และการบริโภคภาคเอกชนขยายตัว โดยเฉพาะในหมวดสินค้าคงทน จากผลของการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ และรายได้ครัวเรือนที่ดีขึ้น

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยการส่งออกสินค้าขยายตัวในเกือบทุกหมวด สอดคล้องกับการส่งออกของภูมิภาคที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวโดยเฉพาะในหมวดสินค้าคงทน จากผลของการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ และรายได้ครัวเรือนที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม การผลิตในภาคอุตสาหกรรมลดลงบ้าง เพราะได้เร่งผลิตไปแล้วในช่วงก่อน ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐชะลอลง แต่ยังขยายตัว และเป็นแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจ สำหรับการลงทุนภาคเอกชนทรงตัวจากเดือนก่อน ส่วนภาคการท่องเที่ยวหดตัวตามจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีน และมาเลเซีย ที่ลดลงห ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงเล็กน้อย ตามการลดลงของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจากผลของฐานสูง เนื่องจากมีการปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตยาสูบในปีก่อน ประกอบกับราคาอาหารสดปรับลดลงหลังจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมาก สำหรับอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูงตามมูลค่าการส่งออกที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง

สำหรับในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 การส่งออกสินค้าขยายตัวในเกือบทุกหมวด โดยมูลค่าขยายตัว 0.7% จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากหักทองคำ มูลค่าการส่งออกขยายตัว 8.4% โดยเป็นการขยายตัวของทั้งปริมาณ และราคา จาก 1) การส่งออกยางพารา และผลิตภัณฑ์ยางที่ขยายตัวดีจากราคาที่ปรับสูงขึ้น และอุปสงค์จากจีนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากผู้นำเข้าจีนเร่งนำเข้าเพื่อสะสมสินค้าคงคลังที่ยังอยู่ในระดับต่ำ 2) สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และทัศนูปกรณ์ โดยเฉพาะแผงวงจรรวม (IC) ที่การส่งออกไปยังจีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ขยายตัวดี ตามการนำไปใช้เป็นชิ้นส่วนในการผลิตสมาร์ทโฟน อุปกรณ์ ที่รองรับ Internet of Things (IoT) และชิ้นส่วนรถยนต์ 3) สินค้าที่ราคาส่งออกเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบขยายตัวต่อเนื่อง ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน และ 4) สินค้าหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะแผงกำเนิดไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จากการที่ผู้ผลิตจีนย้ายฐานการผลิตมาไทย เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping) จากสหรัฐฯ และเครื่องปรับอากาศที่การส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ขยายตัวดีต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม แม้การส่งออกสินค้าปรับดีขึ้น แต่การผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนนี้ปรับลดลงบ้าง เนื่องจากสินค้าหมวดยานยนต์ แผงวงจรรวม และเครื่องใช้ไฟฟ้ามีการเร่งผลิตไปในช่วงก่อน และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยชั่วคราวจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมันบางแห่ง

ส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้าขยายตัว 13.4% จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากไม่รวมทองคำ มูลค่าการนำเข้าขยายตัว 11.4% โดยหมวดวัตถุดิบ และสินค้าขั้นกลางขยายตัวจากมูลค่าการนำเข้าเชื้อเพลิง โลหะ และเคมีภัณฑ์ ที่ราคาสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน และการนำเข้าชิ้นส่วนแผงวงจรรวมที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวที่ปรับดีขึ้น นอกจากนี้ การนำเข้าหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวตามการนำเข้าปลาทูน่า ที่ส่วนใหญ่นำไปแปรรูปเป็นปลากระป๋องเพื่อส่งออก แต่หากหักปลาทูน่า การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคหดตัว 1.3% ตามการนำเข้าสินค้าคงทนที่ลดลงในหมวดนาฬิกา และเฟอร์นิเจอร์ และชิ้นส่วน

ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูงตามดุลการค้าที่เกินดุลจากมูลค่าการส่งออกที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจาก 1) การออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของภาคธุรกิจไทย และ 2) การนำเงินออกไปฝากในต่างประเทศของกองทุน FIF ในฮ่องกง สหรัฐฯ และมาเก๊า เป็นสำคัญ

ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนที่ขยายตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเปิดตัวรถรุ่นใหม่เพิ่มเติมจากเดือนก่อน ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และยอดขายรถจักรยานยนต์เติบโตดี สอดคล้องกับสินเชื่อผู้บริโภคในหมวดยานยนต์ที่เพิ่มขึ้น ด้านปัจจัยพื้นฐานที่สนับสนุนกำลังซื้อของครัวเรือนโดยรวมดีขึ้น สะท้อนจากจำนวนผู้มีงานทำ และรายได้ที่แท้จริงที่ปรับสูงขึ้นบ้าง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมดีขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อในภาคเกษตรกรรมยังค่อนข้างกระจุกอยู่ในกลุ่มเกษตรกร ผู้ปลูกยาง ขณะที่กำลังซื้อนอกภาคเกษตรกรรมปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากรายได้ภาคบริการ

การใช้จ่ายภาครัฐชะลอลง แต่ยังขยายตัวจากปีก่อน และเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ โดยรายจ่ายประจำที่ไม่รวมเงินโอนยังขยายตัวในหมวดค่าตอบแทนบุคลากรตามการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ และรายจ่ายลงทุนขยายตัวจากการใช้จ่ายในโครงการก่อสร้างถนน และระบบชลประทานของ 3 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และกรมชลประทาน

การลงทุนภาคเอกชนทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการลงทุนส่วนใหญ่ยังจำกัดอยู่ในธุรกิจพลังงาน ธุรกิจภาคบริการ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก สอดคล้องกับพื้นที่เพื่อการอุตสาหกรรม และโรงงานที่ได้รับอนุญาตเพิ่มขึ้น และความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ปรับดีขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ส่งออก อย่างไรก็ดี แนวโน้มการลงทุนส่วนอื่นๆ ในระยะสั้น ยังอ่อนแอ สะท้อนจากการนำเข้าสินค้าทุนไม่รวมเครื่องบิน และแท่นขุดเจาะที่ยังหดตัว

ภาคการท่องเที่ยวหดตัว 3.2% จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีน และมาเลเซีย ที่ลดลงหลังพ้นเทศกาลตรุษจีน ประกอบกับมีผลของฐานสูงในปีก่อนที่เทศกาลตรุษจีนอยู่ในเดือนกุมภาพันธ์ นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวมาเลเซีย ที่ส่วนใหญ่นิยมขับรถมาท่องเที่ยวในไทยยังได้รับผลกระทบจากต้นทุนการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน และการอ่อนค่าของสกุลเงินริงกิต อย่างไรก็ดี หากพิจารณาสถานการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติเฉลี่ยในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ เพื่อตัดผลของการเหลื่อมเดือนของเทศกาลตรุษจีน พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัว 1.6% ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2559 และเป็นการขยายตัวของนักท่องเที่ยวหลายสัญชาติ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.44% ลดลงจาก 1.55% ในเดือนก่อนตามการลดลงของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจากผลของฐานสูง เนื่องจากมีการปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตยาสูบในปีก่อน ประกอบกับราคาอาหารสดปรับลดลงหลังจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมาก สำหรับอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลอยู่ที่ 1.1% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 1.0% ในเดือนก่อน เพราะมีแรงงานกลับเข้ามาหางานมากขึ้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น