มะเร็งร้ายรู้ทันป้องกันได้

มะเร็งเป็นโรคร้ายที่มีมากกว่า 100 ชนิด สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัยและคร่าชีวิตผู้คนมากมาย ลูคีเมียก็เป็นมะเร็งอีกชนิดที่เกิดขึ้นแบบเฉียบพลันโดยไม่ทันตั้งตัว ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง และตรวจสุขภาพหามะเร็งระยะเริ่มแรกจะเพิ่มโอกาสการรักษาและอาจหายขาดได้

นายแพทย์ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) หรือที่คนทั่วไปมักเรียกว่า “โรคลูคีเมีย” เป็นโรคมะเร็งชนิดหนึ่งของระบบเลือดที่เกิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาวในไขกระดูกเติบโตผิดปกติ ทำให้มีการสร้างเม็ดเลือดขาวออกมามากในกระแสเลือด ส่งผลให้การทำงานของระบบเม็ดเลือดเสียไป อาจเป็นแบบเฉียบพลัน หรือค่อยๆ เป็น

โดยทั่วไป มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันจะมีอาการรุนแรงกว่าชนิดที่เกิดช้าๆ หรือเรื้อรัง สาเหตุของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่พบว่าปัจจัยทางกรรมพันธุ์และการติดเชื้อไวรัสบางชนิด รวมถึงได้รับสารเคมีบางอย่าง เช่น ยาฆ่าแมลง และกัมมันตภาพรังสี สามารถทำให้เกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้ สำหรับผู้ที่เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวจะมีอาการแสดง เช่น เลือดจาง ซีด หน้ามืด เวียนศีรษะ เหนื่อยง่าย เลือดออกง่ายบริเวณผิวหนังและเหงือก เป็นจํ้าตามตัว ต่อมนํ้าเหลืองโต อาจพบก้อนในท้องเนื่องจาก ตับ ม้ามโต ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผิดปกติ เป็นโรคติดเชื้อได้ง่าย และมีไข้

หากพบว่าตนเองหรือคนใกล้ตัวมีอาการเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโรค สำหรับการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวโดยทั่วไปจะใช้การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดเป็นหลัก ส่วนการปลูกถ่ายไขกระดูกและรังสีรักษาจะเป็นการรักษาเสริม เพื่อให้ผลการรักษาดีขึ้นหรือหายได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งเม็ดเลือดขาว การตอบสนองต่อการรักษาด้วยเคมีบำบัดและอายุของผู้ป่วย

ทั้งนี้ เราสามารถปฏิบัติตนเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งได้ด้วยการเลือกทานอาหารมีประโยชน์ ออกกำลังกายสมํ่าเสมอ หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารกัมมันตภาพรังสีและสารเคมีที่ก่อให้เกิดมะเร็ง

นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า โรคมะเร็งคร่าชีวิตคนไทยไปจำนวนไม่น้อย และสาเหตุของโรคมะเร็งส่วนใหญ่มักเกิดจากพฤติกรรมใกล้ตัวของเรา โดยเฉพาะการรับประทานอาหาร ดื่มสุรา และสูบบุหรี่ และสาเหตุอีกส่วนหนึ่งมาจากพันธุกรรม สำหรับการรักษาโรคมะเร็งปัจจุบันมะเร็งบางชนิดสามารถรักษาให้หายและทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตเป็นปกติได้

ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง อวัยวะที่เป็น และระยะของมะเร็งที่ตรวจพบ การตรวจพบมะเร็งในระยะเริ่มแรกจะทำให้มีการตอบสนองต่อการรักษาและมีโอกาสหายมากกว่าระยะลุกลามหรือระยะสุดท้าย โดยส่วนใหญ่มักพบว่ากว่าผู้ป่วยจะรู้ตัวว่าเป็นมะเร็ง อาการอยูในระยะลุกลามไปมากแล้ว คงจะดีไม่น้อยหากเราหมั่นสังเกตความผิดปกติในร่างกาย และตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อค้นหาความผิดปกติของร่างกาย ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้โดยที่เราไม่รู้ตัว โดยเฉพาะโรคมะเร็งยิ่งพบโรคได้ เร็วเพียงใด ชีวิตก็ปลอดภัยมากขึ้นเพียงนั้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น