CAMT พัฒนาซอฟต์แวร์ ใช้ได้จริงในอุตสาหกรรม

นักศึกษาระดับปริญญาโท หลักสูตรวิศวกรรมซอฟต์แวร์ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับบริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ในการพัฒนาระบบสารสนเทศและระบบการจัดการฐานข้อมูลเพื่อใช้สำหรับบันทึกข้อมูลในกระบวนการผลิตมันฝรั่งแผ่นทอดกรอบ ฟริ โต-เลย์ ของแผนกภายในบริษัท ได้แก่ แผนกนำเข้ามันฝรั่ง แผนกตรวจสอบคุณภาพ และแผนกบรรจุผลิตภัณฑ์ แทนการบันทึกข้อมูลแบบเดิมที่อาจเกิดโอกาสในการผิดพลาดของการบันทึกข้อมูล

นายสันติ ชำนาญนิล Operation Capability Manager ของบริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ร่วมพัฒนาซอฟต์แวร์ร่วมกับนักศึกษา ได้กล่าวถึงที่มาของการพัฒนาซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูลในครั้งนี้ว่า เนื่องด้วยในกระบวนการทำงานของฝ่ายผลิตนั้น ยังใช้การบันทึกข้อมูลในแบบฟอร์มเอกสาร ซึ่งบางครั้งมีโอกาสผิดพลาดในการบันทึกข้อมูลและไม่สามารถเช็คข้อมูลได้แบบทันท่วงที จึงได้นำเสนอปัญหานี้ให้กับทางอาจารย์ ดร.นภาพร รีวีระกุล รองคณบดีฝ่ายบริหารของวิทยาลัยฯ ซึ่งมีความเชื่อมั่นในศักยภาพและความสามารถของนักศึกษาของวิทยาลัยฯ ในการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อแก้ไขปัญหานี้ โดยทางอาจารย์ได้คัดเลือกนักศึกษาระดับปริญญาโทหลักสูตรวิศวกรรมซอฟต์แวร์ จำนวน 6 คน ซึ่งได้รวมตัวกันจัดตั้ง หจก. คอนเซนซัส ไอที แอนด์ โซลูชั่น ประกอบด้วย นายวรพล จารุวัฒนกุล นายชูศักดิ์ โสมนัส นายอธิกร สงวนศรี นายชาครีย์ ศรีวิชัย นางสาววรกาญจน์ มานะ และนางสาวปิยะพร เป็งนำสุวรรณ โดยมี อาจารย์ ดร.ภัทรหทัย ณ ลำพูน เป็นที่ปรึกษาโครงการ ร่วมกันพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาในครั้งนี้

โดยนายชูศักดิ์ โสมนัส ตัวแทนนักศึกษาผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ ได้กล่าวถึงการทำงานครั้งนี้ว่า ทางทีมได้เริ่มต้นจากการเข้าไปศึกษารายละเอียดของกระบวนการทำงานในบริษัททั้งหมดเพื่อที่จะได้เห็นถึงขั้นตอนของการทำงานที่ชัดเจนแล้วเริ่มนำปัญหามาแก้ไข โดยทีมได้ร่วมกันคิดค้นและพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้พนักงานในแต่ละแผนกสามารถบันทึกข้อมูลของกระบวนการผลิตมันฝรั่งผ่านระบบซอฟต์แวร์ได้ง่ายขึ้น สามารถตรวจสอบขั้นตอนของกระบวนการผลิตได้ และลดระยะเวลาในการทำงานจากที่เคยกรอกข้อมูลหลายขั้นตอนเปลี่ยนเป็นกรอกผ่านระบบเพียงครั้งเดียวซึ่งได้ข้อมูลที่ถูกต้องและนำไปใช้งานได้ทันที สำหรับผู้บริหารระบบนี้จะช่วยให้ผู้บริหารสามารถวางแผนทรัพยากรและติดตามกระบวนการทำงานภายใต้การดูแลได้อย่างรวดเร็วและสามารถแก้ไขปัญหาหน้างานได้อย่างทันท่วงที เพราะฐานข้อมูลถูกเก็บไว้ใน เว็บเซิร์ฟเวอร์ (Web Server) สามารถเช็คข้อมูลได้จากแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟนผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้แม้ไม่ได้นั่งทำงานอยู่ในบริษัท ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานได้มากขึ้น โดยอนาคตทางทีมมีแผนของการพัฒนาและประยุกต์การใช้ซอฟต์แวร์เพื่อเป็นประโยชน์ให้กับกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมการผลิตลำไยอบแห้ง อุตสาหกรรมอาหารและผลไม้กระป๋อง เป็นต้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น