ชม. เสวนาวิชาการ วันอนุรักษ์มรดกไทย

จังหวัดเชียงใหม่ จัด เสวนาทางวิชาการ เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย พ.ศ. 2560 เพื่อรณรงค์สร้างความเข้าใจความสำนึกรัก และหวงแหนในมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพิทักษ์รักษามรดกทางวัฒนธรรม ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติให้มากยิ่งขึ้น

เมื่อวันที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ นายปวิณ ชํานิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดพิธีกิจกรรมเสวนาทางวิชาการ เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ซึ่งวันอนุรักษ์มรดกไทย ถือเป็นวันสำคัญของผู้ที่ทำงานทางด้านศิลปวัฒนธรรม โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ. ศ. 2528 ประกาศให้ วันที่ 2 เมษายนของทุกปี รวมทั้งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี หรือ “วันอนุรักษ์มรดกไทย” ทั้งนี้ เพื่อรณรงค์สร้างความเข้าใจความสำนึกรัก และหวงแหนในมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพิทักษ์รักษามรดกทางวัฒนธรรม ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติให้มากยิ่งขึ้น จึงได้ดำเนินกิจกรรมในปีนี้ กำหนดพื้นที่เป้าหมายเป็นแหล่งมรดกวัฒนธรรมที่มีความโดดเด่นมากที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ คือ เวียงกุมกามเมืองมรดกที่ถือได้ว่าเป็นราชธานีแห่งแรกของอาณาจักรล้านนา

เวียงกุมกาม คือ แหล่งมรดกวัฒนธรรมที่เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของชาวเชียงใหม่ในฐานะพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าพัฒนาการทางสังคมและผู้คนของเชียงใหม่มาอย่างยาวนานกว่า 800 ปี โดยตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี ได้มีการดำเนินงานพัฒนาและบริหารจัดการพื้นที่เวียงกุมกามมาอย่างต่อเนื่อง ได้เริ่มต้นจากกระบวนการศึกษา ขุดค้น ของทางโบราณคดี การบูรณะเสริมความมั่นคงโบราณสถาน ตลอดจนการปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่

นอกจากนี้เวียงกุมกามยังเป็นแหล่งมรดกวัฒนธรรมที่สามารถสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจ โดยการจัดตั้งและบริหารจัดการทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ได้แก่ การจัดตั้งศูนย์บริการข้อมูลทางการท่องเที่ยว นิทรรศการถาวร ร้านค้าการบริการรถม้า – รถราง และมัคคุเทศก์อาสาในการนำชมโบราณสถาน ซึ่งการบริหารจัดการทางการท่องเที่ยว เกิดขึ้นจากความร่วมมือของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และกลุ่มประชาชนในพื้นที่ ส่งผลให้ในปัจจุบันเวียงกุมกามเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สามารถดำเนินการและให้บริการข้อมูลแก่นักท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ร่วมแสดงความคิดเห็น