สกุ๊ปหน้า1…พ่อเมืองเชียงใหม่ เตือนรับมือภัยแล้ง

ทาง นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ภัยแล้ง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ห้องประชุม 3 ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ประเมินสถานการณ์น้ำ และให้การช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน แก่ผู้ประสบปัญหาภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ รวมถึงการตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงภัย เฝ้าระวัง และกำหนดแนวทางป้องกันและแก้ไขไว้ล่วงหน้า ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการประเมินสถานการณ์น้ำจะจัดประชุมติดตามสถานการณ์ทุกสัปดาห์

นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ลักษณะอากาศในประเทศไทย ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2560 เป็นต้นมา ทั่วทุกภาคของประเทศจะมีฝนลดลงอย่างต่อเนื่อง และในเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายนจะ สภาพอากาศร้อนถึงร้อนจัด ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว ต่อเนื่องไป จนถึงปลายเดือนมิถุนายน 2560 แม้จะมีฝนเข้ามาบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นพายุลูกเห็บ และพายุฤดูร้อน ดังนั้น ในช่วงเวลา 3 เดือน นับจากนี้ไป จึงให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องย้ำเตือนประชาชนให้ใช้น้ำอย่างประหยัด และรู้คุณค่า เพราะเป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ่เกิดขึ้นได้อีก

“เป็นห่วงเกษตรกรที่กำลังปลูกข้าวนาปรัง รอบเดือนเมษายนนี้ ในพื้นที่ 4 อำเภอ คือ แม่วาง, ดอยเต่า, ฮอด, จอมทอง และดอยหล่อ เพราะเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่สำนักชลประทานที่ 1 กำหนดแผนบริการจัดการน้ำ สำหรับพื้นที่ปลูกลำไย และมะม่วงที่กำลังติดออกดอก และติดผล ซึ่งต้องการใช้น้ำมาก สัปดาห์ละ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ยังได้มีการปรับแผน ลดการจัดสรรน้ำบางส่วน ในรอบสัปดาห์ เพื่อขยายระยะเวลาจัดสรรน้ำให้ใช้ได้ถึงปลายเดือนมิถุนายน โดยจะมีการสำรองน้ำไว้ใช้ในภาวะวิกฤต ฝนมาล่าช้า อย่างน้อย 35 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงจะทำให้พื้นที่เชียงใหม่ไม่เดือดร้อนจากปัญหาขาดแคลนน้ำ”

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ มีข้อสั่งการให้นายอำเภอ ร่วมกับหน่วยงานกรมชลประทาน และเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ลงพื้นที่สำรวจ และเข้าไปเจรจากับผู้ใช้น้ำทำนาปรัง ซึ่งคาดว่าจะมีปัญหาขาดแคลนน้ำ เพราะเป็นช่วงเวลาที่ซ้ำซ้อนกับผู้ปลูกลำไย มะม่วง และลิ้นจี่ โดยให้มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาแย่งน้ำเกิดขึ้น จังหวัดจะพยายามจัดสรรให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้ประโยชน์อย่างเป็นธรรม ส่วนอำเภอที่เสี่ยงภัยแล้งและเตรียมประกาศพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง 10 อำเภอ ให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากสามารถใช้งบเชิงป้องกันได้ก็ให้ใช้ไปก่อน แต่หากมีผลกระทบรุนแรง ให้เสนอมายังจังหวัดเพื่อจะได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งต่อไป

ขณะเดียว สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ใช้ดาวเทียมวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ คาดว่าจะประสบปัญหารุนแรงในอำเภอพร้าว, แม่ริม และแม่อาย โดยเฉพาะที่อำเภอแม่อาย บางส่วนมีการทำนารอบ 2 และมีปัญหาเรื่องการใช้น้ำระหว่างเจ้าของสวนส้ม และเกษตรกร ที่อำเภอพร้าว มีพื้นที่ปลูกมะม่วงเพิ่มขึ้นมาก จึงให้มีการเฝ้าระวังการจัดสรรน้ำเพื่อการเพาะปลูกเป็นพิเศษ ในช่วง 3 เดือนนับจากนี้

นายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 1 เปิดเผยว่า เมื่อปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤตขาดแคลนน้ำรุนแรงที่สุดในรอบ 96 ปี ในปีนี้สถานการณ์อาจจะดีกว่าปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังประมาทไม่ได้ เพราะแนวโน้มเกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ เป็นไปได้สูง ปริมาณน้ำต้นทุนของจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีขณะนี้ 163 ล้านลูกบาศก์เมตร 50 ล้านลูกบาศก์เมตรกันไว้ใช้สำหรับอุปโภคบริโภคพื้นที่โครงการแม่แฝก/แม่งัด ซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูก 6.8 หมื่นไร่ อีก 78 ล้านลูกบาศก์เมตร มีแผนจะปล่อยลงแม่น้ำปิง ตามรอบเวรที่กำหนดเมื่อปีที่แล้ว ไม่ได้คำนวณไว้สำหรับการทำนาปรังรอบที่ 3 และที่เหลืออีก 35 ล้านลูกบาศก์เมตรจะสำรองไว้ใช้หากเกิดวิกฤตฝนมาล่าช้า ปริมาณน้ำที่ปล่อยในแต่ละสัปดาห์ 3–5 ล้าน ตามสถานการณ์และความต้องการใช้น้ำ

“เชียงใหม่จะวิกฤตมาก ในเดือนพฤษภาคม เนื่องจากลำไย มะม่วง และไม้ผล ออกดอก ออกผลผลิต จะให้น้ำสูงมาก ประเมินไว้ว่าจะใช้น้ำประมาณ 5 ล้าน ลบม./สัปดาห์ ถ้าหากมีการปลูกข้านาปรังรอบที่ 3 ช่วงเดือนเมษายนนี้ คาดว่าจะมีผลกระทบอย่างแน่นอน หากจำเป็นต้องปลูกจริงๆ อยากจะขอให้เกษตรกรเลื่อนเวลาออกไปจะได้ไม่กระทบกับปัญหาขาดแคลนน้ำของจังหวัดเชียงใหม่” ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น