คนไทยวัย 15 ปีมี “ไขมันในเลือดสูง” เสี่ยงป่วย-ตายพิการอย่างกะทันหัน

นายแพทย์ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล รองโฆษกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ปัญหาสุขภาพของประชาชนขณะนี้ มีแนวโน้มป่วยและเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังสูงขึ้นเรื่อยๆ ประมาณร้อยละ 90 มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน จากรายงานผลการสำรวจสุขภาพโดยการตรวจร่างกายในกลุ่มประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป

นายแพทย์ภัทรพล กล่าวต่อว่า ไขมันคอเลสเตอรอลมี 2 ชนิด ชนิดที่เป็นอันตรายและทำให้เกิดโรค คือ แอลดีแอล (Low Density Lipoprotein:LDL) ไขมันชนิดนี้มาจากเนื้อสัตว์ที่รับประทานเข้าไปมากเกินความต้องการร่างกายซึ่งจะไปเกาะและพอกที่ผนังภายในหลอดเลือดแดง ทำให้หลอดเลือดหนาและตีบแคบลงความยืดหยุ่นจะเสียไป ส่งผลให้เลือดดีที่สูบฉีดออกจากหัวใจไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆไม่สะดวก ทำให้อวัยวะขาดเลือดและเจ็บป่วยกะทันหัน เช่น หากเป็นเส้นเลือดไปเลี้ยงหัวใจตีบ จะเกิดอาการหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตาย หากเป็นเส้นเลือดไปเลี้ยงสมองตีบ สมองจะขาดเลือด เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต ต้องใช้เวลาพักฟื้นตัวนานมาก ระดับปกติไขมันแอลดีแอลในเลือดไม่ควรเกิน 130 มิลลิกรัม/เดซิลิตรส่วนไขมันที่มีผลดีกับสุขภาพคือเรียกว่าเอชดีแอล (High Density Lipoprotein :HDL) ยิ่งมีมากความเสี่ยงเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดจะลดลง

ด้าน แพทย์หญิงนภาพรรณ วิริยะอุตสาหกุล ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กล่าวว่า สำหรับการป้องกันปัญหาไขมันในเลือดสูง แนะนำให้ประชาชนโดยเฉพาะอายุ 35 ปีขึ้นไป ตรวจไขมันในเลือดทุก 1 ปี เพื่อคัดกรองความผิดปกติของตัวเอง ดื่มน้ำให้ได้วันละอย่างน้อย 6-8 แก้ว ควบคุมการรับประทานอาหาร โดยกินอาหารกลุ่มข้าวแป้งในปริมาณที่เหมาะสม เลือกกินข้าวกล้อง ธัญพืช เนื้อปลาเป็นหลัก เลือกใช้ไขมันดีในปริมาณที่เหมาะสมในการประกอบอาหาร เช่นนํ้ามันรำข้าว นํ้ามันถั่วเหลือง นํ้ามันคาโนล่า ลดการกินอาหารที่มีไข่มันอิ่มตัวสูง เลี่ยงอาหารที่มีไขมันทรานซ์ เช่นอาหารจานด่วน มันฝรั่งทอด ขนมขบเคี้ยว เพิ่มการรับประทานผักและผลไม้ ซึ่งมีใยอาหารทุกมื้อ เช่น คะน้า ฝรั่ง ส้ม เป็นต้น เพื่อให้ร่างกายได้รับใยอาหารตามธรรมชาติซึ่งจะช่วยในการกักนํ้าตาล และคอเลสเตอรอล รวมทั้งลดการกินอาหารหวาน มัน เค็ม ร่วมกับออกกำลังกายอย่างสมํ่าเสมอต่อเนื่องครั้งละ 20-30 นาที สัปดาห์ละอย่างน้อย 5 ครั้ง เช่น เดินเร็ว จ็อคกิ้ง เป็นต้น จะช่วยลดไขมันในเลือดและเพิ่มไขมันชนิดดีมากขึ้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น