ซูอคาเรียม ชวนชม ปลาปอด

โชว์ปลาดึกดำบรรพ์………นายนิพนธ์ วิชัยรัตน์ ผอ.สวนสัตว์เชียงใหม่, นาย นฤทัต เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้บริหารเชียงใหม่ ซู อควาเรียม นำปลาปอดจากแอฟริกาได้ชื่อว่าเป็นซาก ดึกดำบรรพ์มีชีวิตมาให้เด็กๆและนักท่องเที่ยวได้ชมแล้ววันนี้

สวนสัตว์เชียงใหม่ และซูอควาเรียม นำปลาปอดจากแอฟริกาโชว์ต้อนรับสงกรานต์ ปลาปอดได้ชื่อว่าเป็นซากดึกดำบรรพ์มีชีวิต โชว์นักท่องเที่ยว พร้อมเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมและศึกษาเกี่ยวกับปลาชนิดนี้แล้ว

วันนี้ 7 เมษายน 2560 เวลา 14.30 น. ที่ สวนสัตว์เชียงใหม่ นายนิพนธ์ วิชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ และนายนฤทัต เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้บริหารเชียงใหม่ ซูอควาเรียม ร่วมกันนำปลาปอดจากแอฟริกา (west africa Lungfish) ที่ได้ชื่อว่าเป็นซากดึกดำบรรพ์มีชีวิต จำนวน 1 ตัว มาให้เด็กๆและนักท่องเที่ยวได้ชมแล้ววันนี้ ซึ่งปลาปอด (อังกฤษ: Lungfish, Salamanderfish, Amphibious fish) เป็นปลาน้ำจืดจำพวกหนึ่งที่อยู่ในชั้นย่อย Dipnoi เป็นปลาเพียงจำพวกเดียวในโลกที่ยังมีการสืบสายพันธุ์จนปัจจุบันนี้ที่หายใจด้วยอวัยวะที่คล้ายกับปอดของสัตว์ทั่วไป โดยไม่ใช้เหงือกเหมือนปลาชนิดอื่นๆ

ทั้งนี้ ปลาปอดได้ชื่อว่าเป็นซากดึกดำบรรพ์มีชีวิต เพราะเป็นปลาที่ไม่ได้เปลี่ยนรูปร่างมากนักจากยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยปลาปอดจัดอยู่ในชั้นใหญ่ Sarcopterygii ซึ่งจะมีลักษณะเด่น คือ มีพู่เนื้อหรือเนื้อเยื่อเป็นครีบ มีครีบหางเดี่ยว มีครีบ 2 คู่ มีเกล็ดแบบ Cosmoid ซึ่งแตกต่างไปจากปลาชนิดอื่นๆ ในโลก ซึ่งปลาในกลุ่มนี้จะแยกออกได้เป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ 1. ปลาซีลาแคนท์ 2. ปลาปอดแอฟริกาและปลาปอดอเมริกาใต้ 3. ปลาปอดออสเตรเลีย

ปลาปอดทั้งหมดมีรูปร่างเรียวยาวคล้ายปลาไหล ยกเว้นปลาปอดออสเตรเลีย ซึ่งแยกย่อยไปอีกกลุ่ม ถือเป็นหลักฐานและร่องรอยของการวิวัฒนาการของปลาที่พัฒนามาเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ปลาปอดนั้นมีกระดูกครีบอกคู่ที่เทียบได้กับแขนขาของสัตว์ชั้นสูง มีแกนยาวและมีกล้ามเนื้อประกอบชัดเจน เมื่ออยู่ในน้ำหรือบนบกที่ชื้นแฉะจะใช้คืบคลานคล้ายสัตวครึ่งบกครึ่งน้ำ หางมีลักษณะเป็น Diphycercal เกล็ดเป็น Cosmoid ภายในลำไส้มีแผงเนื้อที่วางตัวเป็นเกลียวตามความยาวลำไส้ ชื่อของปลาปอดมีที่มาจากปลาชนิดนี้มีกระเพาะลมหนามาก อยู่ใกล้สันท้อง (เทียบได้กับหน้าอก) และมีท่อเชื่อมกับส่วนล่างทางด้านหน้าของกระเพาะอาหาร ทำหน้าที่เป็นปอดคอยดูดซับออกซิเจนและกำจัดขยะ ในขณะที่ปลาทั่วไปในส่วนนี้จะทำหน้าที่ช่วยพยุงตัวในขณะที่ปลาว่ายน้ำ กินอาหารได้หลากหลาย กินได้ทั้งพืชและสัตว์น้ำและสามารถขบกัดสัตว์มีกระดองได้เป็นอย่างดี เพราะมีกรามและฟันที่แข็งแรง

นอกจากนี้ปลาปอดยังมีระบบจมูกที่แตกต่างจากปลาทั่วไป คือมีท่อเชื่อมกับช่องปาก ในปลาปอดยุคใหม่ (ปลาปอดแอฟริกา และ อเมริกาใต้) สามารถมีชีวิตอยู่ได้ แม้ในช่วงที่แหล่งน้ำที่มันอาศัยแห้งขอด โดยจะขุดโพรงในโคลนและปิดผนึกโพรงนั้นไว้ด้วยเมือก ในระหว่างนั้นจะหายใจเอาอากาศโดยตรงผ่านทางถุงลมและจะลดการเผาผลาญพลังงาน อย่างรวดเร็ว แต่ถึงกระนั้นปลาปอดก็สามารถจมน้ำตายได้หากไม่สามารถขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำได้

ปลาปอดนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 วงศ์ใหญ่ๆ คือ ปลาปอดยุคเก่า คือ ปลาปอดออสเตรเลีย (Ceratodontidae) ซึ่งพบเฉพาะประเทศออสเตรเลียบริเวณรัฐควีนส์แลนด์เท่านั้น และปลาปอดยุคใหม่ ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 วงศ์อีก คือ ปลาปอดแอฟริกา (Protopteridae) ซึ่งมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 7 ชนิด 1 สกุล พบในหนองน้ำทวีปแอฟริกาเท่า นั้น และปลาปอดอเมริกาใต้ (Lepidosirenidae) พบทั้งหมด 1 สกุลและ 1 ชนิด เท่านั้น โดยทั้งหมดจะมีพฤติกรรมที่คล้ายกันคือ สามารถกินได้ทั้งพืชและสัตว์ บางวงศ์สามารถขุดรูจำศีลใต้ดินได้ในฤดูแล้ง และอาศัยอยู่ในหนองน้ำหรือแหล่งน้ำที่ไม่ค่อยสะอาดหรือมีปริมาณออกซิเจนมากนัก

ร่วมแสดงความคิดเห็น