พระเสตังคมณี (พระแก้วขาว)

ทุกปีเมื่อถึงวันแรม 13 ค่ำเดือน 6 เหนือ ไปจนถึงวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 7 เหนือ จะมีประเพณีนมัสการและสรงน้ำพระเสตังคมณี หรือ พระแก้วขาว พระพุทธรูปเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดเชียงมั่น

พระแก้วขาว หรือ พระเสตังคมณี เป็นพระพุทธรูปสำคัญประจำจังหวัดเชียงใหม่เช่นเดียวกับพระสิงห์ ที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระสิงห์ ในทุกปีเมื่อถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือ ประเพณีปี๋ใหม่เมือง ทางวัดจึงได้อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญทั้งสององค์ออกมาให้ชาวเมืองได้สรงน้ำ โดยเฉพาะพระแก้วขาวได้ชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปที่นับถือกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ สามารถคุ้มครองป้องกันอันตรายและอำนวยความสุขสวัสดิ์มงคลแก่ผู้ที่เคารพศรัทธา องค์พระแก้วขาวนั้นในอดีตกาลเป็นพระพุทธรูปสำหรับบูชาประจำพระองค์ของพระนางจามเทวีปฐมกษัตริย์ผู้ครองนครหริภุญไชยและพระเจ้าเม็งรายมหาราช ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์มังรายผู้สถาปนาอาณาจักรล้านนา

พระพุทธรูปองค์นี้ ในตำนานได้กล่าวถึงการสร้างไว้ว่า เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จปรินิพพานล่วงแล้วได้ 700 ปี ในวันเพ็ญเดือน 7 พระสุเทวฤาษีได้เอาดอกจำปา 5 ดอกขึ้นไปบูชาพระจุฬามณียังดาวดึงษ์สวรรค์ ได้พบปะสนทนากับพระอินทร์ จึงบอกว่า ปีนี้ในเดือนวิสาขะเพ็ญที่ลวะรัฏฐะจะสร้างพระพุทธปฏิมากรด้วยแก้วขาว ครั้นสุเทวฤาษีกลับจากดาวดึงษ์เทวโลกแล้ว จึงไปสู่เมืองละโว้ขณะนั้นพระยารามราช เจ้าเมืองละโว้กับพระกัสสปเถระเจ้าปรารภการที่จะสร้างพระแก้ว ซึ่งพระอรหันต์ไปได้แก้วขาวบริสุทธิ์บุษยรัตน์มาจากจันเทวบุตรแล้วขอพระวิศนุกรรมมาเนรมิต สำเร็จรูปเป็นองค์พระปฏิมากร เมื่อสร้างเสร็จแล้วจึงได้อัญเชิญพระแก้วขาวประดิษฐานอยู่ที่เมืองละโว้สืบมาเป็นเวลาเนิ่นนาน จนมาถึงสมัยเมื่อพระฤาษีสร้างนครหริภุญชัยขึ้นแล้ว ใช้ให้ควิยะอำมาตย์ไปเชิญพระนางจามเทวีซึ่งเป็นพระราชธิดาของพระเจ้ากรุงละโว้มาครองเมืองหริภุญชัย พระนางจึงขออนุญาตจากพระราชบิดานิมนต์พระภิกษุสงฆ์สามเณรและพระแก้วขาว (พระเสตังคมณี) มาเป็นพระพุทธรูปบูชาประจำพระองค์ พระแก้วขาวจึงได้ประดิษฐานอยู่ที่นครหริภุญชัยแต่นั้นมาเป็นเวลาหลายร้อยปี

พระแก้วขาวประดิษฐานอยู่ที่นครหริภุญชัยตลอดมาจนกระทั่งถึงรัชสมัยของพระยายีบาเป็นกษัตริย์ครองเมือง ในครั้งนั้นพระเจ้าเม็งรายซึ่งเป็นเจ้าครองนครเงินยวง (เชียงแสน) ได้ยกทัพไปปราบเมืองเล็กเมืองน้อยต่าง ๆ จนหมดสิ้น แต่นครหริภุญชัยในสมัยนั้นมีกำลังเข้มแข็งมาก พระองค์จึงได้ให้ขุนฟ้าอ้ายราชวัลลภ คนสนิทปลอมตัวเป็นไส้ศึกไปทำการจารกรรมนานถึง 7 ปี ขุนอ้ายฟ้าเห็นโอกาสแล้วจึงส่งข่าวไปให้พระเจ้าเม็งรายให้ยกกองทัพมาตีเมืองหริภุญชัย เมื่อพระเจ้าเม็งรายยกกองทัพมาตีเมืองหริภุญไชยปรากฏว่าชาวเมืองไม่ยอมทิ้งเมืองทำการต่อสู้อย่างเข้มแข็งดุเดือด กองทัพพระเจ้าเม็งรายจึงต้องใช้ธนูเพลิงยิงเข้าไปทำให้เกิดไฟไหม้ทั้งเมือง ในที่สุดก็พ่ายแพ้แก่กองทัพพระเจ้าเม็งราย เมื่อยกพลเข้าเมืองได้แล้ว พระเจ้าเม็งรายจึงเสด็จออกตรวจดูความเสียหาย สิ่งที่ทำให้พระองค์ทรงประหลาดพระทัยที่สุดคือ หอพระซึ่งอยู่ในบริเวณพระราชวังของพระยายีบาหาได้ถูกเพลิงไหม้ไม่ แต่บริเวณรอบ ๆ นั้นถูกเพลิงเผาผลาญพินาศหมด พระองค์จึงเข้าไปทอดพระเนตรดู เห็นพระแก้วขาวสถิตอยู่ที่นั้น ก็เกิดมีพระราชศรัทธาเป็นอันมากจึงได้อัญเชิญองค์พระแก้วขาวมาประดิษฐานไว้ ณ ที่ประทับของพระองค์

ต่อมาเมื่อพระองค์ทรงได้สร้างเมืองเชียงใหม่เป็นราชธานีขึ้นในปีพ.ศ. 1839 ได้อัญเชิญพระแก้วขาวมาประดิษฐานในพระราชวัง และเมื่อพระองค์สวรรคตแล้ว พระแก้วขาวก็ประดิษฐานอยู่ในเมืองเชียงใหม่ตลอดมา พระแก้วขาว หรือ พระเสตังคมณี ได้ประดิษฐานอยู่ที่วัดเชียงมั่น เพื่อเป็นมิ่งขวัญของชาวเชียงใหม่ เป็นปูชนียวัตถุชิ้นสำคัญยิ่งที่ได้รับมรดกมาจากบรรพบุรุษของเรา ทั้งยังเป็นหน่อเนื้อนาบุญของชาวเชียงใหม่อีกด้วย

ในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ลำดับที่ 10 แห่งราชวงศ์มังราย พระองค์ทรงเลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง พระองค์โปรดฯให้หมื่นด้ามพร้าคตสร้างหอพระแก้วมรกตและหอพระแก้วขาวขึ้นไว้ในพระอารามราชกุฏาคารวัดเจดีย์หลวง เมื่อปี พ.ศ. 2022 ในยุคนี้เองที่พระพุทธรูปสำคัญหลายองค์ได้มาประดิษฐานอยู่ในนครเชียงใหม่ เช่น พระแก้วมรกต พระพุทธสิหิงค์ พระเสตังคมณี พระศิลา

ปัจจุบัน พระเสตังคมณี (พระแก้วขาว) ประดิษฐาน ณ วัดเชียงมั่นซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ที่สุดของเชียงใหม่ ว่ากันว่าเป็นวัดแรกที่สร้างขึ้นหลังจากที่พระยาเม็งรายทรงสร้างเมืองเชียงใหม่แล้ว บริเวณที่ตั้งวัดเชียงมั่นในปัจจุบัน แต่เดิมเป็นพระราชวังหรือคุ้มหลวงที่ประทับของพระเจ้าเม็งรายมหาราช ก่อนที่พระองค์จะทรงสร้างเมืองเชียงใหม่นี้ พระองค์ได้ยกรี้พลโยธา เข้ามาตั้งเป็นปฐมที่บริเวณวัดนี้มาก่อน ในครั้งนั้นเรียกกันว่า “เวียงเหล็ก” หลังจากที่พระองค์ทรงสร้างเมืองเชียงใหม่แล้ว ได้ทรงสร้างบริเวณคุ้มหลวงเป็นอารามหลวงแห่งแรกและทรงสร้างพระเจดีย์ตรงที่ราชมณเฑียรหอประทับของพระองค์ แล้วทรงขนานนามวัดนี้ว่า “วัดเชียงมั่น” มาตราบจนปัจจุบัน

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น