ศธ.แจงแนวทางปฏิรูปการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ในภูมิภาค

ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ชี้แจงแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค

เมื่อวันที่ผ่านมา ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ประชุมชี้แจงการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ณ โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อทำความเข้าใจกับศึกษาธิการศึกษาธิการภาค รองศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา/มัธยมศึกษา ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน. ผู้อำนวยการ สช. จังหวัด เกี่ยวกับกรอบแนวทางโครงสร้างการดำเนินงานของสำนักงานศึกษาธิการภาค และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด

ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในกระทรวงศึกษาธิการตอนนี้ทำให้บุลากรรู้สึกรู้สึกกังวล จึงต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเห็นถึงความจำเป็นของการเปลี่ยนแปลง ให้บุคลากรในกระทรวงและหน่วยงานเข้าใจถึงการมี ศธภ.และศธจ.และสาธารณชนเห็นประโยชน์ที่เกิดกับผู้เรียน

สำหรับคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ นั้น คำสั่งดังกล่าวเป็นการรวมคำสั่งหัวหน้า คสช. 4 ฉบับก่อนหน้านี้ให้เหลือเพียงฉบับเดียว แล้วเพิ่มเติมบางประเด็นเพื่อให้การดำเนินการปฏิรูปการศึกษามีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยประเด็นที่มีการปรับเปลี่ยน คือ การปรับองค์ประกอบของคณะกรรมการขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาของ กระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค(คปภ.) โดยเพิ่มประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ และให้อำนาจ คปภ. ในการโอนกิจการ ทรัพย์สิน หนี้สิน และงบประมาณ รวมถึงเกลี่ยบุคลากร เพื่อให้สามารถตั้งสำนักงานศึกษาธิการภาค (ศธภ.) และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.)ได้ รวมถึงมีการปรับสัดส่วนคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด(กศจ.)จาก 22 คน เหลือ 15 คนด้วย โดยให้มีผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 6 คน อย่างน้อย 3 คนต้องเป็นผู้แทนภาคเอกชน ผู้แทนองค์กรวิชาชีพ และผู้แทนภาคประชาชน

ส่วนอำนาจหน้าที่ของ ศธจ.นั้น จะทำหน้าที่เป็นผู้แทนของกระทรวงศึกษาธิการในระดับจังหวัด ที่ดูแลงานทุกด้าน โดยเฉพาะการบริหารงานบุคคลทั้งครูและผู้บริหารสถานศึกษา ที่ต่อไป ศธจ.จะมีอำนาจลงนามตามมติ กศจ.ที่เสนอโดย ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) เพราะฉะนั้น ศธจ.จะไม่มีอำนาจในการสั่งย้ายใคร

ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดกรอบอัตรากำลังผู้ปฏิบัติงานในสำนักงาน ศธจ.และให้เกลี่ยอัตรากำลังจาก 225 สพท.ทั่วประเทศไปให้ ศธจ. โดยจังหวัดขนาดใหญ่พิเศษ 77 อัตรา แบ่งเป็นบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค.(2) 53 อัตรา ศึกษานิเทศก์ (ศน.) 22 อัตรา จังหวัดขนาดใหญ่ 72 อัตรา เป็นบุคลากรทางการศึกษาอื่นฯ 50 อัตรา ศน.22 อัตรา จังหวัดขนาดกลาง 67 อัตรา เป็นบุคลากรทางการศึกษาอื่นฯ 47 อัตรา ศน.20 อัตรา และจังหวัดขนาดเล็ก 60 อัตรา แบ่งเป็นบุคลากรทางการศึกษาอื่นฯ 42 อัตรา ศน.18 อัตรา การเกลี่ยอัตรากำลังให้เป็นไปด้วยความสมัครใจ และต้องไม่กระทบกับการทำงานของ สพท.

ส่วนหลักเกณฑ์การสรรหาผู้ดำรงตำแหน่ง ศธจ.และรอง ศธจ. วิธีการสรรหาจะเหมือนกับการสรรหา ผอ.สพท. โดยคาดว่าจะได้ตัวจริงทั้งหมดในราวต้นเดือนพฤษภาคมนี้ โดยให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ กศจ.,อกศจ.,ศธภ.และ ศธจ.ในปัจจุบันปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง

ร่วมแสดงความคิดเห็น